การดำเนินงานของกระทรวงการต่างประเทศตามยุทธศาสตร์การสนับสนุนการศึกษา

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 23, 2011 14:48 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบการดำเนินงานของกระทรวงการต่างประเทศตามยุทธศาสตร์การสนับสนุนการศึกษาของนักศึกษาไทยมุสลิมในต่างประเทศ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) รายงานว่า

1. ยุทธศาสตร์การสนับสนุนการศึกษาของนักศึกษาไทยมุสลิมในต่างประเทศ ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอ ประกอบด้วย การดำเนินการกับนักศึกษา 3 ขั้นตอน คือ (1) ก่อนที่นักศึกษาจะเดินทางไปศึกษาต่อในต่างประเทศ (2) ขณะที่นักศึกษากำลังศึกษาในต่างประเทศ และ (3) ภายหลังที่นักศึกษากลับจากการศึกษา

2. กต. ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินยุทธศาสตร์การดำเนินการขณะที่นักศึกษากำลังศึกษาในต่างประเทศ โดยมีมาตราการดำเนินการ ดังนี้

สร้างความรู้สึกร่วมของความเป็นพลเมืองไทยและการเป็นตัวแทนของประเทศไทย

ส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์ระหว่างหน่วยงานต่างๆ ของรัฐกับนักศึกษาไทยมุสลิมในต่างประเทศ

ช่วยเหลือในการติดต่อกับทางบ้าน สถาบันการศึกษา และหน่วยงานต่างๆ ในต่างประเทศ

ส่งเสริมการรวมตัวเป็นชมรมหรือสมาคมเพื่อความสะดวกในการติดต่อกับสถานเอกอัครราชทูต และทางราชการในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ

3. ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2551 กต. ได้จัดสรรงบประมาณและการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่องดังนี้

3.1 โครงการ/กิจกรรมสนับสนุนการศึกษาของนักศึกษาไทยมุสลิมในต่างประเทศ

3.1.1 ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2551 กต. ได้จัดสรรงบประมาณสำหรับการดำเนินโครงการและกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการศึกษาของนักศึกษาไทยมุสลิมในต่างประเทศเป็นการเฉพาะ โดยในปี 2551 ได้ดำเนินโครงการ 37 โครงการ (วงเงิน 15.4 ล้านบาท) ปี 2552 ดำเนินโครงการ 51 โครงการ (วงเงิน 24.5 ล้านบาท) และปี 2553 ดำเนินโครงการ 39 โครงการ (วงเงิน 24.2 ล้านบาท)

3.1.2 กต. ได้ประสานงานกับสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ในต่างประเทศ ดำเนินโครงการและกิจกรรมต่างๆ สอดคล้องกับแนวทางของยุทธศาสตร์ เช่น การจัดกิจกรรมสนับสนุนการศึกษาและการอบรมทักษะพิเศษ การสนับสนุนการพัฒนาวิชาชีพให้แก่นักศึกษา การมีปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์ระหว่างหน่วยงานต่างๆ ของรัฐกับนักศึกษา การจัดกิจกรรมเปิดโลกทัศน์และดูงานให้แก่นักศึกษา การสนับสนุน การจัดตั้งชมรมหรือสมาคมนักศึกษาเพื่อส่งเสริมความสามัคคีในหมู่คณะโดยเฉพาะอย่างยิ่งให้กลุ่มนักศึกษาเป็นตัวแทนของประเทศไทยในการจัดกิจกรรมสันทนาการการกีฬา หรือในโอกาสเทศกาลสำคัญของท้องถิ่น

3.1.3 ผลการดำเนินโครงการที่ผ่านมาประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ โดยนักศึกษาได้แสดงความประสงค์ขอให้มีการดำเนินโครงการ / กิจกรรมในปีต่อ ๆ ไป เนื่องจากนักศึกษาเห็นว่าการดำเนินการในลักษณะนี้เป็นประโยชน์อย่างมากกับนักศึกษาโดยตรง ซึ่งนอกจากจะได้เสริมสร้างประสบการณ์และโลกทัศน์แก่นักศึกษาไทยมุสลิมในต่างประเทศแล้ว ยังทำให้นักศึกษามีความรู้สึกอบอุ่นใจและตระหนักดีในความตั้งใจและจริงใจของหน่วยงานของรัฐที่ได้ห่วงใย ดูแลและเอาใจใส่นักศึกษา และเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจต่อทางการไทยด้วย

3.2 การให้ทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาไทยมุสลิมจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปศึกษาในต่างประเทศ

กต. ได้จัดสรรงบประมาณจากปีงบประมาณ 2551 จำนวน 50 ล้านบาท เพื่อให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาไทยมุสลิมจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 23 ทุน ในระดับต่ำกว่าปริญญาตรี ปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ณ ประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ อินเดีย อียิปต์ และออสเตรเลีย ปัจจุบัน มีนักศึกษา 1 ราย สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทแล้ว และอีก 1 ราย ที่คาดว่าจะสำเร็จการศึกษาและเดินทางกลับประเทศไทยได้ภายในปี 2554

3.3 การแสวงหาความร่วมมือจากต่างประเทศเรื่องทุนการศึกษาและการพัฒนาการศึกษา

3.3.1 กต. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ความร่วมมือกับต่างประเทศไทยด้านการศึกษาและการพัฒนาการศึกษาน่าจะสามารถช่วยพัฒนาและยกระดับการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างยั่งยืน จึงได้มุ่งเน้นการแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศในด้านการให้ทุนการศึกษาแก่เยาวชนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้ง โครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาศักยภาพและคุณภาพของครูและผู้บริหารสถานศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้

3.3.2 สำหรับทุนการศึกษาที่ประเทศไทยได้รับจากต่างประเทศสำหรับเยาวชนไทยมุสลิม มีดังนี้

ก) กลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง ได้แก่ รัฐบาลบาห์เรน 10 ทุน มหาวิทยาลัย AL Azhar ของอียิปต์ ปีละ 80 ทุน รัฐบาลอียิปต์ 2 ทุน รัฐบาลคูเวต ปีละ 2 ทุน จอร์แดน ปีละ 5 ทุน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 11-13 ทุน ลิเบีย ปีละ 30 ทุน รัฐบาลโมร็อกโก ปีละ 15 ทุน รัฐบาลตุรกี 15 ทุน

ข) กลุ่มประเทศในเอเชีย ได้แก่ องค์กร Muhammadiyah และ Nadhlatul Ulama ของอินโดนีเซีย ให้ 152 ทุน และ 10 ทุน ตามลำดับ สถาบัน GIATMARA ของมาเลเซีย ให้ 50 ทุน รัฐบาลปากีสถานให้ 75 ทุน มหาวิทยาลัยบรูไน ให้ 3 ทุน

นอกจากนี้ กต. ได้แสวงหาความร่วมมือจากต่างประเทศเพื่อพัฒนาบุคลากรการศึกษา ได้แก่ โครงการของรัฐบาลออสเตรเลียร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการฝึกอบรมครูจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ในด้านภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ซึ่งเริ่มดำเนินการเมื่อเดินพฤษภาคม 2553 และ กต. ได้นำคณะผู้บริหารสถานศึกษาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปศึกษาดูงานแนวทางการเรียนการสอนสังคมพหุวัฒนธรรมที่ประเทศออสเตรเลีย เมื่อเดือนกรกฎาคม 2553

4. การดำเนินงานขั้นต่อไป

4.1 กต. จะดำเนินการผลักดันยุทธศาสตร์ดังกล่าวให้มีผลเป็นรูปธรรมต่อไป โดยหากได้รับจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้น ก็จะสนับสนุนให้สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่เพิ่มการดำเนินโครงการตามยุทธศาสตร์ดังกล่าวและ ชักชวนนักเรียนนักศึกษาเข้าร่วมโครงการให้มากที่สุด

4.2 สำหรับโครงการทุนการศึกษาของนักศึกษาไทยมุสลิมในต่างประเทศ นั้น กต. จะพิจารณาสนับสนุนต่อไปโดยจะประเมินความสำเร็จของโครงการจากผลการศึกษาของนักศึกษาที่จะสำเร็จการศึกษา ซึ่งขณะนี้มีนักศึกษาเพียง 1 ราย ที่ได้สำเร็จการศึกษาแล้ว

4.3 ส่วนความร่วมมือจากต่างประเทศด้านการศึกษา นั้น กต. จะหยิบยกขึ้นหารือกับมิตรประเทศในโอกาสต่างๆ ต่อไป โดยจะพิจารณาสนับสนุนการส่งเสริมความรู้ด้านภาษาต่างประเทศแก่นักศึกษาและเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษและภาษาอาหรับ เพื่อเปิดโอกาสทางการศึกษาแก่นักเรียนนักศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประสงค์จะไปศึกษาในต่างประเทศ ทั้งนี้ โดยให้การประสานงานอย่างใกล้ชิดกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ