คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบมาตรการทางการเงินเพื่อสนับสนุนการประกอบธุรกิจก่อสร้าง โดยมีวงเงินงบประมาณสนับสนุนเป็นจำนวน 1,000 ล้านบาท และมอบหมายให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ประสานกับสำนักงบประมาณ (สงป.) เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณในการดำเนินมาตรการดังกล่าว
2. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) บรรจุเรื่องดังกล่าวเป็นวาระในกรณีที่มีการพบปะหารือระหว่างผู้นำไทยและผู้นำประเทศต่างๆ หรือในเวทีการเจรจาทวิภาคีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงการคลัง (กค.) รายงานว่า
1. กค. ได้จัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2554 เพื่อพิจารณามาตรการดังกล่าว โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการและความจำเป็นของมาตรการ อย่างไรก็ดี กค. เห็นควรปรับปรุงเงื่อนไขการสนับสนุนจากกำหนดวงเงินสนับสนุนไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อสัญญาจ้างงาน และให้ ธสน. พิจารณาให้การสนับสนุนเกิน 50 ล้านบาทต่อสัญญาจ้างงานได้ตามความจำเป็น เป็นกำหนดให้วงเงินสนับสนุนไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อโครงการ โดยจะไม่มีการพิจารณาเพิ่มเติมในกรณีที่อาจมีความต้องการให้ใช้เงินสนับสนุนเกิน 50 ล้านบาทต่อโครงการ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้การสนับสนุนจากรัฐบาลกระจุกตัวอยู่ที่โครงการใดโครงการหนึ่งมากเกินไป และเป็นการกระจายความเสี่ยงด้านเครดิตที่เกิดจากการออกหนังสือค้ำประกันของ ธสน. ออกไปในหลายโครงการด้วย
2. มาตรการทางการเงินเพื่อสนับสนุนการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมก่อสร้างในต่างประเทศ มาตรการที่ได้แก้ไขมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
2.1 วัตถุประสงค์
เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยที่มีศักยภาพในการขยายตลาดก่อสร้างในต่างประเทศให้สามารถแข่งขันได้อย่างทัดเทียมกับคู่แข่งกับประเทศอื่น โดยลดต้นทุนค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกันในส่วนที่ธนาคารในต่างประเทศเรียกเก็บ (Counter Guarantee) ซึ่งเป็นต้นทุนส่วนเพิ่มที่เกิดจากการที่ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถขอให้ธนาคารในต่างประเทศออกหนังสือค้ำประกันให้ได้โดยตรง แต่ต้องขอให้ธนาคารไทยออกหนังสือค้ำประกันก่อน และให้ธนาคารในต่างประเทศค้ำประกันต่ออีกทอดหนึ่ง
2.2 แนวทางแก้ไข
2.2.1 กรณีที่ผู้ว่าจ้างเป็นหน่วยงานหรือโครงการของภาครัฐในต่างประเทศให้รัฐบาลไทยเจรจากับภาครัฐในต่างประเทศให้ยอมรับหนังสือค้ำประกันที่ออกโดยธนาคารไทยโดยตรง โดยมอบหมายให้ กต. บรรจุเป็นวาระในกรณีที่มีการพบปะหารือระหว่างผู้นำไทยและผู้นำประเทศต่างๆ หรือในเวทีการเจรจาทวิภาคีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
2.2.2 กรณีที่ผู้ว่าจ้างเป็นเอกชนในต่างประเทศหรือรัฐบาลไม่สามารถเจรจาตามข้อ 2.2.1 ได้ ให้ผู้ประกอบการที่ต้องการรับการช่วยเหลือมายื่นขอหนังสือค้ำประกันจาก ธสน. โดยรัฐบาลจะให้การสนับสนุนค่าธรรมเนียม Counter Guarantee
2.3 เงื่อนไขการสนับสนุน
2.3.1 ผู้ประกอบการก่อสร้างไทยซึ่งรวมถึง
(1) ผู้ที่ประกอบธุรกิจวิชาชีพที่ปรึกษาทางวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม
(2) ธุรกิจรับจ้างก่อสร้าง
(3) ธุรกิจดูแลและบำรุงรักษาภายหลังการก่อสร้างที่จะได้รับการสนับสนุนต้องมีศักยภาพในการรับงานในต่างประเทศ รวมทั้งมีประสบการณ์และสถานะทางการเงินที่สามารถดำเนินงานได้ตลอดอายุสัญญา เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงโดยรวมของประเทศ
2.3.2 ธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันให้แก่ผู้ว่าจ้างในต่างประเทศจะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
(1) มีสถานะทางการเงินที่มั่นคง
(2) มีบริการและเครือข่ายที่สอดคล้องกับการทำธุรกรรมกับ ธสน.
(3) เสนออัตราค่าธรรมเนียมที่เหมาะสม
(4) เป็นที่ยอมรับของผู้รับจ้างและผู้ว่าจ้าง
2.3.3 ให้ ธสน. พิจารณาผู้ประกอบการก่อสร้างไทยที่จะเข้าร่วมมาตรการตามหลักเกณฑ์มาตรฐาน และเป็นไปตามขั้นตอนอนุมัติของ ธสน. เพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม
2.3.4 รัฐบาลจะสนับสนุนค่าธรรมเนียม Counter Guarantee ไม่เกินร้อยละ 2 ของมูลค่าค้ำประกัน และไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อโครงการ เพื่อไม่ให้การสนับสนุนกระจุกตัวอยู่ที่โครงการใดโครงการหนึ่ง
2.3.5 หากเกิดกรณีที่ผู้ประกอบการก่อสร้างไทยดำเนินการก่อสร้างล่าช้ากว่ากำหนด หรือผู้ว่าจ้างคืนหนังสือค้ำประกันล่าช้ากว่ากำหนด รวมทั้งธนาคารในต่างประเทศขึ้นอัตราค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันผู้ประกอบการก่อสร้างไทย จะเป็นผู้รับผิดชอบภาระค่าธรรมเนียมเป็นจำนวนเท่ากับส่วนต่างระหว่างค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้นจริงกับค่าธรรมเนียมที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลตามที่ได้ตกลงกับ ธสน.
2.3.6 เป็นผู้ประกอบการก่อสร้างไทยที่จะเข้าร่วมประมูลโครงการในต่างประเทศภายหลังวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการนี้
2.4 วงเงินงบประมาณที่รัฐต้องใช้ในการสนับสนุน
2.4.1 วงเงินงบประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยมีสมมติฐาน ดังนี้
(1) วงเงินค้ำประกันในการออกหนังสือค้ำประกันทุกประเภทรวมไม่เกิน 50,000 ล้านบาท (ร้อยละ 50 ของมูลค่าจ้างงาน 100,000 ล้านบาท)
(2) ค่าธรรมเนียม Counter Guarantee เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2 ของมูลค่าค้ำประกัน ตามข้อ (1)
2.4.2 ให้ ธสน. เบิกจ่ายงบประมาณตามที่เกิดขึ้นจริง โดยทำความตกลงกับ สงป. เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณในรายละเอียดต่อไป
2.5 ระยะเวลาดำเนินมาตรการตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการ จนครบวงเงินงบประมาณที่ใช้ในการสนับสนุน 1,000 ล้านบาท
2.6 การรายงานและประเมินผลดำเนินการตามมาตรการ ให้ ธสน. รายงานความคืบหน้าของมาตรการต่อ กค. ทุกไตรมาส
2.7 ประโยชน์ที่ได้รับ
2.7.1 เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการเงินให้กับผู้ประกอบการก่อสร้างไทยในการขยายตลาดก่อสร้างให้ทัดเทียมกับผู้ประกอบการก่อสร้างจากประเทศอื่น
2.7.2 ส่งเสริมการขยายตัวของตลาดก่อสร้างในต่างประเทศ รวมถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เกี่ยวข้องในประเทศ ทำให้มีรายได้เงินตราต่างประเทศเข้าประเทศมากขึ้น
2.7.3 ผู้ประกอบการก่อสร้างไทยได้รับความเชื่อถือ และเป็นที่ยอมรับในตลาดก่อสร้างต่างประเทศมากขึ้น จนอาจสามารถขอให้ธนาคารในต่างประเทศออกหนังสือค้ำประกันให้โดยตรงได้
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 มีนาคม 2554--จบ--