แผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ประจำปี พ.ศ.2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 9, 2011 15:06 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ประจำปี พ.ศ. 2554 ตามที่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ ดังนี้

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รายงานว่า

1. เนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (11 พ.ค. 53) ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์รับทราบเจตนารมณ์ ทิศทางของรัฐบาล และความร่วมมือในการดำเนินงานต่อต้านการค้ามนุษย์ โดย พม. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และสำนักงานอัยการสูงสุดจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ประจำปี พ.ศ. 2554 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

1.1 ขับเคลื่อนนโยบาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์สู่การปฏิบัติ

1.2 ตรวจสอบความเป็นไปได้ และข้อจำกัดในการนำมาตรการมาปฏิบัติ

1.3 ใช้เป็นข้อมูลประกอบการรายงานผลความก้าวหน้าในการดำเนินงานประจำปีในการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ ประจำปี พ.ศ. 2554 โดยขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งข้อมูลโครงการ/กิจกรรม/งานที่สอดคล้องกับมาตรการต่าง ๆ ตามนโยบายยุทธศาสตร์ และมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (พ.ศ. 2554 — 2559)และได้เชิญประชุมปฏิบัติการเพื่อหารือร่วมกันในการบูรณาการ และเชื่อมโยงการดำเนินงานตามมาตรการต่าง ๆ ในการต่อต้านการค้ามนุษย์ พร้อมทั้งรับฟังและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

2. ผลของการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานในการขับเคลื่อนโยบายยุทธศาสตร์ และมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (พ.ศ. 2554 — 2559) พบว่า เป้าหมายในการดำเนินงานร่วมกัน คือ คุ้มครองการเคลื่อนย้ายแรงงานมิให้ตกอยู่ในกระบวนการค้ามนุษย์ โดยใช้ข้อมูลบ่งชี้เชิงปริมาณเพื่อแสดงให้เห็นถึงจำนวนผู้ที่เคลื่อนย้ายแรงงานเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์ลดลง ด้วยการจัดลำดับและให้ความสำคัญกับงานตามประเด็นยุทธศาสตร์ เป็นอันดับแรก คือ

2.1 การรณรงค์ และประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อทุกประเภทเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเข้าใจถึงการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างปลอดภัย และความเสี่ยงที่นำไปสู่การค้ามนุษย์

2.2 การพัฒนาศักยภาพ และทัศนคติของบุคลากรในการบังคับใช้กฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึง การตรวจสอบ สืบสวนและรายงานหลักฐานอย่างครบวงจรเพื่อเอาผิดกับผู้อยู่ในกระบวนการค้ามนุษย์

2.3 การคุ้มครองและช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการพัฒนาความร่วมมือกับประเทศต้นทางเพื่อส่งตัวผู้เสียหายกลับโดยเร็วพร้อมกับสร้างแนวทางที่มิให้กลับเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์อีก

2.4 การสร้างความร่วมมือในการเจรจาระหว่างประเทศในประเด็นการย้ายถิ่นอย่างปลอดภัย

2.5 การสร้างระบบข้อมูลของกระบวนการคุ้มครอง และดำเนินคดี

ดังนั้นในงบประมาณ พ.ศ.2554 ซึ่งเป็นปีแรกของการขับเคลื่อนนโยบาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (พ.ศ.2554 — 2559) จึงได้มีโครงการ/งาน/กิจกรรม ซึ่งขับเคลื่อนมาตรการโดยตรงนอกเหนือจากการดำเนินภารกิจปกติ จำนวน 94 เรื่อง โดยใช้งบประมาณประจำปีของแต่ละหน่วยงาน และของกองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์

3. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในคราวประชุมครั้งที่ 4/2553 เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2553 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ประจำปี พ.ศ.2554 และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 มีนาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ