ร่างพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 9, 2011 10:33 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

ข้อเท็จจริง

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอว่า

1. เครื่องสำอางเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคทุกเพศทุกวัยใช้ในชีวิตประจำวันและธุรกิจด้านเครื่องสำอางมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบธุรกิจเร่งสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ มีการนำสารเคมีต่าง ๆ รวมทั้งสารจากธรรมชาติมาใช้เป็นส่วนผสม มีสูตร ตำรับและรูปแบบใหม่ๆ เพื่อจูงใจผู้บริโภค มีการใช้เทคนิคต่าง ๆ ในการให้ข้อมูลจูงใจผู้บริโภค ทั้งฉลากและการโฆษณาผ่านสื่อต่าง ๆ ในขณะที่ผู้บริโภคไม่อยู่ในฐานะที่จะทราบความจริงทั้งหมดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ ประกอบกับเครื่องสำอางบางชนิดก็อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ทั้งในระยะสั้น เช่น การระคายเคือง การแพ้ หรือในระยะยาว เช่น พิษสะสมของสารปรอทจากครีมทาฝ้า

2. พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2535 ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน สามารถกำกับดูแลเครื่องสำอางได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถกำกับดูแลเครื่องสำอางได้ครอบคลุมทั่วถึง ประกอบกับบทบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านโฆษณา อาจตีความได้ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ และบางข้อกำหนดเป็นภาระแก่ประชาชนโดยไม่จำเป็น สมควรปรับปรุงกฎ ระเบียบ และลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้เครื่องสำอางได้อย่างมีประสิทธิภาพ และในขณะเดียวกันก็สนับสนุนอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยให้มีศักยภาพในระดับสากลสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

3. นอกจากนี้ประเทศไทยร่วมกับประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียนดำเนินการปรับระบบการกำกับดูแลเครื่องสำอางของประเทศภาคีสมาชิกให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน และได้จัดทำบทบัญญัติเครื่องสำอางแห่งอาเซียน (ASEAN Cosmetic Directive) โดยมีข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งได้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551

4. ดังนั้น เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้เครื่องสำอางและได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเหมาะสม ไม่เป็นเท็จ เกินความจริง หรือก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ โดยมีการกำหนดหน้าที่ ความรับผิดชอบของผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมตามสมควร ตลอดจนจัดให้มีองค์กรของรัฐเพื่อกำกับดูแล และประสานการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่างๆ ในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านเครื่องสำอาง จึงสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยเครื่องสำอางให้ทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและบทบัญญัติเครื่องสำอางอาเซียน (ASEAN Cosmetic Directive) เพื่อให้สามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ และในขณะเดียวกันก็สนับสนุนอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยให้มีศักยภาพในระดับสากลสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. แก้ไขเพิ่มเติมคำนิยามคำว่า เครื่องสำอาง ผลิต ส่งออก โฆษณา ข้อความ ผู้ประกอบธุรกิจ สารสำคัญ ด่านอาหารและยา ผู้รับจดแจ้ง และหน่วยงานของรัฐให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น (ร่างมาตรา 4)

2. ปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเครื่องสำอาง และมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยผู้บริโภค โดยเพิ่มข้อกำหนดเกี่ยวกับภาชนะบรรจุ หลักเกณฑ์วิธีการผลิต วิธีการนำเข้า หรือวิธีการเก็บรักษา วิธีการรายงานอาการที่ไม่พึงประสงค์ ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางซึ่งผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าเครื่องสำอางต้องจัดให้มีไว้เพื่อการตรวจสอบ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภค (ร่างมาตรา 6)

3. แก้ไของค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการเครื่องสำอาง (ร่างมาตรา 7 และร่างมาตรา 11)

4. ปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเครื่องสำอาง โดยกำหนดให้ผู้ประสงค์จะผลิตเพื่อขายหรือนำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางทุกประเภทต้องแจ้งรายละเอียดของเครื่องสำอางต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนผลิตหรือนำเข้า (ร่างมาตรา 14)

5. เพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านการโฆษณา โดยกำหนดให้การโฆษณาต้องไม่ใช้ข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค กรณีที่เห็นว่าเครื่องสำอางอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ให้เลขาธิการมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ให้ผู้บริโภคปฏิบัติได้ (ร่างมาตรา 39 ถึงร่างมาตรา 46)

6. กำหนดขั้นตอน วิธีการ และระยะเวลาเกี่ยวกับการอุทธรณ์ (ร่างมาตรา 55 ถึงร่างมาตรา 59)

7. ปรับปรุงบทกำหนดโทษเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อให้มีความเหมาะสมและมีความชัดเจนยิ่งขึ้น (ร่างมาตรา 60 ถึงร่างมาตรา 66 และร่างมาตรา 68 ถึงร่างมาตรา 83)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 มีนาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ