สรุปสถานการณ์ภัยแล้ง วาตภัย แผ่นดินไหว และการให้ความช่วยเหลือ (ข้อมูล ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 2, 2011 17:17 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อมูลสรุปสถานการณ์ภัยแล้ง วาตภัย แผ่นดินไหว และการให้ความช่วยเหลือ (ข้อมูล ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554) ของกระทรวงมหาดไทย สรุปได้ดังนี้

สรุปสถานการณ์ภัยแล้ง และการให้ความช่วยเหลือ (ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 - 28 กุมภาพันธ์ 2554)

1. การคาดหมายลักษณะอากาศ (ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 6 มีนาคม 2554)

1.1 กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศว่า ในช่วงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม 2554 ลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ได้ในระยะนี้ ส่วนในช่วงวันที่ 2 - 4 มีนาคม 2554 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมทะเลจีนใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ทำให้บริเวณ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงเกิดขึ้นได้ และในช่วงวันที่ 3 - 6 มีนาคม 2554 หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมทะเลจีนใต้ตอนล่าง ประกอบกับมีคลื่นกระแสลมตะวันออกเคลื่อนเข้าปกคลุมปลายแหลมญวน ทำให้บริเวณภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่ง ๆ ถึงกระจายในระยะนี้

1.2 กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ไว้ให้พร้อม เพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันต่อเหตุการณ์

2. สรุปสถานการณ์ภัยแล้ง และการให้ความช่วยเหลือ (ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 - 28กุมภาพันธ์ 2554)

2.1 พื้นที่ประสบภัย 26 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร เชียงราย พะเยา แพร่ ตาก น่านนครสวรรค์ ลำปาง ลำพูน สุโขทัย อุตรดิตถ์ มุกดาหาร เลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานีอุบลราชธานี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สระบุรี สมุทรปราการ จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ตราด ระยอง และจังหวัดสระแก้ว รวม 208 อำเภอ 1,419 ตำบล 14,226 หมู่บ้าน แยกเป็น

ข้อมูลหมู่บ้านที่ประสบภัยแล้งปี 2554 (ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554)

ที่                        พื้นที่ประสบภัย                                                           ราษฎรประสบภัย
       ภาค        จังหวัด    อำเภอ     ตำบล       หมู่บ้าน    รายชื่อจังหวัด                           คน    ครัวเรือน
1      เหนือ          11       88      573       5,270    กำแพงเพชร  เชียงราย ลำพูน
                                                         พะเยา  อุตรดิตถ์ ลำปาง น่าน
                                                         นครสวรรค์ แพร่ สุโขทัย ตาก        1.274,443    435,661
2      ตะวันออก         6      83      627       7,034    อุดรธานี เลย หนองคาย
       เฉียงเหนือ                                          อุบลราชธานี มุกดาหาร หนองบัวลำภู     840,303    171,275
3      กลาง            4      12       56         486    ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สระบุรี
                                                         สมุทรปราการ                       91,320     24,872
4      ตะวันออก         5      25      163       1,436    ฉะเชิงเทรา ตราด จันทบุรี สระแก้ว
                                                         ระยอง                            18,246      5,563
รวมทั้งประเทศ           26     208    1,419      14,226                                  2,224,312    637,371

2.2 ความเสียหาย ได้แก่ ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 2,224,312 คน 637,371 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะเสียหาย 700,354 ไร่ แยกเป็น พื้นที่นา 454,620 ไร่ พื้นที่ไร่ 133,207 ไร่ และพื้นที่สวน 112,527 ไร่

2.3 การให้ความช่วยเหลือ ได้แก่

1) ใช้รถบรรทุกน้ำ 26 คัน แจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคแล้ว จำนวน 1,240,090 ลิตร

2) เครื่องสูบน้ำ 47 เครื่อง

3) ซ่อมสร้างทำนบ/ฝายชั่วคราวปิดกั้นลำน้ำ 447 แห่ง

4) ขุดลอกแหล่งน้ำ 13 แห่ง

5) งบประมาณดำเนินการใช้จ่ายไปแล้ว 57,283,232 บาท แยกเป็น

  • งบทดรองราชการของจังหวัด (50 ล้านบาท) 55,758,242 บาท
  • งบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 1,424,990 บาท
  • งบอื่น ๆ 100,000 บาท

6) กรมชลประทาน ได้จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ 1,458 เครื่อง ปัจจุบันสนับสนุนเครื่องสูบ น้ำแล้ว จำนวน 847 เครื่อง ในพื้นที่ 54 จังหวัด โดยแยกเป็นรายภาค ดังนี้ ภาคเหนือ จำนวน 244 เครื่อง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 330 เครื่อง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก จำนวน 219 เครื่อง และภาคใต้ จำนวน 54 เครื่อง และสนับสนุนรถยนต์บรรทุกน้ำ จำนวน 295 คัน ช่วยเหลือผู้ประสบภัย

7) การประปาส่วนภูมิภาค ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2553 - 24 กุมภาพันธ์ 2554 ได้สนับสนุนจ่ายน้ำช่วยเหลือภัยแล้งไปแล้ว จำนวน 116,476 ล้านลิตร เป็นยอดเงินรวมที่ได้ช่วยเหลือเป็นเงินจำนวน 1,863 ล้านบาท

สรุปสถานการณ์ภัยหนาว และการให้ความช่วยเหลือ (ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 - 28 กุมภาพันธ์ 2554)

1. สถานการณ์ภัยหนาว (ระหว่างวันที่ 1 พ.ย. 2553 - 28 ก.พ. 2554)

ในขณะนี้ได้รับรายงานจังหวัดที่ได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยหนาว) เนื่องจากมีสภาพอากาศหนาว (อุณหภูมิ 8.0 - 15.9 องศาเซลเซียส) ถึงหนาวจัด (อุณหภูมิต่ำกว่า 8.0 องศาเซลเซียส) จำนวน 39 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ ตาก น่าน แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน สุโขทัย อุตรดิตถ์ อุทัยธานี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บุรีรัมย์ มุกดาหาร มหาสารคาม ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สุรินทร์ สกลนคร หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ราชบุรี และจังหวัดชัยนาท รวม 522 อำเภอ 4,178 ตำบล 51,708 หมู่บ้าน

2. การให้ความช่วยเหลือ

2.1 จังหวัดมีเงินทดรองราชการตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 ในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดสำหรับจัดซื้อผ้าห่ม และเครื่องกันหนาวที่จำเป็นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัย เมื่ออุณหภูมิอยู่ในเกณฑ์อากาศหนาว (8.0 - 15.9 องศาเซลเซียส) ถึงหนาวจัด (ต่ำกว่า 8.0 องศาเซลเซียส) ในวงเงินจังหวัดหนึ่งไม่เกินงบประมาณปีละ 1,000,000 บาท แต่ทั้งนี้หากเงินฉุกเฉินดังกล่าวไม่เพียงพอ จังหวัดสามารถแจ้งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอยกเว้นหลักเกณฑ์ เพื่อขอขยายวงเงินทดรองราชการได้อีกตามความเหมาะสมและจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาท ซึ่งมีจังหวัดได้ขอขยายวงเงินและได้รับการอนุมัติ จากกรมบัญชีกลางแล้ว จำนวน 3 ครั้ง รวม 26จังหวัด เป็นเงินรวม 771,269,310 บาท

2.2 กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลาง ได้อนุมัติขยายวงเงิน/ยกเว้นหลักเกณฑ์ ดังนี้

1) ครั้งที่ 1 อนุมัติให้ 16 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย ลำพูน อุดรธานี แม่ฮ่องสอน สกลนคร แพร่ เชียงใหม่ หนองคาย สุรินทร์ กาฬสินธุ์ มุกดาหาร เลย อุบลราชธานี บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และจังหวัดพะเยา ที่ขอยกเว้นการปฏิบัตินอกเหนือหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 ข้อ 5.1.18 โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถใช้จ่ายเงิน ทดรองราชการในอำนาจ (งบ 50 ล้านบาท) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อเครื่องกันหนาวสงเคราะห์ราษฎรในพื้นที่ที่ได้ประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยหนาว) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ได้เท่าที่จ่ายจริงผืนละไม่เกิน 180 บาท อนุมัติขยายวงเงินรวม 481,740,120 บาท

2) ครั้งที่ 2 อนุมัติให้ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ ตาก มหาสารคาม และจังหวัดนครราชสีมา อนุมัติขยายวงเงินรวม 181,835,940 บาท

3) ครั้งที่ 3 อนุมัติให้ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุตรดิตถ์ นครพนม อำนาจเจริญ และจังหวัดร้อยเอ็ด อนุมัติขยายวงเงินรวม 107,693,250 บาท

2.3 จังหวัดที่ได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยหนาว) ทั้ง 39 จังหวัด รายงานว่าได้มอบเครื่องกันหนาวให้แก่ประชาชนที่ขาดแคลนในพื้นที่ โดยได้รับการสนับสนุนผ้าห่มกันหนาวจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เครือเจริญโภคภัณฑ์ สมาคม มูลนิธิ ไปแล้ว รวม 680,890 ชิ้น

2.4 บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้ให้การสนับสนุนผ้าห่มกันหนาว จำนวน 200,000 ผืน เพื่อแจกจ่ายช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาวในพื้นที่ 15 จังหวัด

2.5 หอการค้าไทย-จีน และสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย ได้มอบผ้าห่มช่วยเหลือภัยหนาว จำนวน 2,000 ผืน ผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2553

โดยกระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นหน่วยงานกลางในการนำผ้าห่มกันหนาวไปแจกจ่ายแก่ผู้ประสบภัยหนาวในพื้นที่ต่าง ๆ

2.6 บริษัท ซีพี จำกัด (มหาชน) (เครือเจริญโภคภัณฑ์) ได้ให้การสนับสนุนผ้าห่มกันหนาว จำนวน50,000 ผืน มูลค่า 12.5 ล้านบาท ซึ่งจัดซื้อจากกลุ่มแม่บ้านผู้ผลิตผ้าห่มนวม จังหวัดสกลนคร

ตามนโยบายส่งเสริมอาชีพและช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้นของกระทรวงมหาดไทย และได้มอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล) เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2553 เพื่อแจกจ่ายช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว ในพื้นที่ 10 จังหวัด

2.7 การช่วยเหลือประชาชนของกองทัพไทย

  • นพค. 24 ร่วมกับ สมาคมสโมสรวัฒนธรรมหญิงในพระบรมราชินูปถัมภ์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ นำผ้าห่มและเครื่องนุ่งห่มกันหนาวไปมอบให้กับประชาชนผู้ประสบภัยหนาว ที่จังหวัดมุกดาหาร จำนวน 250 ชุด และจังหวัดหนองคาย จำนวน 50 ผืน

3. สิ่งของพระราชทานช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว

3.1 สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย ได้นำชุดธารน้ำใจพระราชทาน ช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาวในพื้นที่จังหวัดตาก จำนวน 800 ชุด

3.2 กองงานพระวรชายาฯ ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงโปรดให้ผู้แทนพระองค์ เดินทางไปมอบถุงพระราชทานแก่ราษฎรที่ประสบภัยหนาวในพื้นที่ 24 จังหวัด รวมจำนวน 27,600 ถุง นมอัดเม็ดจิตรลดา 1,350 กล่อง และนมสดจิตรลดา 1,350 กล่อง

สรุปสถานการณ์วาตภัย (ระหว่างวันที่ 21 - 28 กุมภาพันธ์ 2554)

ระหว่างวันที่ 21 - 28 กุมภาพันธ์ 2554 ได้เกิดสถานการณ์วาตภัย ฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงในหลายพื้นที่ ทำให้ได้รับความเสียหายใน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตราด จังหวัดชลบุรี และจังหวัดชัยนาท 3 อำเภอ 4 ตำบล บ้านเรือนราษฎรได้รับความเสียหายบางส่วน จำนวน 123 หลัง

สรุปสถานการณ์แผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2554

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอรายงานสถานการณ์แผ่นดินไหวในประเทศลาว ซึ่งมีศูนย์กลางห่างจาก อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน 55 กิโลเมตร ดังนี้

1. ตามที่ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.8 ริกเตอร์ บริเวณเทือกเขา แขวงไชยะบุรี เมืองหงสา ประเทศลาว ศูนย์กลางห่างจากอำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน 55 กิโลเมตร หรือ ที่ละติจูด 18.82 องศาเหนือ ลองจิจูด 101.74 องศาตะวันออก ความลึก 20 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา 22.53 น. และรู้สึกสั่นไหวได้ในพื้นที่จังหวัดแพร่ น่าน เลย อุดรธานี หนองคาย และหนองบัวลำภู (ข้อมูลศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และสำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา)

2. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประสานไปยังสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่ดังกล่าว และที่เทศบาลเมืองน่าน อบต.แม่จริม (อำเภอแม่จริม) โรงพยาบาลจังหวัดเลย โรงแรมเซ็นทารา โฮเต็ล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ อุดรธานี และเขื่อนสิริกิติ์ ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ ดังนี้

2.1 ในพื้นที่จังหวัดเลย รู้สึกสั่นไหวที่โรงพยาบาลจังหวัดเลย (อาคารสูง 6 ชั้น) โรงพยาบาล ภูกระดึง และมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ไม่ได้รับรายงานความเสียหาย

2.2 ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี รู้สึกสั่นไหวที่โรงแรมเซ็นทารา โฮเต็ล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ อุดรธานี ซึ่งเป็นอาคารสูง 14 ชั้น และในพื้นที่อำเภอนายูง และอำเภอน้ำโสม ไม่ได้รับรายงานความเสียหาย

2.3 ในพื้นที่จังหวัดหนองคาย รู้สึกสั่นไหวที่บ้านพักอาศัยซึ่งเป็นบ้านไม้ยกสูง และอาคารสูง ไม่ได้รับรายงานความเสียหาย

2.4 บริเวณเขื่อนสิริกิติ์ ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่า จากการตรวจสอบจากเครื่องวัดแผ่นดินไหวประจำเขื่อน จำนวน 2 เครื่อง (บริเวณสันเขื่อน และบริเวณพื้นที่เขื่อน) ไม่มีการสั่นไหว และจากการตรวจสอบบริเวณรอบๆ ตัวเขื่อน

2.5 ในพื้นที่จังหวัดน่าน แรงสั่นสะเทือนทำให้วิหารหลวงของวัดพระธาตุแช่แห้ง ตำบลม่วงตึ๊ด อำเภอภูเพียง บริเวณผนังวิหาร รอยต่อเสามีรอยร้าวเล็กน้อย ประมาณ 4-5 แห่ง ส่วนองค์พระธาตุแช่แห้ง ไม่ได้รับความเสียหาย จังหวัด สำนักโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด สำนักศิลปากรที่ 7 น่าน ได้เข้าตรวจสอบความเสียหาย พบรอยร้าวดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อโครงสร้างของวิหาร ส่วนในอำเภอต่าง ๆ ไม่ได้รับรายงานความเสียหายแต่อย่างใด

*อนึ่ง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รับรายงานข้อมูลเหตุแผ่นดินไหว (ระหว่างวันที่ 21 - 28 กุมภาพันธ์ 2554 จากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และกรมอุตุนิยมวิทยา ว่าได้เกิดแผ่นดินไหว แต่ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา 09.05 น. แผ่นดินไหวบริเวณประเทศชิลี ขนาด 6.0 ริกเตอร์

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 มีนาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ