นผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง การดำเนินการตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 2, 2011 16:42 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง รายงานผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง การดำเนินการตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ในโอกาสที่พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะบุคคลเข้าเฝ้าฯ (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง การดำเนินการตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสที่พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะบุคคลเข้าเฝ้าฯ เมื่อวันที่ 30 กรกาคม 2553 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ประสานติดตามความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ได้รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการฯ ของกรมชลประทาน สรุปได้ดังนี้

1. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ได้ดำเนินโครงการวิจัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกต่อฝนสูงสุดที่อาจเป็นไปได้ของพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 จะดำเนินโครงการวิจัยผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศต่อปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และโครงการวิจัยการวิเคราะห์ความถี่การเกิดภัยแล้งโดยใช้ดัชนีความแห้งแล้ง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอขอความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

2. การบริหารจัดการน้ำ ได้มีการเฝ้าติดตามสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและได้มีการกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ต่างๆ แบ่งตามสถานการณ์ได้ 3 ระยะ คือ ระยะแรก เป็นการดำเนินการก่อนน้ำมาเพื่อเป็นการเตรียมการใช้เครื่องมือที่มีอยู่ในการบริหารจัดการน้ำ ระยะที่สอง เป็นการดำเนินการระหว่างน้ำมาหรือขณะเกิดภัยเพื่อเสริมศักยภาพให้เพียงพอกับสถานการณ์น้ำหลากที่เกิดขึ้น และระยะที่สาม เป็นการดำเนินการตามแผนหลังอุทกภัยหรือแผนฟื้นฟูหลังน้ำลด รวมทั้งได้มีการวางแผนบริหารการจัดจราจรน้ำในลุ่มน้ำต่างๆ เพื่อให้พื้นที่ที่รับผลกระทบได้รับความเดือดร้อนน้อยที่สุด ซึ่งเครื่องมือที่สำคัญในการบริหารจัดการน้ำ คือ อ่างเก็บน้ำ โดยมีการกำหนดเกณฑ์การเก็บกักน้ำในอ่าง (Rule Curve) ในแต่ละช่วงเวลาไม่ให้เกิดภาวะน้ำล้นอ่างเก็บน้ำและมีการประเมินสภาพน้ำในอ่างโดยใช้โปรแกรม Reservoir Operation Simulation เป็นการจำลองการคาดการณ์ปริมาณน้ำในอ่างล่วงหน้าเพื่อใช้กำหนดแผนการระบายน้ำ ซึ่งจะทำให้ช่วยชะลอและลดความเร็วน้ำหลากไม่ให้หลากลงมาอย่างรวดเร็วเป็นการลดปริมาณน้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ เช่น ในลุ่มน้ำชีอาศัยอ่างเก็บน้ำจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ และอ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ส่วนลุ่มน้ำมูลอาศัยอ่างเก็บน้ำลำตะคองและอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง จังหวัดนครราชสีมา ส่วนในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้อาศัยอ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี และใช้เขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท (เป็นเขื่อนทดน้ำไม่สามารถกักเก็บน้ำได้) เป็นระบบส่งน้ำชลประทานเพื่อควบคุมปริมาณน้ำหลากลงท้ายเขื่อนเจ้าพระยาแล้วเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลลงอ่าวไทยทั้งทางฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก รวมทั้งการบริหารจัดการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ให้ระบายน้ำออกสู่ทะเลในช่วงน้ำทะเลลงอย่างเต็มประสิทธิภาพ นอกจากนี้ในส่วนพื้นที่ภาคใต้ที่เกิดอุทกภัยเป็นบริเวณกว้างเนื่องจากพายุดีเปรสชั่นทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก เข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตร แต่ท่วมในระยะเวลาอันสั้น พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด คือ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจของภาคใต้ แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างคลองระบายน้ำภายใต้โครงการบรรเทาอุทกภัยหาดใหญ่อันเนื่องมาจากพระราชดำริและการบริหารจัดการน้ำคลองอู่ตะเภา ทำให้ระดับน้ำท่วมลดลงอย่างรวดเร็วใช้ระยะเวลาเพียง 2 วันเท่านั้น

3. การบริหารจัดการพื้นที่ที่มีการกัดเซาะชายฝั่ง ได้มีการติดตามประเมินผลโครงการปรับปรุงปากแม่น้ำโกลก ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลมาเลเซียในการปรับปรุงปากแม่น้ำโกลกเพื่อรักษาแนวเขตแดนของไทยและมาเลเซียให้มีเสถียรภาพและมีแผนการศึกษาร่วมแบบจำลองชลศาสตร์ด้านการประเมินผลโครงการปรับปรุงปากแม่น้ำโกลกต่อพื้นที่บริเวณชายฝั่ง โดยมุ่งเน้นศึกษาทั้งด้านการกัดเซาะชายฝั่งและผลกระทบของการสร้างโครงการปรับปรุงปากแม่น้ำโกลกต่อพื้นที่โดยรอบในปี พ.ศ. 2555

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 มีนาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ