คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อมูลสรุปผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เดือนธันวาคม พ.ศ. 2553 ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารดังนี้
สาระสำคัญของเรื่อง
สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ทำการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรเป็นประจำทุกเดือน โดยสอบถามประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่าง ทุกจังหวัดทั่วประเทศ มีครัวเรือนตกเป็นตัวอย่าง 26,520 ครัวเรือนต่อเดือน สำหรับในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2553 ในภาพรวมสถานการณ์แรงงาน จำนวนผู้ว่างงานลดลง 8.2 หมื่นคน (จาก 3.50 แสนคน เป็น 2.68 แสนคน) เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2552 หากเปรียบเทียบกับช่วงเดือนที่ผ่านมา (พฤศจิกายน พ.ศ. 2553) จำนวนผู้ว่างงานลดลง 1.21 แสนคน (จาก 3.89 แสนคน เป็น 2.68 แสนคน) สำหรับสาระสำคัญการสำรวจสรุปได้ ดังนี้
1. ผู้อยู่ในกำลังแรงงาน
ผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน มีจำนวนทั้งสิ้น 39.50 ล้านคน ประกอบด้วย ผู้มีงานทำ 39.19 ล้านคน ผู้ว่างงาน 2.68 แสนคน และผู้ที่รอฤดูกาล 3.88 หมื่นคน ทั้งนี้ ผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2552 จำนวน 5.5 แสนคน (จาก 38.95 ล้านคน เป็น 39.50 ล้านคน)
2. ผู้มีงานทำ
ผู้มีงานทำ 39.19 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2552 จำนวน 6.5 แสนคน (จาก 38.54 ล้านคน เป็น 39.19 ล้านคน) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 ซึ่งมีผู้ทำงานเพิ่มขึ้นและลดลงในสาขาต่างๆ ดังนี้
2.1 ผู้ทำงานเพิ่มขึ้น ได้แก่ ผู้ทำงานในสาขาเกษตรกรรมและประมง 9.6 แสนคน (จาก 15.99 ล้านคน เป็น 16.95 ล้านคน) สาขาการโรงแรมและภัตตาคาร 1.7 แสนคน (จาก 2.52 ล้านคน เป็น 2.69 ล้านคน) สาขาการศึกษา 1.5 แสนคน (จาก 1.11 ล้านคน เป็น 1.26 ล้านคน) สาขาการบริหารราชการแผ่นดินฯ 4.0 หมื่นคน (จาก 1.36 ล้านคน เป็น 1.40 ล้านคน) ตามลำดับ
2.2 ผู้ทำงานลดลง ได้แก่ สาขาการขายส่งและขายปลีกฯ 1.9 แสนคน (จาก 6.10 ล้านคน เป็น 5.91 ล้านคน) สาขาการผลิต 1.3 แสนคน (จาก 5.23 ล้านคน เป็น 5.10 ล้านคน) สาขากิจกรรมด้านอสังหาริมทรัพย์ฯ 1.1 แสนคน (จาก 0.81 ล้านคน เป็น 0.70 ล้านคน) สาขาการเงินการธนาคาร 9.0 หมื่นคน (จาก 0.42 ล้านคน เป็น 0.33 ล้านคน) ที่เหลือกระจายอยู่ในสาขาอื่นๆ
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับช่วงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ที่ผ่านมา จำนวนผู้มีงานทำเพิ่มขึ้น 1.01 ล้านคน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในภาคเกษตรกรรม 1.77 ล้านคน ส่วนนอกภาคเกษตรกรรมลดลง 7.60 แสนคน
3. ผู้ว่างงาน
3.1 ผู้ว่างงานทั่วประเทศมีจำนวน 2.68 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 0.7 ของกำลังแรงงานรวม (ผู้ว่างงานลดลงจำนวน 8.2 หมื่นคน และอัตราการว่างงานลดลงร้อยละ 0.2 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2552) ประกอบด้วย ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 9.9 หมื่นคน และเป็นผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 1.69 แสนคน โดยเป็นผู้ว่างงานจากภาคการบริการและการค้า 6.5 หมื่นคน ภาคเกษตรกรรม 5.7 หมื่นคน และภาคการผลิต 4.7 หมื่นคน
3.2 ผู้ว่างงานเป็นผู้ที่จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษามากที่สุด จำนวน 9.0 หมื่นคน รองลงมา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 6.0 หมื่นคน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 4.8 หมื่นคน ระดับประถมศึกษา 4.0 หมื่นคน และไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 3.0 หมื่นคน ตามลำดับ
3.3 ผู้ว่างงานอยู่ในภาคใต้มากที่สุด 9.0 หมื่นคน ภาคกลาง 6.5 หมื่นคน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4.0 หมื่นคน กรุงเทพมหานคร 3.7 หมื่นคน และภาคเหนือ 3.6 หมื่นคน หากคิดเป็นอัตราการว่างงาน ภาคใต้เป็นภาคที่มีอัตราการว่างงานสูงสุด คือ ร้อยละ 1.8 ส่วนภาคที่มีอัตราการว่างงานต่ำสุดเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 0.3
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารพิจารณาแล้วเห็นว่า สรุปผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรนี้จะเป็นประโยชน์แก่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554--จบ--