ขออนุมัติหลักการแผนปฏิบัติการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพของประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 2, 2011 15:37 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการแผนปฏิบัติการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพของประเทศ โดยมอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กรมการท่องเที่ยว) เป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินงานตามแผนโดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ โดยให้รับความเห็นของกระทรวงคมนาคมและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการด้วย ในส่วนของงบประมาณให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาทำความตกลงกับสำนักงบประมาณต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) รายงานว่า

1. ในการพัฒนาฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวจำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมากและต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานเจ้าของแหล่งท่องเที่ยวหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อ (ทส.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จึงมีความจำเป็นต้องนำเสนอแผนปฏิบัติการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพของประเทศเพื่อขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรีสำหรับใช้เป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของประเทศและบูรณาการความร่วมมือในการพัฒนาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

2. สาระสำคัญของแผนปฏิบัติการฯ สรุปได้ดังนี้

2.1 วัตถุประสงค์

2.1.1 เพื่อพัฒนาฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญและให้คงศักยภาพทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

2.1.2 เพื่อยกระดับคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวประเภทต่าง ๆ

2.1.3 เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวตามกรอบแนวทางการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพของประเทศ

2.2 เป้าหมาย พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญและมีศักยภาพครอบคลุมพื้นที่ 8 กลุ่มท่องเที่ยวทั่วประเทศ ในระยะเวลา 3 ปี (ปี พ.ศ. 2555-2557)

2.3 ขั้นตอนและวิธีการจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพของประเทศ

2.3.1 ศึกษา วิเคราะห์ และรวบรวมข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศ รวมทั้งเอกสารรายงานผลการศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของหน่วยงาน / สถาบันต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายงานผลการศึกษาการพัฒนากลุ่มท่องเที่ยวของ กก. ซึ่งได้มีการจัดประชุมระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกกลุ่มท่องเที่ยวทั่วประเทศเรียบร้อยแล้ว

2.3.2 ดำเนินการสำรวจแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งขอความร่วมมือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ทส. วธ. มท. และ อปท. นำเสนอแผนงาน / โครงการด้านการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งจากการดำเนินการดังกล่าวหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องข้างต้นได้จัดส่งแผนงาน / โครงการด้านการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวไปยัง กก. เป็นจำนวนมาก

2.3.3 คัดเลือกโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดพร้อมทั้งจัดทลำดับความเร่งด่วนในการพัฒนาให้สอดคล้องตามข้อเสนอแนวทางการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทึ่มีศักยภาพของประเทศและนำมาบรรจุไว้ในแผนปฏิบัติการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพของประเทศ

2.4 แนวทางการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพของประเทศ และงบประมาณสำหรับดำเนินการ

2.4.1 พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ โดยแบ่งออกเป็น 8 กลุ่มท่องเที่ยว 385 โครงการ ซึ่งจะต้องใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555-2557 โดยขอทำความตกลงกับ สงป. ต่อไป เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 6,651,590,000 บาท ดังนี้

1) โครงการกลุ่มท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนาและภาคเหนือตอนบน ประกอบด้วยพื้นที่หลัก 7 จังหวัด คือ จังหวัดเชียวงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน และจังหวัดอื่นๆ ที่มีลักษณะของกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ใกล้เคียงกัน ประกอบด้วย 46 โครงการ งบประมาณจำนวน 983,280,000 บาท

2) โครงการกลุ่มท่องเที่ยวมรดกโลกเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ประกอบด้วยพื้นที่หลัก 8 จังหวัด คือจังหวัดตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี พระนครศรีอยุธยา และจังหวัดอื่นๆ ที่มีลักษณะของกิจกรรมการท่องเที่ยว ที่ใกล้เคียงกัน ประกอบด้วย 57 โครงการ งบประมาณจำนวน 475,180,000 บาท

3) โครงการกลุ่มท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้ประกอบด้วยพื้นที่หลัก 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ชัยถูมิ อุบลราชธานี และจังหวัดอื่น ๆ ที่มีลักษณะของกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ใกล้เคียงกันอีก 1 จังหวัด คือ สระแก้ว ประกอบด้วย 26 โครงการ งบประมาณ จำนวน 230,650,000 บาท

4) โครงการกลุ่มท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำโขง ประกอบด้วยพื้นที่หลัก 6 จังหวัด คือ จังหวัดเลย หนองคาย นครพนม มุกาดหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี และจังหวัดอื่น ๆ ที่มีลักษณะของกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ใกล้เคียงกัน ประกอบด้วย 60 โครงการ งบประมาณจำนวน 612,600,000 บาท

5) โครงการกลุ่มท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำภาคกลาง ประกอบด้วยพื้นที่หลัก 14 จังหวัด คือ จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี กรุงเทพมหานคร และจังหวัดอื่นๆ ที่มีลักษณะของกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ใกล้เคียงกัน ประกอบด้วย 55 โครงการ งบประมาณจำนวน 454,320,000 บาท

6) โครงการกลุ่มท่องเที่ยว Active Beach ประกอบด้วยพื้นที่หลัก 4 จังหวัด คือ จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด และจังหวัดอื่นๆ ที่มีลักษณะของกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ใกล้เคียงกัน ประกอบด้วย 44 โครงการ งบประมาณจำนวน 770,090,000 บาท

7) โครงการกลุ่มท่องเที่ยว Royal Coast ประกอบด้วยพื้นที่หลัก 4 จังหวัด คือ จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง และจังหวัดอื่นๆ ที่มีลักษณะของกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ใกล้เคียงกัน ประกอบด้วย 24 โครงการ งบประมาณ จำนวน 859,200,000 บาท

8) โครงการกลุ่มท่องเที่ยวมหัศจรรย์สองสมุทร ประกอบด้วย 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และจังหวัดอื่นๆ ที่มีลักษณะของกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ใกล้เคียงกัน ประกอบด้วย 73 โครงการ งบประมาณจำนวน 2,356,270,000 บาท

2.4.2 พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวโดยการพัฒนา/ปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐาน ปรับปรุงภูมิทัศน์และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว รวมทั้ง กำหนดรูปแบบการบริหารจัดการ การพัฒนาบุคลากรในแหล่งท่องเที่ยว และการดูแลรักษาแหล่งท่องเที่ยวให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานเจ้าของแหล่งท่องเที่ยวและชุมชน

2.4.3 ส่งเสริมการพัฒนาและอนุรักษ์แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและประเพณีให้คงความยั่งยืน

2.5 ผลที่คาดว่าจะได้รับ แหล่งท่องเที่ยวสำคัญทั่วประเทศได้รับการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน ปรับปรุงภูมิทัศน์และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยวตามมาตรฐานสากล เพื่อสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของประเทศ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 มีนาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ