มติคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 9, 2011 14:08 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง มติคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า เรื่อง แผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์

และพัฒนาบริเวณเมืองเก่าลำพูน

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมติคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ครั้งที่ 1/2553 วันที่ 27 ธันวาคม 2553 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์) ในฐานะประธานกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า เสนอดังนี้

1. เห็นชอบขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าลำพูน

2. เห็นชอบในหลักการแผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่าลำพูน เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงานอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าลำพูน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาและจัดทำรายละเอียดเพื่อดำเนินการต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

รองนายกรัฐมนตรี (พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์) ประธานกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า รายงานว่า

1. ในการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า รัฐบาลกำหนดนโยบายการดำเนินงานเป็นพิเศษเฉพาะพื้นที่ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า พ.ศ. 2546 ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ซึ่งมีหน้าที่วางนโยบายกำหนดพื้นที่จัดทำแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่าโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

2. คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ประชุมครั้งที่ 3/2547 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2547 มีมติเห็นชอบเมืองเก่ากลุ่มที่ 1 ที่จะต้องดำเนินการเป็นลำดับต้น ได้แก่ เมืองเก่าเชียงใหม่ เมืองเก่าลำปาง เมืองเก่ากำแพงเพชร เมืองเก่าลพบุรี เมืองเก่าพิมาย เมืองเก่านครศรีธรรมราช และเมืองเก่าสงขลา

3. คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่าพิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ดังนี้

3.1 คณะอนุกรรมการกลั่นกรองและพิจารณาแผนการดำเนินงานในพื้นที่เมืองเก่า เพื่อให้การดำเนินงานในพื้นที่เมืองเก่าเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า

3.2 คณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าระดับเมืองทั้ง 7 เมือง โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานอนุกรรมการ ผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นอนุกรรมการ มีอำนาจหน้าที่จัดทำแนวทาง มาตรการ ผังแม่บท แผนปฏิบัติการ และระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ ตามที่คณะกรรมการฯ กำหนด

4. โดยเหตุที่พื้นที่เมืองเก่าลำพูนปรากฏร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยทวารวดี ภายในบริเวณเมืองเก่ามีโบราณสถานที่มีคุณค่าจำนวนมาก ซึ่งการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่ามีความจำเป็นต้องมีกรอบแนวทางและขอบเขตพื้นที่เมืองเก่า ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า พ.ศ. 2546 ที่ให้คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่าดำเนินการตามหน้าที่ที่กำหนดในข้อ 9 (1) ให้วางนโยบาย กำหนดพื้นที่ และจัดทำแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ดังนั้น เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าและแผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่าลำพูนแล้ว จังหวัดลำพูนจะได้ใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่เมืองเก่า เพื่อให้บริเวณเมืองเก่าลำพูนได้รับการคุ้มครองดูแลอย่างถูกต้อง เหมาะสม มีการบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรม ทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงและภัยคุกคามในพื้นที่เมืองเก่า

5. ในเมืองเก่ากลุ่มที่ 1 จำนวน 10 เมือง ที่ต้องดำเนินการอนุรักษ์และพัฒนาเป็นลำดับต้น ดังได้กล่าวมาแล้ว เมืองเก่าจำนวน 8 เมือง ได้รับความเห็นชอบกรอบแนวทางและขอบเขตจากคณะรัฐมนตรีแล้วเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2548 และวันที่ 9 พฤศจิกายน 2553 ตามลำดับ สำหรับเมืองเก่าลำพูนซึ่งเสนอคณะรัฐมนตรีเป็นลำดับที่ 9 นี้ เป็นเมืองที่มีลักษณะและวิวัฒนาการทางสังคมที่สืบต่อมาจากยุคต่างๆ มีรูปแบบของสถาปัตยกรรม ศิลปะ และหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่ปรากฏชัดเจน เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ต้องรักษาให้ดำรงอยู่ และมีที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ซึ่งมีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ดังนั้น เพื่อมิให้มีการทำลายหลักฐานที่สำคัญและอนุรักษ์เมืองเก่าไว้เป็นมรดกของอนุชนรุ่นหลัง ตลอดจนเพื่อเป็นฐานในการพัฒนาเชิงท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องกำหนดเขตพื้นที่ และจัดทำแผนแม่บทและผังแม่บทเพื่อให้การพัฒนาพื้นที่สอดคล้องกับแนวทางการอนุรักษ์

6. คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ประชุมครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2553 ได้พิจารณาแผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่าลำพูน มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

6.1 ขอบเขตเมืองเก่า

กำหนดขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าที่มีความสำคัญที่ต้องเร่งวางแผนการอนุรักษ์และพัฒนา เพื่อให้สามารถดูแลรักษามรดกทางวัฒนธรรม และป้องกันภัยคุกคามจากภายนอกที่จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ และส่งเสริมทัศนียภาพขององค์พระบรมธาตุให้เด่นชัด รวม 2 พื้นที่ ดังนี้

6.1.1 พื้นที่หลัก เนื้อที่รวม 0.135 ตารางกิโลเมตร (84.33 ไร่)

6.1.2 พื้นที่ต่อเนื่อง เนื้อที่รวม 0.513 ตารางกิโลเมตร (320.84 ไร่)

6.2 ยุทธศาสตร์การอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าลำพูนมี 3 ยุทธศาสตร์ได้แก่

6.2.1 ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนากลไกและกระบวนการบริหารจัดการเมืองเก่าลำพูนแบบบูรณาการ ประกอบด้วย 6 แผนงาน 8 โครงการ

6.2.2 ยุทธศาสตร์ที่ 2 ฟื้นฟู ดูแลรักษาแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิทัศน์เมืองเก่าลำพูน ประกอบด้วย 2 แผนงาน 11 โครงการ

6.2.3 ยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และเสริมสร้างความเข้าใจถึงประโยชน์ของเมืองเก่า และรักษาเมืองเก่าให้เป็นแหล่งเรียนรู้อย่างยั่งยืน ประกอบด้วย 3 แผนงาน 5 โครงการ

โดยในแต่ละโครงการมีรายละเอียดประกอบด้วยหลักการและเหตุผล วัตถุประสงค์ แนวทางการดำเนินงาน สถานที่ดำเนินงาน ระยะเวลาดำเนินงาน งบประมาณ แหล่งงบประมาณ หน่วยงานรับผิดชอบหลัก/สนับสนุน และผลที่คาดว่าจะได้รับ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 มีนาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ