ผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) ครั้งที่ 1/2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 23, 2011 13:39 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศเสนอ ดังนี้

1. รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) ครั้งที่ 1/2554

2. เห็นชอบตามมติของ กบส. รวม 2 เรื่อง ดังนี้

2.1 การเตรียมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงฝั่งตะวันตกกับประเทศเพื่อนบ้าน

2.2 การศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับธุรกิจบริการจัดส่งด่วน (Express Delivery Service: EDS)

สาระสำคัญของเรื่อง

เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศรายงานว่า ในการประชุม กบส. ครั้งที่ 1/2554 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2554 โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นฝ่ายเลขานุการซึ่งการประชุมฯ ดังกล่าวได้พิจารณาเรื่องต่างๆ รวม 3 เรื่อง ดังนี้

1. รายงานโลจิสติกส์ของประเทศไทยประจำปี 2553

1.1 ฝ่ายเลขานุการฯ รายงานข้อมูลต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศไทย ปี 2552 และประมาณการ ปี 2553 ดังนี้

1.1.1 ภาพรวมต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศไทย ในปี 2552 มีมูลค่ารวมประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท โดยคิดเป็นสัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ณ ราคาประจำปี (GDP) เท่ากับร้อยละ 16.8 ของ GDP ลดลงจากร้อยละ 18.6 ของ GDP ในปี 2551

1.1.2 สาเหตุสำคัญที่ทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์ในปี 2552 ลดลง ได้แก่ (1) การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2552 หดตัว และ (2) การปรับตัวทางธุรกิจของผู้ประกอบการไทยเพื่อรับมือกับการชะลอตัวของอุปสงค์ในภาพรวม

1.1.3 แนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ในระยะต่อไป จึงคงต้องให้ความสำคัญกับประเด็นการพัฒนา ดังนี้ (1) เร่งพัฒนาขีดความสามารถของกำลังคนด้านโลจิสติกส์ไปสู่ความเป็นมืออาชีพ (2) สนับสนุนให้ภาคเอกชนเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการโลจิสติกส์ด้วยตนเอง (3) เร่งพัฒนาระบบอำนวยความสะดวกทางการค้าและสนับสนุนให้มีการใช้รูปแบบการขนส่งที่ประหยัดพลังงานทั้งระบบรางและระบบน้ำ และ (4) เร่งเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการไทยทั้งภาคการผลิต การค้า และบริการให้มีความพร้อมที่จะออกไปสู่ตลาดในระดับภูมิภาค

1.1.4 ในปี 2553 คาดว่าจะมีต้นทุนโลจิสติกส์ต่อ GDP ประมาณร้อยละ 17.9 ต่อ GDP เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ซึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย รวมทั้งราคาน้ำมันมีการปรับตัวสูงขึ้น

1.2 กบส. มีมติรับทราบ

2. การเตรียมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงฝั่งตะวันตกกับประเทศเพื่อนบ้าน

2.1 ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอว่า สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี (29 มิถุนายน 2553) เห็นชอบแนวทางสนับสนุนการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวายของสหภาพพม่า ซึ่งมีศักยภาพในการพัฒนาทั้งในด้านกายภาพและพื้นที่หลังท่าที่สามารถ รองรับการขยายฐานอุตสาหกรรมของไทยในระยะยาวและมีศักยภาพที่จะเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งในระดับภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

2.1.1 ความก้าวหน้าโครงการ :

ภาคเอกชนได้ลงนามใน Framework Agreement กับ Myanmar Port Authority กระทรวงคมนาคมของสหภาพพม่าเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2553 เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย นิคมอุตสาหกรรมในรูปแบบพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zones) ระบบถนนและระบบรางเชื่อมโยงกับประเทศไทย รวมทั้งพื้นที่อยู่อาศัยและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้อง ภายใต้การดำเนินงานแบบ BOT (Build — Operate - Transfer) ระยะเวลาสัมปทาน 60 ปี

2.1.2 ข้อเสนอแนะการดำเนินงาน :

(1) ระยะเร่งด่วน ได้แก่ การเตรียมความพร้อมด่านศุลกากรที่บ้านน้ำพุร้อน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเร่งจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวก ณ จุดผ่านแดน และการเร่งหาข้อยุติในประเด็นเส้นเขตแดนระหว่างประเทศไทยและสหภาพพม่า

(2) ระยะปานกลางถึงระยะยาว ประกอบด้วย ระบบโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงชายแดนกาญจนบุรี (ถนน รถไฟ สายส่งไฟฟ้า ท่อก๊าซและท่อน้ำมัน) และสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า รวมทั้งการเตรียมการพื้นที่เศรษฐกิจบริเวณชายแดนและจังหวัดกาญจนบุรีเพื่อสร้างความเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ทวายกับพื้นที่อุตสาหกรรม ชายฝั่งทะเลตะวันออกของไทย

(3) กลไกการบริหารจัดการ ควรให้มีคณะอนุกรรมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจฝั่งตะวันตกกับประเทศเพื่อนบ้าน ภายใต้ กบส. เป็นกลไกบริหารจัดการส่วนกลางโดยมีบทบาท/หน้าที่กำหนดกรอบทิศทางยุทธศาสตร์และบูรณาการแผนดำเนินงานด้านระบบโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรี มอบหมาย เป็นประธานอนุกรรมการ และมีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นฝ่ายเลขานุการ

2.2 กบส. มีมติ

2.2.1 เห็นชอบแนวทางการดำเนินงานของไทยโดยในระยะเร่งด่วน มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเตรียมความพร้อมของด่านศุลกากรที่บ้านพุน้ำร้อนและหาข้อยุติในประเด็นเส้นเขตแดนระหว่างประเทศไทยและสหภาพพม่าโดยเร็วต่อไป

2.2.2 เห็นชอบการแต่งตัวคณะอนุกรรมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจฝั่งตะวันตกกับประเทศเพื่อนบ้านภายใต้ กบส. ตามที่ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอ

2.2.3 เห็นควรให้ คค. ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (29 มิถุนายน 2553) ในการพิจารณาศึกษาทบทวนรูปแบบการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอันดามันที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพพื้นที่และปริมาณการขนส่งสินค้า ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในพื้นที่

3. การศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับธุรกิจบริการจัดส่งด่วน (Express Delivery Service: EDS)

ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอว่า

3.1 จากข้อเรียกร้องของสมาชิกกลุ่มองค์การการประชุมปรึกษาการขนส่งพัสดุด่วนเอเชียแปซิฟิกและ กลุ่มผู้แทนสภาหอการค้าสหรัฐฯ ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เกี่ยวกับ EDS สศช. ได้ประมวลข้อมูลในปัจจุบันและประเมินผลกระทบเบื้องต้นที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการเปิดเสรีดังกล่าว ดังนี้

3.1.1 ในกรอบการเจรจาแบบพหุภาคีและทวิภาคี ยังไม่มีข้อตกลงอย่างชัดเจนของนิยามการให้บริการ EDS ที่ควรนำมาเป็นเกณฑ์พิจารณาเพื่อเปิดตลาดอย่างเสรีของทุกประเทศ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณานิยามการให้บริการ EDS ขององค์การการค้าโลกและประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าธุรกิจบริการ EDS จะครอบคลุมทั้งกิจกรรมการสื่อสาร ขนส่ง และโลจิสติกส์อื่นๆ ด้วย

3.1.2 ผลกระทบเบื้องต้นจากการเปิดเสรีบริการดังกล่าว คาดว่าผู้ใช้บริการจะมีทางเลือกและความหลากหลายของบริการมากขึ้น รวมทั้งได้รับบริการที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้นด้วย แต่ผลประโยชน์ดังกล่าวอาจกระจุกตัวอยู่บนเฉพาะเส้นทางสายหลัก

3.2 กบส. มีมติมอบหมายให้ สศช. ประสานกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงพาณิชย์ คค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาโครงสร้างธุรกิจ EDS และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง สภาพการแข่งขันในภาพรวม กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และประเมินผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการเปิดเสรีในสาขาบริการดังกล่าว เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการกำหนดท่าทีการเจรจาและนโยบายการเปิดเสรีภาคบริการของประเทศไทยในอนาคต ทั้งนี้ ให้รายงานผลการศึกษาดังกล่าวเสนอคณะกรรมการ กบส. พิจารณาภายใน 6 เดือน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ