สรุปสถานการณ์ภัยหนาว ภัยแล้ง และเหตุการณ์การปะทะกันตามแนวชายแดนด้านจังหวัดศรีสะเกษ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 16, 2011 15:39 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อมูลสรุปสถานการณ์ภัยหนาว และการให้ความช่วยเหลือ (ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 - 14 กุมภาพันธ์ 2554) ของกระทรวงมหาดไทย สรุปได้ดังนี้

สรุปสถานการณ์ภัยหนาว และการให้ความช่วยเหลือ (ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 - 14 กุมภาพันธ์ 2554)

1. การคาดหมายลักษณะอากาศ (ระหว่างวันที่ 14 - 20 กุมภาพันธ์ 2554)

1.1 กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศว่า ในช่วงวันที่ 14 - 15 กุมภาพันธ์ 2554 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทย และทะเลจีนใต้ ทำให้มีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงเกิดขึ้น ส่วนมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น และอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร และในช่วงวันที่ 16 - 20 กุมภาพันธ์ 2554 บริเวณความกดอากาศสูงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ทำให้ทุกภาคมีอากาศอุ่นขึ้นกับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ ประกอบกับมีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดเข้าปกคลุมภาคกลางและภาคตะวันออก ทำให้มีฝนตกเป็นแห่ง ๆ ถึงกระจาย

1.2 กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แจ้งเตือนในช่วงระหว่างวันที่ 11 - 15 กุมภาพันธ์ 2554 ให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 3,5,6,7,8,9,10,13,14,15,17 และจังหวัดในพื้นที่ เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเกิดจากลมกระโชกแรง และสภาวะอากาศหนาว และจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ไว้ให้พร้อม เพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันต่อเหตุการณ์

2. การเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยหนาวของกระทรวงมหาดไทย

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยหนาว ปี พ.ศ. 2553 - 2554 ของจังหวัดขึ้น ณ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งในเขตพื้นที่ พร้อมทั้งแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รับผิดชอบประจำศูนย์ฯ เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานในการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสภาวะอากาศหนาวเย็นที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทย ได้จัดตั้งศูนย์รับบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และที่จังหวัดทุกจังหวัดด้วย

3. สถานการณ์ภัยหนาว (ระหว่างวันที่ 1 พ.ย. 2553 - 14 ก.พ. 2554)

ในขณะนี้ได้รับรายงานจังหวัดที่ได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยหนาว) เนื่องจาก มีสภาพอากาศหนาว (อุณหภูมิ 8.0 - 15.9 องศาเซลเซียส) ถึงหนาวจัด (อุณหภูมิต่ำกว่า 8.0 องศาเซลเซียส) จำนวน 39 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ ตาก น่าน แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน สุโขทัย อุตรดิตถ์ อุทัยธานี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บุรีรัมย์ มุกดาหาร มหาสารคาม ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สุรินทร์ สกลนคร หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ราชบุรี และจังหวัดชัยนาท รวม 522 อำเภอ 4,178 ตำบล 51,708 หมู่บ้าน

4. การให้ความช่วยเหลือ

4.1 จังหวัดมีเงินทดรองราชการตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 ในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดสำหรับจัดซื้อผ้าห่มและเครื่องกันหนาวที่จำเป็นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัย เมื่ออุณหภูมิอยู่ในเกณฑ์อากาศหนาว (8.0 - 15.9 องศาเซลเซียส) ถึงหนาวจัด (ต่ำกว่า 8.0 องศาเซลเซียส) ในวงเงินจังหวัดหนึ่งไม่เกินงบประมาณปีละ 1,000,000 บาท แต่ทั้งนี้หากเงินฉุกเฉินดังกล่าวไม่เพียงพอ จังหวัดสามารถแจ้งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอยกเว้นหลักเกณฑ์ เพื่อขอขยายวงเงินทดรองราชการได้อีกตามความเหมาะสมและจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาท ซึ่งมีจังหวัดได้ขอขยายวงเงินและได้รับการอนุมัติ จากกรมบัญชีกลางแล้ว จำนวน 3 ครั้ง รวม 26จังหวัด เป็นเงินรวม 771,269,310 บาท

4.2 กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลาง ได้อนุมัติขยายวงเงิน/ยกเว้นหลักเกณฑ์ ดังนี้

1) ครั้งที่ 1 อนุมัติให้ 16 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย ลำพูน อุดรธานี แม่ฮ่องสอน สกลนคร แพร่ เชียงใหม่ หนองคาย สุรินทร์ กาฬสินธุ์ มุกดาหาร เลย อุบลราชธานี บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และจังหวัดพะเยา ที่ขอยกเว้นการปฏิบัตินอกเหนือหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 ข้อ 5.1.18 โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถใช้จ่ายเงิน ทดรองราชการในอำนาจ (งบ 50 ล้านบาท) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อเครื่องกันหนาวสงเคราะห์ราษฎรในพื้นที่ที่ได้ประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยหนาว) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ได้เท่าที่จ่ายจริงผืนละไม่เกิน 180 บาท อนุมัติขยายวงเงินรวม 481,740,120 บาท

2) ครั้งที่ 2 อนุมัติให้ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ ตาก มหาสารคาม และจังหวัดนครราชสีมา อนุมัติขยายวงเงินรวม 181,835,940 บาท

3) ครั้งที่ 3 อนุมัติให้ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุตรดิตถ์ นครพนม อำนาจเจริญ และจังหวัดร้อยเอ็ด อนุมัติขยายวงเงินรวม 107,693,250 บาท

4.3 จังหวัดที่ได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยหนาว) ทั้ง 39 จังหวัด รายงานว่าได้มอบเครื่องกันหนาวให้แก่ประชาชนที่ขาดแคลนในพื้นที่ โดยได้รับการสนับสนุนผ้าห่มกันหนาวจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เครือเจริญโภคภัณฑ์ สมาคม มูลนิธิ ไปแล้ว รวม 675,335 ชิ้น

4.4 บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้ให้การสนับสนุนผ้าห่มกันหนาว จำนวน 200,000 ผืน เพื่อแจกจ่ายช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาวในพื้นที่ 15 จังหวัด

4.5 หอการค้าไทย-จีน และสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย ได้มอบผ้าห่มช่วยเหลือภัยหนาว จำนวน 2,000 ผืน ผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2553

โดยกระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นหน่วยงานกลางในการนำผ้าห่มกันหนาวไปแจกจ่ายแก่ผู้ประสบภัยหนาวในพื้นที่ต่าง ๆ

4.6 บริษัท ซีพี จำกัด (มหาชน) (เครือเจริญโภคภัณฑ์) ได้ให้การสนับสนุนผ้าห่มกันหนาว จำนวน 50,000 ผืน มูลค่า 12.5 ล้านบาท ซึ่งจัดซื้อจากกลุ่มแม่บ้านผู้ผลิตผ้าห่มนวม จังหวัดสกลนครตามนโยบายส่งเสริมอาชีพและช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้นของกระทรวงมหาดไทย และได้มอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล) เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2553 เพื่อแจกจ่ายช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว ในพื้นที่ 10 จังหวัด

4.7 การช่วยเหลือประชาชนของกองทัพไทย

  • นพค. 24 ร่วมกับ สมาคมสโมสรวัฒนธรรมหญิงในพระบรมราชินูปถัมภ์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ นำผ้าห่มและเครื่องนุ่งห่มกันหนาวไปมอบให้กับประชาชนผู้ประสบภัยหนาว ที่จังหวัดมุกดาหาร จำนวน 250 ชุด และจังหวัดหนองคาย จำนวน 50 ผืน

5. สิ่งของพระราชทานช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว

5.1 สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย ได้นำชุดธารน้ำใจพระราชทาน ช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาวในพื้นที่จังหวัดตาก จำนวน 800 ชุด

5.2 กองงานพระวรชายาฯ ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงโปรดให้ผู้แทนพระองค์ เดินทางไปมอบถุงพระราชทานแก่ราษฎรที่ประสบภัยหนาวในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน พะเยา เพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสอน ลำพูน แพร่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น นครพนม บุรีรัมย์ เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย อุดรธานี และจังหวัดอุบลราชธานี รวมจำนวน 23,800 ถุง นมอัดเม็ดจิตรลดา 1,050 กล่อง และนมสดจิตรลดา 1,050 กล่อง

สรุปสถานการณ์ภัยแล้ง และการให้ความช่วยเหลือ (ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 - 14 กุมภาพันธ์ 2554)

1. พื้นที่ประสบภัย 13 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร เชียงราย ลำพูน พะเยา อุดรธานี เลย หนองคาย ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สระบุรี ฉะเชิงเทรา ตราด และจังหวัดจันทบุรี รวม 98 อำเภอ 642 ตำบล 4,850 หมู่บ้าน

2. ความเสียหาย

  • ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 1,181,265 คน 308,254 ครัวเรือน
  • พื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะเสียหาย 460,067 ไร่

สรุปเหตุการณ์การปะทะกันตามแนวชายแดนด้านจังหวัดศรีสะเกษ

1. ตามที่ได้เกิดเหตุการปะทะกันตามแนวชายแดนด้าน จ.ศรีสะเกษ บริเวณภูมะเขือ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554 ต่อเนื่องถึงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2554 และมีกระสุนปืนใหญ่ตกที่บ้านภูมิซรอล หมู่ที่ 2,3,9,10,12,13 ต.เสาธงชัย และบริเวณ หมู่ 5,7,10 ต.รุง อ.กันทรลักษ์ โดยมีผู้เสียชีวิต 3 ราย (ราษฎร 1 ราย ทหาร 2 ราย) บาดเจ็บ 36 คน (ราษฎร 4 คน ทหาร 32 นาย) บ้านเรือนราษฎรเสียหายรวม 37 หลัง (เสียหายทั้งหลัง 7 หลัง เสียหายบางส่วน 30 หลัง) อาคารเรียนโรงเรียนภูมิซรอลวิทยา เสียหายบางส่วน 2 หลัง, อาคารที่ทำการ อบต.เสาธงชัย หลังคาเสียหายบางส่วน, วัดธุดงค์คสถานวิหารเพชร หมู่ที่ 12 ต. เสาธงชัย กุฏิเสียหายรวม 2 หลัง, สวนยางพาราเสียหายประมาณ 50 ไร่ ทั้งนี้ จังหวัดศรีสะเกษได้อพยพราษฎร รวม 15,638 คน พระภิกษุ 8 รูป ไป ณ จุดรองรับการอพยพ 36 จุด ในพื้นที่ อ.กันทรลักษ์ ศรีรัตนะ ไพรบึง เมืองศรีสะเกษ กันทรารมย์ ขุนหาญ ขุขันธ์ พยุห์ และเบญจลักษ์ (ข้อมูล ณ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2554)

             ที่    อำเภอ           จุดอพยพ     จำนวนผู้อพยพ
             1    เมืองศรีสะเกษ          2             61
             2    กันทรลักษ์             18          8,893
             3    เบญจลักษ์              8          4,176
             4    ขุนหาญ                3            585
             5    ศรีรัตนะ               1            395
             6    โนนคูณ                1          1,105
             7    ไพรบึง                1             20
             8    ขุขันธ์                 1            111
             9    พยุห์                  1             95
             รวม 9 อำเภอ              36         15,441

ปัจจุบันจังหวัดศรีสะเกษได้ปิดจุดรองรับผู้อพยพทุกจุด และได้จัดรถยนต์ จำนวน 104 คัน จัดส่งราษฎรเดินทางกลับไปยังที่พักอาศัยของตัวเองแล้ว ตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2554

2. การให้ความช่วยเหลือ

2.1 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้มอบหมาย รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(นายประทีป กีรติเรขา) ผู้ตรวจราชการกรม (ว่าที่ พ.ต. ธีระ สันติเมธี) และเจ้าหน้าที่ศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย ไปปฏิบัติการส่วนหน้า และสนับสนุนการปฏิบัติการช่วยเหลือจังหวัดศรีสะเกษ และสั่งการให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตพื้นที่ใกล้เคียง จากศูนย์ ปภ. เขต 3 ปราจีนบุรี ศูนย์ ปภ. เขต 5 นครราชสีมา ศูนย์ ปภ.เขต 7 สกลนคร และ ศูนย์ ปภ.เขต 13 อุบลราชธานี สนับสนุนช่วยเหลือผู้อพยพ ดังนี้

                 - รถยนต์ผลิตน้ำดื่ม 4 คัน              - รถบรรทุกน้ำขนาด 6,000 ลิตร 5 คัน
                 - ถังน้ำ 2,000 ลิตร 10 ใบ           - รถไฟฟ้าส่องสว่าง 2 คัน
                 - รถบรรทุก 6 ล้อ 2 คัน              - รถบรรทุกเล็ก 4 คัน รถตู้ 2 คัน
  • เต้นท์สนาม ขนาด 5 คน 600 หลัง - ถุงยังชีพ 2,000 ชุด
  • เจ้าหน้าที่ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤติ (ERT) จำนวน 30 นาย โดยขึ้นการบังคับบัญชากับผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ สนับสนุนการปฏิบัติการ ณ จุดรองรับการอพยพผู้ประสบภัย ณ ที่ว่าการ อ.กันทรลักษ์ และโรงเรียนบ้านท่าสว่าง ต.โนนสำราญ ระหว่างวันที่ 5 - 12 กุมภาพันธ์ 2554

2.2 จังหวัดศรีสะเกษได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติในพื้นที่หมู่ที่ 2,3,9,10,12,13 ต.เสาธงชัย และหมู่ที่ 5,7,10 ต.รุง อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554 เป็นต้นมา พร้อมจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัย จ.ศรีสะเกษขึ้น ณ ที่ว่าการ อ.กันทรลักษ์ และจัดตั้งศูนย์รับบริจาคเงินและสิ่งของเพื่อให้ความช่วยเหลือฯ จากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน องค์กรการกุศล และมูลนิธิต่างๆ ณ ศาลากลางจังหวัด และที่ว่าการอำเภอทุกอำเภอ

2.3 จังหวัดศรีสะเกษได้ให้ความช่วยเหลือ โดยสำนักงาน ปภ.จ. มอบผ้าห่มกันหนาวแก่ผู้อพยพในเบื้องต้น 6,970 ผืน จังหวัดได้มอบหมายให้อำเภอ ร่วมกับ อบต.ในพื้นที่ ตั้งจุดประกอบอาหารเลี้ยงผู้อพยพ 38 จุด การประปาส่วนภูมิภาคตั้งจุดให้บริการน้ำบริโภคและอุปโภค 2 จุด และสนับสนุนเครื่องกรองน้ำประปาดื่ม 2 แท่น, เทศบาลเมืองกันทรลักษ์ และ อปท.ในพื้นที่ สนับสนุนข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่ม, สนง.เหล่ากาชาด จ.ศรีสะเกษ มอบเงินช่วยเหลือครอบครัวผู้ประสบภัย 17 ครอบครัวๆ ละ 3,000 บาท และ สนง.กาชาดภาค (จังหวัดสุรินทร์) มอบอาหารกระป๋อง 2,000 กระป๋อง ชุดอนามัย 160 ชุด ผ้าห่ม 19 ผืน เสื้อ 40 ตัว,โรงพยาบาลอำเภอกันทรลักษ์ ได้จัดศูนย์ปฐมพยาบาลตลอด 24 ช.ม., ที่ทำการไปรษณีย์จังหวัดศรีสะเกษ ตั้งจุดบริการรับ-ส่งพัสดุ บริการ ณ จุดอพยพอำเภอกันทรลักษ์, จังหวัดจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจ อส., อปพร., ชรบ., ลาดตระเวนในหมู่บ้านเพื่อความมั่นใจ และดูแลความปลอดภัยในทรัพย์สินของราษฎรที่อพยพ รวมทั้งหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป ได้ร่วมกันบริจาคเงินและสิ่งของเป็นจำนวนมากช่วยเหลือผู้อพยพ

3. สถานการณ์ชายแดนด้านจังหวัดสุรินทร์ ได้รับรายงานเบื้องต้นว่า เมื่อกลางดึก วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2554 ราษฎรตามหมู่บ้านชายแดน ในพื้นที่อำเภอกาบเชิง ตื่นกลัวข่าวลือว่าจะมี การโจมตีจากทหารกัมพูชา จึงได้อพยพไปพื้นที่ปลอดภัย ดังนี้ อำเภอกาบเชิง ที่โรงเรียนบ้านคูตัน จำนวน 1,000 คน โรงเรียนบ้านโคกสะอาด และ วัดบ้านโคกสะอาด จำนวน 783 คน โรงเรียนบ้านกันตวจระมวล จำนวน 500 คน อำเภอพนมดงรัก ที่โรงเรียนพนมดงรักวิทยา ประมาณ 330 คน และ นิคมสร้างตนเอง อำเภอปราสาท จำนวน 42 คน อำเภอสังขะ ที่วัดบ้านจารย์ วัดบ้านโคกไซร์ และที่ทำการ อบต.บ้านจารย์ ตำบลบ้านจารย์ ประมาณ 2.200 คน ที่โรงเรียนบ้านสะกาด และที่ทำการ อบต.สะกาด ตำบลสะกาด ประมาณ 800 คน ผู้อพยพรวม จำนวน 5,655 คน ที่อำเภอบัวเชด ได้เตรียมจุดรองรับผู้อพยพ 2 จุด คือ โรงเรียนบัวเชดวิทยา และหอประชุมที่ว่าการอำเภอบัวเชด

ปัจจุบันจังหวัดสุรินทร์ได้ปิดจุดรองรับผู้อพยพทุกจุด และราษฎรได้เดินทางกลับไปยังที่พักอาศัยของตัวเองแล้ว

การให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น จังหวัดสุรินทร์ จัดกำลังเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบและช่วยเหลือราษฎรที่อพยพ ทั้งนี้ ศูนย์ ปภ. เขต 5 นครราชสีมา สนับสนุนรถบรรทุกน้ำ จำนวน 4 คัน ศูนย์ ปภ. เขต 6 ขอนแก่น สนับสนุน รถผลิตน้ำดื่ม จำนวน 1 คัน และศูนย์ ปภ. เขต 9 พิษณุโลก สนับสนุน รถผลิตน้ำดื่ม จำนวน 1 คัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มอบถุงยังชีพ จำนวน 2,500 ชุด

4. สถานการณ์ชายแดนด้านจังหวัดอุบลราชธานี จากสถานการณ์การปะทะตามแนวชายแดน ทำให้มีราษฎร ในพื้นที่อำเภอน้ำขุ่น และอำเภอน้ำยืน ได้อพยพไปยังจุดรองรับผู้อพยพ 6 จุด คือ โรงเรียนน้ำขุ่นวิทยา ประมาณ 1,700 คน ที่ว่าการอำเภอทุ่งศรีอุดม ประมาณ 200 คน อบต.กุดเรือ อำเภอทุ่งศรีอุดม ประมาณ 800 คน วัดบ้านกุดเรือ ตำบลกุดเรือ อำเภอทุ่งศรีอุดม ประมาณ 100 คน ศาลาประชาคมอำเภอเดชอุดม ประมาณ 50 คน ศาลากลางบ้าน และวัดในพื้นที่ ตำบลทุ่งเทิง ตำบลนากระแซง เทศบาลเมืองเดชอุดม ประมาณ 800 คน

ปัจจุบันจังหวัดอุบลราชธานีได้ปิดจุดรองรับผู้อพยพทุกจุด และราษฎรได้เดินทางกลับไปยังที่พักอาศัยของตัวเองแล้ว

5. สถานการณ์ชายแดนในจังหวัดอื่น ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ สระแก้ว จันทบุรี และจังหวัดตราด ไม่มีข้อมูลการปะทะ หรือการอพยพของราษฎรแต่อย่างใด

6. การตรวจเยี่ยมของผู้บังคับบัญชาระดับสูง

6.1 เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2554 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล) พร้อมคณะประกอบด้วย ปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อเตรียมความพร้อม ณ ที่ว่าการอำเภอกันทรลักษ์ และตรวจเยี่ยมผู้อพยพ พร้อมทั้งแจกสิ่งของแก่ผู้อพยพที่อำเภอกันทรลักษ์ และในวันเดียวกันนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายถาวร เสนเนียม) พร้อมด้วย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายองอาจ คล้ามไพบูลย์) ได้ร่วมประชุมติดตามสถานการณ์ กับผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ หัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ ผู้อพยพในพื้นที่อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ

6.2 เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล) พร้อมคณะประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ จังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดสระแก้ว ที่หอประชุมอำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ พร้อมตรวจเยี่ยมผู้อพยพ และแจกจ่ายสิ่งของแก่ผู้อพยพ จำนวน 2,500 ชุด ณ โรงเรียนกาบเชิงวิทยา

7. สิ่งของพระราชทานช่วยเหลือผู้ประสบภัย

7.1 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยพสกนิกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุปะทะ จึงได้พระราชทาน ถุงยังชีพ ได้แก่ เครื่องอุปโภค บริโภค หน่วยสงเคราะห์เคลื่อนที่นำเครื่องครัวและผ้าห่มกันหนาว ให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายดิสธร วัชโรทัย ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นผู้แทนพระองค์ มอบสิ่งของช่วยเหลือผู้อพยพ ที่อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ และที่ศูนย์อพยพโรงเรียนน้ำขุ่นวิทยา อำเภอหนองน้ำขุ่น จังหวัดอุบลราชธานี ได่แก่ ผ้าห่มกันหนาว 4,200 ผืน เครื่องครัว ได้แก่ หม้อหุงข้าวใหญ่ 1,360 ใบ จาน 3,280 ใบ ซ้อน 3,280 คัน กระทะใหญ่ 1,000 ใบ ขันน้ำ 1,000 ใบ ทัพพี 1,000 คัน คิดเป็นมูลค่า 680,056.29 บาท

7.2 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สภานายิกาสภากาชาดไทย ทรงห่วงใยในราษฎรที่ประสบความเดือดร้อนจากเหตุการณ์ปะทะกัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นายแผน วรรณเมธี เลขาธิการสภากาชาดไทย เป็นผู้แทนพระองค์ นำถุงธารน้ำใจพระราชทาน ไปมอบให้แก่ราษฎร ประสบความเดือดร้อน ณ โรงเรียนบ้านสิริขุนหาญ ตำบลสิ อำเภอขุนหาญ และที่ศูนย์พักพิง วัดป่าเบญจลักษ์ อำเภอเบญจลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 1,000 ชุด พร้อมนำรถประกอบอาหารขนาดใหญ่ สามารถผลิตข้าวกล่องได้วันละ 4,000 กล่อง ให้บริการผู้อพยพ ณ ที่ว่าการอำเภอกันทรลักษ์ และแจกจ่ายไปยังจุดอพยพใกล้เคียง

7.3 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ ร.อ.ไพบูลย์ สุขเจตนี รองผู้อำนวยการกองงานพระวรชายาฯ เป็นผู้แทนพระองค์ฯ เดินทางมามอบถุงพระราชทาน และเครื่องอุปโภคบริโภค เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับราษฎรที่อพยพจากเหตุการณ์ปะทะ จำนวน 600 ชุด ณ โรงเรียน ท่าสว่างวิทยาคม ตำบลโนนสำราญ อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ

7.4 ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี (นายสำเริง เอี่ยมสะอาด) พร้อมคณะตรวจเยี่ยมให้กำลังใจผู้อพยพ ณ ที่ว่าการอำเภอกันทรลักษ์ และมอบ ถุงยังชีพเบื้องต้น ประมาณ 50 ชุด

7.5 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ (นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ) และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ประธานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ทรงให้ผู้แทนพระองค์ จัดครัวเคลื่อนที่ช่วยเหลือผู้อพยพจากเหตุการณ์ปะทะ โดยประกอบอาหารเลี้ยง 500 ชุด/มื้อ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ