การบริหารจัดการแก้ไขปัญหาน้ำมันพืชขาดแคลน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 2, 2011 16:21 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาน้ำมันพืชขาดแคลน ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้

1. เรื่องเดิม

1.1 มติคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) เป็นประธาน ได้อนุมัติให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยให้ อคส.นำเข้าน้ำมัน ปาล์มดิบแยกไข (Crude Palm Olein) ปริมาณ 30,000 ตัน ให้แล้วเสร็จในเดือนมกราคม 2554 (มติ กนป. วันที 6 ม.ค. 54)

1.2 มติ กนป. เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 ได้อนุมัติเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำมันปาล์มขาดแคลน โดยสรุป ดังนี้

1.2.1 ให้คงมติการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบแยกไข 120,000 ตัน ตามมติ กนป. เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554

1.2.2 ให้นำเข้าน้ำมันปาล์มตามสถานการณ์ด้านการผลิตและการตลาดในประเทศ โดยงวดแรกให้ อคส. นำเข้าน้ำมันปาล์มดิบแยกไข 30,000 ตัน นำไปจัดสรรให้สมาชิกโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม

1.2.3 ให้สมาคมโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มจัดส่งน้ำมันปาล์มดิบปริมาณ 10,000 ตัน ให้โรงกลั่นน้ำมันปาล์ม ในราคาไม่เกิน กก.ละ 44.75 บาท และให้โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มรับซื้อผลปาล์มอัตราน้ำมัน 16% ในราคาไม่ต่ำกว่า กก.ละ 7 บาท

1.2.4 ให้กระทรวงพลังงานบริหารจัดการให้โรงงานผลิตไบโอดีเซลนำน้ำมันปาล์มดิบในสต็อกส่งให้โรงกลั่นน้ำมันปาล์มยืมใช้ผลิตเป็นน้ำมันพืชปาล์มก่อนเป็นการชั่วคราวปริมาณ 5,000 ตัน

1.2.5 กำหนดราคาจำหน่ายน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ลิตรละ 47 บาท ทั้งชนิดบรรจุขวด ปี๊บ และถุง โดยภาครัฐจะจ่ายชดเชยส่วนต่างระหว่างต้นทุนการผลิตและราคาจำหน่ายน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ให้โรงกลั่นฯ ลิตรละไม่เกิน 5 บาท กรณีใช้น้ำมันปาล์มนำเข้า (โดยคำนวณจากราคา CIF น้ำมันปาล์มดิบแยกไขนำเข้า 1,310 USD/ตัน อัตราแลกเปลี่ยน 31 บาท/USD) และลิตรละไม่เกิน 9.50 บาท กรณีใช้น้ำมันปาล์มดิบในประเทศ ทั้งนี้ ให้ปรับอัตราชดเชยลดลงตามราคาน้ำมันปาล์มดิบที่จัดหาได้

2. ความคืบหน้าการดำเนินการ

2.1 การบริหารการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบแยกไข 30,000 ตัน (ตามมติ กนป. 6 ม.ค.54)

2.1.1 คณะอนุกรรมการพิจารณาราคาสินค้าน้ำมันพืช ได้มีมติให้ปรับราคาจำหน่ายปลีกน้ำมันพืชปาล์มจากขวดลิตรละ 38 บาท(ปี 2551) เป็นขวดลิตรละ 47 บาท โดยคำนวณจากฐานราคาน้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ของมาเลเซีย กก.ละ 36.51 บาท

2.1.2 อคส. ได้จัดซื้อน้ำมันปาล์มดิบแยกไขจากมาเลเซียในวันที่ 17 มกราคม 2554 ในราคา CIF กก.ละ 39.57 บาท (1,289 USD/ตัน อัตราแลกเปลี่ยน 30.70 บาท/USD) ซึ่งสูงกว่าต้นทุนที่ใช้คำนวณราคาขายปลีก (กก.ละ 36.51 บาท) โดยขอให้ผู้ประกอบการรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น กก.ละ 3 บาท (39.57-36.51 บาท) เป็นเงินประมาณ 90 ล้านบาท

2.1.3 น้ำมันปาล์มดิบแยกไขปริมาณ 30,000 ตัน ผลิตเป็นน้ำมันพืชปาล์มได้ประมาณ 22.60 ล้านลิตร โดย อคส. จัดสรรน้ำมันปาล์มให้สมาชิกโรงกลั่นฯ 10 ราย ผลิตบรรจุขวดฝาจุกสีฟ้า (กรณีบรรจุถุงให้ขายลิตรละ 45 บาท) และกรมการค้าภายในได้กำหนดช่องทางการจำหน่ายผ่านช่องทางห้างค้าปลีกร้อยละ 65 ผ่านโชวห่วย (ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว) ร้อยละ 20 และผ่านสำนักงานการค้าภายในจังหวัดร้อยละ 15 โดยได้มีการกระจายจำหน่ายครั้งแรกในวันที่ 31 มกราคม 2554 ต่อมาได้ปรับแผนการจำหน่ายน้ำมันปาล์มที่เหลือประมาณ 9.6 ล้านลิตร เพื่อให้ถึงผู้บริโภคและผู้ใช้โดยตรง โดยกระจายผ่าน ห้างค้าปลีกค้าส่งร้อยละ 40 ตลาดสดในความส่งเสริมของกรมการค้าภายในและแหล่งชุมชนร้อยละ 20 และผ่านสำนักงานการค้าภายในจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อจำหน่าย ณ ศาลากลางจังหวัดและแหล่งชุมชน ร้อยละ 40

2.2 การบริหารการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบแยกไข 30,000 ตัน (ตามมติ กนป. 22 ก.พ.54)

2.2.1 อคส. ได้จัดซื้อน้ำมันปาล์มดิบแยกไขจากมาเลเซีย 30,000 ตัน ในราคา CIF 1,258 USD/ตัน อัตราแลกเปลี่ยน 30.72 บาท/USD ส่งมอบวันที่ 3 และ 7 มีนาคม 2554 ซึ่งจากการที่ราคานำเข้าลดลง ทำให้จำนวนเงินชดเชยลดลงเหลือประมาณลิตรละ 3 บาท จากจำนวนการนำเข้าดังกล่าวจะผลิตน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์เพื่อบริโภคประมาณ 22.60 ล้านลิตร ทั้งนี้เมื่อนำเข้าแล้วจะเร่งให้เข้าสู่กระบวนการการผลิตน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์เพื่อบริโภคโดยเร็วต่อไป

2.2.2 การผลิตและการจำหน่ายน้ำมันพืชปาล์มงวดที่ 2 กรมการค้าภายในได้หารือกับสมาคมโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันพืชปาล์ม และการกระจายจำหน่าย ที่ประชุมเห็นควรให้ผลิตน้ำมันพืชทั้งชนิดขวด ถุง ปี๊บ ที่ภาชนะบรรจุมีสัญลักษณ์ สีชมพู โดยให้โรงกลั่นฯ ที่ผลิตน้ำมันพืชปาล์ม (สีฟ้า) เสร็จสิ้นแล้ว ให้เริ่มผลิตน้ำมันพืชปาล์ม (สีชมพู) ต่อไปได้ทันที โดยให้นำน้ำมันปาล์มดิบในสต็อกมาผลิตก่อน เพื่อจะออกสู่ตลาดได้ครั้งแรกในวันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2554 ส่วนภาคอุตสาหกรรมให้จำหน่ายไปตามช่องทางการค้าปกติที่ปฏิบัติอยู่

2.2.3 การผลิตและจำหน่ายน้ำมันพืชปาล์ม (สีชมพู) มีอุปสรรคการดำเนินการ ดังนี้

(1) สมาคมโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มได้ดำเนินการจัดส่งน้ำมันปาล์มดิบปริมาณ 10,000 ตัน ให้โรงกลั่นน้ำมันปาล์มแล้ว ซึ่งอยู่ในระหว่างการผลิต (สีชมพู) และสมาคมโรงกลั่นน้ำมันปาล์มได้ประสานกับกระทรวงพลังงานแล้ว ทราบว่า ผู้ผลิตไบโอดีเซลไม่มีสต็อกน้ำมันปาล์มดิบให้โรงกลั่นน้ำมันปาล์มยืมผลิต จำนวน 5,000 ตัน ตามมติ กนป. เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554

(2) การจำหน่ายน้ำมันพืชปาล์ม (สีชมพู) ให้ห้างค้าส่ง-ค้าปลีกในราคาลิตรละ 44 บาท เพื่อให้ราคาจำหน่ายปลีกถึงผู้บริโภคไม่เกินลิตรละ 47 บาท ปริมาณวันละ 2.5 ล้านลิตร คาดว่าจะผลิตและกระจายเสร็จสิ้นภายในวันที่ 12 มีนาคม 2554

(3) การผลิตน้ำมันพืชปาล์มขวดเล็กขนาดบรรจุต่ำกว่า 1 ลิตร เมื่อเทียบสัดส่วนแล้วมีราคาจำหน่ายสูงกว่าขนาดขวด 1 ลิตร เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตสูงกว่า ทำให้ไม่สามารถจำหน่ายปลีกน้ำมันพืชขนาดบรรจุต่ำกว่า 1 ลิตร ในราคาลิตรละ 47 บาทได้ ซึ่งตามต้นทุนจะต้องกำหนดราคาจำหน่ายน้ำมันพืชขนาดบรรจุ 0.75 ลิตร ขวดละ 38 บาท ขนาด 0.50 ลิตร ขวดละ 25.50 บาท และขนาด 0.25 ลิตร ขวดละ 14.75 บาท ทำให้ราคาขายส่งน้ำมันพืชปาล์มขวดเล็กของโรงกลั่นเมื่อเทียบตามสัดส่วนสูงกว่าลิตรละ 44 บาทด้วย ซึ่งเป็นการค้าปกติของสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีขนาดบรรจุเล็กจะมีราคาจำหน่ายต่อหน่วย (ซีซี) สูงกว่าขนาดบรรจุใหญ่

3. แนวทางดำเนินการในช่วงต่อไป

เพื่อให้สามารถดำเนินการผลิตและกระจายจำหน่ายน้ำมันพืชปาล์ม (สีชมพู) ให้ผู้บริโภค หาซื้อได้สะดวกทั่วถึง และไม่จำกัดปริมาณเป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี กระทรวงพาณิชย์เห็นควรดำเนินการต่อเนื่อง ดังนี้

3.1 เมื่อการจำหน่ายน้ำมันพืชปาล์มหลังจากยอดจำหน่ายตาม มติที่ กนป. ได้อนุมัติไว้ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 หมดลง (12 มี.ค.54) และมีการผลักดันให้มีการผลิตและจำหน่ายเต็มที่อัตราวันละ 2 ล้านลิตรต่อวัน (การผลิตแบบบรรจุขวด ประมาณ 1 ล้านลิตร การผลิตแบบบรรจุปี๊บ และบรรจุถุง อีกประมาณ 1 ล้านลิตร) จะต้องใช้น้ำมันปาล์มดิบอีกประมาณ 68,000 ตัน ซึ่งจะใช้จากน้ำมันปาล์มดิบในประเทศซึ่งคาดว่าจะมีเพียงพอ หากผลผลิตเป็นไปตามที่กระทรวงเกษตรฯ คาดการณ์ไว้ว่าจะได้ผลผลิต 150,000 ตัน ในเดือนมีนาคม 2554 และราคาน้ำมันปาล์มดิบอยู่ในช่วง 31-32 บาท/กก. ก็จะสามารถตรึงราคาจำหน่ายปลีกที่ลิตรละ 47 บาทต่อไปได้

3.2 ให้สมาคมโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มจัดส่งน้ำมันปาล์มดิบปริมาณ 5,000 ตัน ทดแทนจากส่วนที่ผู้ผลิตไบโอดีเซลจะให้ยืมปริมาณ 5,000 ตัน ให้แก่โรงกลั่นน้ำมันปาล์ม ในราคาไม่เกิน กก.ละ 44.75 บาท และให้โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มรับซื้อผลปาล์ม อัตราน้ำมัน 16% ในราคาไม่ต่ำกว่า กก.ละ 7 บาทจากเกษตรกร ซึ่งก่อนหน้านี้สมาคมโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มได้จัดส่งแล้วจำนวน 10,000 ตัน ตามมติ กนป.วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 ที่อนุมัติให้โรงสกัดจัดส่งให้ปริมาณ 10,000 ตัน

3.3 กรณีการกำหนดราคาจำหน่ายปลีกน้ำมันพืชปาล์มที่มีขนาดบรรจุขวดต่ำกว่า 1 ลิตร ให้พิจารณากำหนดราคาจำหน่ายปลีกตามข้อ 2.2.3 (3) และกำหนดราคาขายส่งให้สอดคล้องกัน

3.4 ปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินการกระจายโดยกลไกการค้าขายปกติของบริษัทผู้ผลิตน้ำมันปาล์มตามช่องทางต่างๆ เช่น ในซุปเปอร์มาเก็ตทั่วไป ศูนย์กระจายสินค้าห้างสรรพสินค้าสมัยใหม่ ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ร้านค้าปลีกต่างๆ รวมถึงช่องทางการจำหน่ายตามปกติ และกระทรวงพาณิชย์ได้ประสานขอความร่วมมือให้เพิ่มจำนวนจากจำนวนการจัดส่งปกติให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้ถึงมือผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ไม่จำกัดจำนวนการซื้อของผู้บริโภค

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 มีนาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ