ผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่สาธารณประโยชน์ ที่ดินเอกชนปล่อยทิ้งร้าง และเหมืองแร่

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 9, 2011 15:10 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่สาธารณประโยชน์ ที่ดินเอกชนปล่อยทิ้งร้างและเหมืองแร่ ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ

ตามคำสั่งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ที่ 1/2552 ลงวันที่ 24 มีนาคม 2552 ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายถาวร เสนเนียม) เป็นประธานในคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่สาธารณประโยชน์ ที่ดินเอกชนปล่อยทิ้งร้าง และเหมืองแร่ เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้องของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย รวม 3 กรณี 19 ปัญหา นั้น

คณะอนุกรรมการฯ ได้จัดให้มีการประชุมเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้องของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยแล้ว 6 ครั้ง ซึ่งสรุปได้ดังนี้

1. กรณีปัญหาที่สาธารณประโยชน์

1.1 ยุติปัญหาแล้ว 12 ปัญหา ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด เชียงราย พะเยา ชัยภูมิ ยโสธร และ กรุงเทพมหานคร โดยให้นำนโยบายเรื่องโฉนดชุมชนมาใช้ในการแก้ไขปัญหา

1.2 อยู่ระหว่างการดำเนินการของจังหวัด 5 ปัญหา ในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิและร้อยเอ็ด

2. กรณีปัญหาที่ดินเอกชนปล่อยทิ้งร้าง

2.1 โครงการนำร่องเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกรรายย่อยไทยเข้มแข็งภายใต้กองทุนธนาคารที่ดิน

รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงมหาดไทย (นายถาวร เสนเนียม) ในฐานะประธานอนุกรรมการฯ ได้เสนอให้มีการจัดซื้อที่ดิน เพื่อดำเนินการเป็นพื้นที่นำร่องในรูปแบบของธนาคารที่ดิน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้อนุมัติในหลักการ โดยให้การสนับสนุนงบประมาณ เป็นเงินจำนวน 167,960,000 บาท (หนึ่งร้อยหกสิบเจ็ดล้านเก้าแสนหกหมื่นบาทถ้วน) ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 อนุมัติงบประมาณรายจ่าย งบกลางรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 งบกลางรายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ “โครงการนำร่องการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกรรายย่อยไทยเข้มแข็งภายใต้นโยบายกองทุนธนาคารที่ดิน” วงเงิน 167,960,000 บาท (หนึ่งร้อยหกสิบเจ็ดล้านเก้าแสนหกหมื่นบาทถ้วน) ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ

คณะอนุกรรมการฯ ได้ดำเนินการ โดยมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานจัดหาเพื่อใช้เป็นพื้นที่นำร่องเรื่องธนาคารที่ดินเพื่อรองรับนโยบายการกระจายการถือครองที่ดินของรัฐบาลจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูน ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูนเป็นประธาน หน่วยงานราชการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) และผู้แทนภาคประชาชน เป็นคณะทำงาน ทำหน้าที่พิจารณาในการจัดซื้อที่ดินในพื้นที่นำร่อง รวม 5 พื้นที่ โดยมีคณะทำงานเร่งรัดติดตามผลการดำเนินการจัดหาที่ดินและการจัดทำโครงการนำร่อง เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกรรายย่อยภายใต้นโยบายกองทุนธนาคารที่ดินของจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูนติดตามผลการดำเนินการตามโครงการดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

2.2 ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) พ.ศ. ....

นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบแนวคิดการจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินตามที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายถาวร เสนเนียม) ในฐานะประธานอนุกรรมการฯ เสนอ และให้ยกร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ดังกล่าว ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2553 เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) พ.ศ. .... โดยส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา และคณะกรรมการกฤษฎีกาฯ ได้กำหนดพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554 สำหรับขั้นตอนในการจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ได้พิจารณา ยกเว้นการใช้มาตรการระงับการจัดตั้งองค์การมหาชนแล้ว เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2554

2.3 การตรวจสอบเอกสารสิทธิที่ออกตามโครงการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินบริเวณบ้านสันตับเต่า หมู่ที่ 17 ตำบลบ้านโฮ่ง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน และบริเวณที่ดินโครงการจัดที่ดินผืนใหญ่ 15,000 ไร่ ตำบลหนองปลาสวาย อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน

เรื่องนี้ คณะอนุกรรมการฯ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานฯ ให้ดำเนินการตรวจสอบเอกสารสิทธิในพื้นที่ดังกล่าวว่า มีลักษณะพื้นที่เป็นอย่างไร มีใครเป็นเจ้าของ ออกเอกสารสิทธิเมื่อไหร่ ออกโดยวิธีใด เป็นการออกโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งกรมที่ดิน (โดยสำนักมาตรฐานการออกหนังสือสำคัญ) ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินจำนวน 21 แปลง และ 49 แปลง ตามลำดับ โดยกระทรวงมหาดไทยได้มีคำสั่งที่ 97/2554 ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2554 แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบเอกสารสิทธิบริเวณโครงการจัดที่ดินผืนใหญ่ 15,000 ไร่ ตำบลหนองปลาสวาย อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าเอกสารสิทธิบริเวณดังกล่าวได้ออกไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

3. กรณีปัญหาเหมืองแร่

เรื่องนี้เป็นกรณีที่กลุ่ม คปท. คัดค้านการต่ออายุประทานบัตรการทำเหมืองแร่ของโรงโม่หินศักดิ์ชัย จากการดำเนินการและตรวจสอบปรากฏว่า พื้นที่บริเวณดังกล่าวได้ค้นพบแหล่งโบราณคดี ประธานอนุกรรมการฯ จึงได้มีการประสานกรมศิลปากรจนได้มีการประกาศให้บริเวณนี้เป็นเขตโบราณสถานแล้ว ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ที่ขออนุญาตประทานบัตร และกรมศิลปากรมีความเห็นว่า หากจังหวัดชัยภูมิจะพิจารณาต่ออายุประทานบัตรเหมืองแร่ ต้องกันแนวเขตพื้นที่ที่จะขอต่ออายุประทานบัตรให้ห่างจากแหล่งโบราณคดีไม่น้อยกว่า 500 เมตร และต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมศิลปากรด้วย จึงแจ้งให้จังหวัดชัยภูมิทราบเพื่อให้ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

4. การดำเนินการพื้นที่นำร่องในที่ดินสาธารณประโยชน์ เพื่อดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วย การจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553

กรณีพื้นที่นำร่องในที่ดินสาธารณประโยชน์ที่อยู่ในความรับผิดชอบของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) ซึ่งผ่านการพิจารณาของ ปจช. จำนวน 10 พื้นที่ รวม 5 จังหวัด นั้น กรมที่ดินได้พิจารณาอนุญาตให้ชุมชนใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐตามมาตรา 12 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ปรากฏว่าชุมชนที่อยู่ในที่สาธารณประโยชน์ “ดอนฮังเกลือ” อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในรูปแบบกลุ่มเกษตรกรและได้ยื่นคำขอสัมปทานตามมาตรา 12 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ทำการรังวัดชันสูตรสอบสวน ตรวจสอบที่ดินบริเวณที่ขอสัมปทานและดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำแผนที่ตามมาตรา 12 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของราษฎรในพื้นที่ ซึ่งได้กำหนดวันประชุมราษฎร เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2554 สำหรับชุมชนอื่นๆ อยู่ระหว่างยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เมื่อได้หนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว จะได้ไปดำเนินการขอสัมปทาน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 มีนาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ