เรื่อง ขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรี และขออนุมัติโครงการส่งเสริมการวิจัย การพัฒนานักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และการสงเคราะห์ผู้ป่วย
เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอดังนี้
1. ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2530 จากเดิมความว่า “เห็นควรให้จัดตั้งศูนย์วิจัยจุฬาภรณ์ เป็นองค์กรหรือหน่วยงานภายใต้มูลนิธิจุฬาภรณ์ โดยให้ทบวงมหาวิทยาลัย (ทม.) กำกับดูแล เพื่อให้สามารถดำเนินงานไปได้ราบรื่นอย่างต่อเนื่อง และให้สำนักงบประมาณ (สงป.) จัดสรรงบประมาณให้ ทม. เป็นเงินอุดหนุนแก่มูลนิธิจุฬาภรณ์ ปีละ 20 ล้านบาทต่อไป และให้ทุกหน่วยงานของรัฐให้ความร่วมมือในการอนุมัติให้ข้าราชการหรือพนักงานไปทำงานในศูนย์ดังกล่าวได้โดยให้ถือว่าไปปฏิบัติหน้าที่ราชการ” เป็น “ให้ สงป. จัดสรรเงินงบประมาณให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ศธ. เป็นเงินอุดหนุนแก่มูลนิธิจุฬาภรณ์ เพื่ออุดหนุนสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็นการประจำตามความจำเป็นทุกปี และให้ทุกหน่วยงานของรัฐให้ความร่วมมือในการอนุมัติให้ข้าราชการหรือพนักงานไปทำงานในสถาบันดังกล่าวได้โดยให้ถือว่าไปปฏิบัติหน้าที่ ราชการ”
2. เห็นชอบในหลักการโครงการส่งเสริมวิจัย การพัฒนานักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และการสงเคราะห์ผู้ป่วยเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา โดยให้กระทรวงศึกษาธิการขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความเหมาะสมและจำเป็นตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงศึกษาธิการ รายงานว่า
1. มูลนิธิจุฬาภรณ์ได้มีการจัดตั้งหน่วยงานเพิ่มขึ้นและขยายภารกิจมากขึ้นภายใต้สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โครงสร้างการจัดหน่วยงานของสถาบันที่เน้นภารกิจด้านการวิจัย งานวิชาการ และการฝึกอบรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่อาจรองรับการขยายงานด้านโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ซึ่งเน้นการวิจัยศึกษาและบำบัดโรคมะเร็ง และโรคลมชักได้ทั้งหมด
เพื่อเอื้ออำนวยต่อการบริหารและการดำเนินงานของทุกหน่วยงานให้คล่องตัวและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์จึงเห็นควรขอเปลี่ยนแปลงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2530 ให้เหมาะสมยิ่งขึ้นเป็นไปตามข้อเสนอในข้อ 1.
2. ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มูลนิธิจุฬาภรณ์ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ ได้จัดให้มีโครงการส่งเสริมการวิจัย การพัฒนานักวิจัยนักวิทยาศาสตร์และการสงเคราะห์ผู้ป่วย เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา ดังนี้
2.1 โครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อการวิจัยและพัฒนายา ดำเนินการโดยสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์และโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการวิจัยและผลิตยาคุณภาพ เป็นการตอบสนองนโยบายแห่งชาติด้านยา ฉบับที่ 2 ข้อ 3 “ให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตยาภายในประเทศให้สามารถพึ่งตนเองได้ โดยเน้นการวิจัยและพัฒนา และส่งเสริมการผลิตเพื่อการส่งออก”
2.2 โครงการผลิตนักวิทยาศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา ดำเนินการโดยสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับสถาบันบัณฑิตจุฬาภรณ์และมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนการผลิตนักวิทยาศาสตร์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา
2.3 โครงการจัดตั้งคลังชีววัตถุและวิจัยเรื่องมะเร็งตับและท่อน้ำดี (Live Cancer and Cholangiocarcinoma) ดำเนินการโดยสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สธ. คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งคลังชีววัตถุและวิจัยเรื่องมะเร็งตับและท่อน้ำดี พร้อมด้วยกลุ่มควบคุมที่เหมาะสมในจำนวนที่สามารถดำเนินการวิจัยในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ
2.4 เงินทุนศูนย์มะเร็ง ก่อตั้งโดยโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ประกอบด้วย
2.4.1 เงินทุนเพื่อการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ สำหรับผู้ที่ไม่สามารถช่วยตนเองได้ โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงตระหนักดีว่า มีผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งจำนวนมากที่ไม่สามารถช่วยตนเองได้ ประกอบกับค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งมีราคาสูงมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดโครงการให้บริการคัดกรอง และรักษาโรคมะเร็ง โดยผู้รับบริการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
2.4.2 เงินทุนวิจัยโรคมะเร็งระยะยาว จัดตั้งโดยศูนย์มะเร็งโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เพื่อดำเนินงานวิจัยผสมผสานควบคู่ไปกับการให้บริการ ที่มุ่งสร้างฐานข้อมูล ฐานความรู้ และฐานชีววัตถุ เพื่อการวิจัยระยะยาว ที่ผลการวิจัยจะเป็นประโยชน์ในการป้องกัน และดูแลรักษาผู้ป่วย ตลอดจนการให้ความรู้ที่มีหลักฐานแก่ประชาชน และเป็นหลักฐานข้อมูลเพื่อการวางนโยบายสาธารณะ ในการวิจัยนี้ จำเป็นต้องทำการศึกษาติดตามผู้ป่วยและประชากรที่ศึกษาเป็นระยะยาว อย่างน้อย 5 — 10 ปี
3. ในการดำเนินงานโครงการข้างต้น มีส่วนราชการและสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ให้ความร่วมมือ ดังนี้
3.1 ส่วนราชการ 3 แห่ง คือ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สธ. คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
3.2 สถาบันอุดมศึกษาเอกชน 1 แห่ง คือ สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ โดยมูลนิธิจุฬาภรณ์ เป็นผู้รับใบอนุญาต ได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2548 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาที่มีคุณภาพในสาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสาขาที่มีความต้องการสูง เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานและการพัฒนาประเทศ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 มีนาคม 2554--จบ--