ขอขยายระยะเวลาดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 23, 2011 13:53 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้

1. รับทราบผลการพิจารณาของกระทรวงการคลังที่ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2553

2. เห็นชอบการขยายระยะเวลาดำเนินมาตรการการลดภาระค่าครองชีพต่อไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2554 รวมถึงวงเงินและแหล่งเงินในการดำเนินมาตรการ

3. อนุมัติในหลักการให้สำนักงบประมาณเป็นผู้พิจารณาปรับเพิ่มวงเงินค่าใช้จ่ายการดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนในช่วงระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2554 — 30 มิถุนายน 2554 ตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง และแจ้งให้รัฐวิสาหกิจที่ดำเนินมาตรการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

1. การดำเนินการของกระทรวงการคลัง

ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2553 มอบหมายให้กระทรวงการคลังรับความเห็นของ สศช. ที่เห็นควรให้กระทรวงการคลังเร่งพิจารณาความจำเป็นของการดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน โดยมาตรการในเรื่องใดที่เป็นบริการเชิงสังคม ควรปรับเข้าสู่ระบบ PSO ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2553 กระทรวงการคลังพิจารณาแล้วมีความเห็นดังนี้

1.1 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวตั้งแต่ปี 2551 ได้ส่งผลกระทบถึงเศรษฐกิจของประเทศไทยซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจ การลงทุน และการบริโภคภายในประเทศชะลอตัว และส่งผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจดังกล่าว รัฐบาลจึงได้มีนโยบายให้มีการดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน จากหลักการและเหตุผลดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนเป็นมาตรการระยะสั้น เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนผู้มีรายได้น้อยในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการพิจารณาขยายระยะเวลาการดำเนินมาตรการดังกล่าวเป็นคราวๆ ไป รวมทั้งได้มีการปรับปรุงและยกเลิกมาตรการ ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ หากสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยฟื้นตัวและประชาชนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ก็น่าจะสามารถยุติการดำเนินการตามมาตรการลดภาระค่าครองชีพได้ ดังนั้น การพิจารณาให้มาตรการใดเป็นการบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนในระยะยาวหรือเป็นมาตรการถาวร จึงไม่เป็นไปตามหลักการและเหตุผลของการดำเนินมาตรการการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2554 เห็นชอบในหลักการแผนปฏิบัติการปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งภายใต้ยุทธศาสตร์การสร้างระบบเศรษฐกิจที่เท่าเทียมและเป็นธรรม รัฐบาลมีแนวทางการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า โดยนำค่า Ft ที่กำลังจะลดลงมาเป็นกลไกในการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า เพื่อทำให้มาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าสำหรับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน เป็นมาตรการถาวร

1.2 สำหรับการพิจารณาว่ามาตรการในเรื่องใดที่เป็นบริการเชิงสังคมควรปรับเข้าสู่ระบบ PSO นั้น เนื่องจาก การดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนเป็นมาตรการระยะสั้น เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนผู้มีรายได้น้อยในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวดังกล่าวข้างต้น จึงไม่สามารถเข้าสู่ระบบ PSO ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้เงินอุดหนุนบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2551 ได้ เพราะระบบ PSO ตามระเบียบดังกล่าวมีเจตนาเพื่อให้มีระบบการให้เงินอุดหนุนต่อรัฐวิสาหกิจที่ให้บริการสาธารณะและประสบผลขาดทุนจากนโยบายการควบคุมราคาค่าบริการของรัฐบาลในระยะยาว ให้มีความโปร่งใส ชัดเจน และตรวจสอบได้ รวมทั้ง สร้างเครื่องมือในการประเมินประสิทธิภาพและ ประสิทธิผลของการให้บริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจอย่างเป็นรูปธรรม

2. ขยายระยะเวลาดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพ

การดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนในช่วงที่ผ่านมา สามารถแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของประชาชนได้โดยตรง และมีประชาชนจำนวนมากที่ได้รับประโยชน์ ทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนผู้มีรายได้น้อยในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว และเพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง จึงเห็นสมควรขยายระยะเวลาการดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนต่อไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2554 โดยหลักการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวยังคงยึดหลักการเดิมตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2553 ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

2.1 หลักการดำเนินมาตรการ

1. มาตรการลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าครัวเรือน ดำเนินการผ่าน กฟน. และ กฟภ. โดยภาครัฐรับภาระค่าใช้จ่ายการใช้ไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน และสำหรับผู้เช่าอาศัยในอาคารชุดหรือห้องเช่าที่ผู้ประกอบการถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเป็นอาคารชุดหรือห้องเช่าที่มีระดับราคาเช่าไม่เกิน 3,000 บาท/ห้อง/เดือน และใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยไม่เกิน 90 หน่วย/ห้อง/เดือน และได้ลงทะเบียนไว้กับ กฟน. และ กฟภ.

2. มาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางรถโดยสารประจำทาง ดำเนินการผ่าน ขสมก. โดยรัฐรับภาระค่าใช้จ่ายการจัดรถโดยสารประจำทางธรรมดาจำนวน 800 คันต่อวัน ใน 73 เส้นทางให้บริการแก่ประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

3. มาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางโดยรถไฟชั้น 3 ดำเนินการผ่าน รฟท. โดยรัฐรับภาระค่าใช้จ่ายการจัดรถไฟชั้น 3 เชิงสังคม จำนวน 164 ขบวนต่อวัน และรถไฟชั้น 3 ระยะทางไกลในขบวนรถเชิงพาณิชย์จำนวน 8 ขบวนต่อวัน ให้บริการแก่ประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

2.2 ระยะเวลาในการดำเนินมาตรการ

ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2554 — วันที่ 30 มิถุนายน 2554

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ