ผลการเยือนสาธารณรัฐตุรกีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 9, 2011 15:39 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการเยือนสาธารณรัฐตุรกีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต่างๆ ประสานงานและติดตามความคืบหน้าผลการเยือนสาธารณรัฐตุรกีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ได้รายงานผลการเยือนสาธารณรัฐตุรกีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 22-25 ธันวาคม 2553 มาเพื่อดำเนินการ ซึ่งสรุปได้ดังนี้

1. วัตถุประสงค์การเยือน

1.1 เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีกับตุรกี ชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของไทย และริเริ่มการเป็นประเทศหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (strategic partner) ระหว่างไทยกับตุรกี

1.2 เพื่อส่งเสริมการรู้จักซึ่งกันและกัน พร้อมทั้งสร้างความตระหนักรู้ (awareness) เกี่ยวกับไทยและศักยภาพของไทย ให้เป็นที่รู้จักของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนตุรกี

1.3 เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างภาคเอกชนไทยกับตุรกี ทั้งในด้านการค้า การลงทุน และการร่วมลงทุนในประเทศที่สาม โดยใช้ประโยชน์จากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของทั้งไทยและตุรกี ในการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคใกล้เคียง ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกัน

1.4 เพื่อเรียนรู้ความก้าวหน้าของตุรกีในสาขาที่ตุรกีมีความเชี่ยวชาญ เช่น การท่องเที่ยว พลังงานทดแทน (พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์) อุตสาหกรรมและเทคโนโลยีทางทหาร ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาต่อไป

1.5 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านวิชาการระหว่างไทยกับตุรกี โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับประเทศไทยในแวดวงวิชาการของตุรกี

1.6 เพื่อศึกษาและแลกเปลี่ยนแนวทางในการสร้างสังคมพหุวัฒนธรรม (multicultural society) จากตุรกี ซึ่งเป็นประเทศมุสลิมที่เป็น secular state ที่มุ่งมั่นสู่การเป็นสังคมประชาธิปไตย

2. ผลการพบหารือ

2.1 ภาครัฐตุรกี

2.1.1 การหารือกับนายซาแฟร์ ชาลายาน (Zafer ?a?layan) รัฐมนตรีการค้าต่างประเทศตุรกี

ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันในเรื่องศักยภาพของไทยและตุรกี และการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน ทั้งในระดับทวิภาคีและความร่วมมือระหว่างกันในประเทศที่สาม โดยไทยและตุรกีสามารถใช้แต่ละฝ่ายเป็นประตู (entry point) และศูนย์กลาง (hub) กระจายสินค้า และฐานการผลิต เพื่อเข้าสู่ภูมิภาคใกล้เคียงของกันและกัน

ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนคณะผู้แทนภาคเอกชน และการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าของกันและกันอย่างสม่ำเสมอ โดยตั้งเป้าหมายให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนของคณะผู้แทนทางเศรษฐกิจ 4 ครั้งในปี 2554 พร้อมทั้งเห็นพ้องที่จะเร่งรัดการจัดทำความตกลงที่คั่งค้างให้แล้วเสร็จ เช่น บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร และความตกลงว่าด้วยความร่วมมือและความช่วยเหลือระหว่างกันทางด้านศุลกากร เป็นต้น และส่งเสริมให้ดำเนินความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมภายใต้ความตกลงที่ได้ลงนามไปแล้ว ซึ่งฝ่ายไทยได้เชิญชวนนายชาลายานมาเยือนประเทศไทยในปี 2554 ซึ่งนายชาลายานตอบรับในหลักการที่จะเยือนไทยในโอกาสแรกพร้อมด้วยคณะผู้แทนจากภาคเอกชน

2.1.2 การหารือกับนายอาห์เหม็ด ดาวูโตลู (Ahmet Davuto?lu) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศตุรกี

ไทยและตุรกีมีประวัติศาสตร์ทางการเมืองและกระบวนการพัฒนาประเทศที่คล้ายคลึงกัน ดังนั้น ฝ่ายตุรกีจึงมีความเข้าใจประวัติศาสตร์และพัฒนาการทางการเมืองของไทยเป็นอย่างดี และให้การสนับสนุนการพัฒนาประชาธิปไตยของรัฐบาลไทย ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องถึงความสำคัญของกันและกัน ทั้งในเรื่อง (1) ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของไทยและตุรกีในการเป็นประตูและศูนย์กลางเข้าสู่ภูมิภาคใกล้เคียงของกันและกัน และ (2) การทวีบทบาทที่สำคัญในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทการเป็นผู้นำในภูมิภาคของตน

ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น และให้ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการทหาร เพื่อริเริ่มการเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน รวมทั้งการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูง การเร่งรัดจัดทำความตกลงที่คั่งค้างให้แล้วเสร็จ ความร่วมมือไตรภาคีระหว่างไทยกับตุรกีเพื่อการพัฒนาในประเทศที่สาม การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางในการแก้ปัญหาที่ไทยและตุรกีประสบร่วมกัน เช่น ปัญหากับประเทศเพื่อนบ้าน ปัญหาชนกลุ่มน้อย (ชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ดของตุรกี ชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย) การแก้ไขและป้องกันลัทธิสุดโต่ง (anti-extremism) การส่งเสริมความอดทนอดกลั้น (tolerance) และการอยู่ร่วมกันโดยสันติของชุมชนต่างศาสนา (interfaith dialogue) เป็นต้น ในการนี้ นายดาวูโตลูได้เสนอให้ไทยพิจารณารับเป็นเจ้าภาพการจัดการประชุมประจำปี Alliance of Civilizations (AoC) ในปี 2556

ในโอกาสนี้ ฝ่ายไทยได้เชิญประธานาธิบดีตุรกี นายกรัฐมนตรีตุรกี และนายดาวูโตลูเยือนไทยในปี 2554 หลังจากที่ตุรกีได้ลงนามเป็นอัครภาคี (high contracting party) ของสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในภูมิภาค เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia - TAC) แล้วเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2553 ซึ่งนายดาวูโตลูเห็นพ้องเรื่องการเยือนระดับสูงและยืนยันว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในความสำคัญลำดับต้น (priority) ของนโยบายต่างประเทศตุรกี

2.2 ภาคเอกชนตุรกี

ฝ่ายไทยได้พบและหารือกับผู้แทนระดับสูงจากภาคเอกชนตุรกี ได้แก่ (1) นายรึซานูร์ เมราล (R?zanur Meral) ประธานสมาพันธ์นักธุรกิจและนักอุตสาหกรรมตุรกี (Turkish Confederation of Businessmen and Industrialists -TUSKON) (2) นายริฟัต ฮิซาร์จึกลึโอลู (Rifat Hisarc?kl?o?lu) ประธานสภาหอการค้าตุรกี (Union of Chambers and Commodity Exchanges of Turkey - TOBB) และ (3) นักธุรกิจตุรกีจากคณะกรรมการว่าด้วยความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศ (Foreign Economic Relations Board -DEIK) และได้กล่าวสรุปเกี่ยวกับศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อได้เปรียบด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของไทย และ การสร้างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community — AEC) ภายในปี 2558

ฝ่ายตุรกีเสนอให้มีการจัดทำความตกลงด้านการคมนาคมขนส่ง และความตกลงว่าด้วยเรื่องศุลกากรระหว่างไทยกับตุรกี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของไทยและของตุรกีให้สอดคล้องกัน เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าและลดอุปสรรคทางเทคนิคและข้อจำกัดทางการค้าที่จะส่งผลต่อการไหลเวียนอย่างมีประสิทธิภาพของสินค้า

2.3 ภาควิชาการตุรกี

2.3.1 กิจกรรมที่มหาวิทยาลัย Middle East Technical University (METU) ฝ่ายไทยได้เปิด Thai Corner ในห้องสมุดของมหาวิทยาลัย Middle East Technical University (METU) และบรรยายสรุปเรื่องนโยบายต่างประเทศเชิงรุกของประเทศไทยให้กลุ่มอาจารย์และนักศึกษาวิชาเอเชียศึกษา ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยฯ ได้แสดงความสนใจที่จะแลกเปลี่ยนคณาจารย์และนักศึกษากับมหาวิทยาลัยของไทยด้วย

2.3.2 การศึกษาวิจัยประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรสยามกับจักรวรรดิออตโตมัน ฝ่ายไทยได้พบหารือกับ ดร. อิสมาอิล ฮักกึ คาดึ (Ismail Hakk? Kad?) นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ซึ่งได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) เพื่อศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรสยามกับจักรวรรดิออตโตมัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการและความสัมพันธ์ระดับประชาชนระหว่างไทยกับตุรกี

2.4 การให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนตุรกี

ฝ่ายไทยได้ให้สัมภาษณ์สื่อหนังสือพิมพ์ตุรกี 2 ฉบับ ได้แก่ Hurriyet Daily News & Economic Review และ Today’s Zaman ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษ โดยฝ่ายไทยได้กล่าวถึงประเด็นสำคัญต่างๆ ได่แก่ พัฒนาการทางการเมืองและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน ความสำคัญและศักยภาพของไทยและตุรกี การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับตุรกี เพื่อมุ่งสู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน ผลการหารือกับฝ่ายตุรกีที่ประสบความสำเร็จอย่างดี ความสำคัญของการส่งเสริมการรู้จักซึ่งกันและกัน และการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับศักยภาพของไทยและตุรกีในภาคเอกชนและประชาชน

2.5 การพบกับชุมชนไทย และนักเรียนไทยในนครอิสตันบูล

ได้พบปะกับชุมชนชาวไทยในนครอิสตันบูลและนักเรียนไทยในตุรกี เพื่อรับทราบสภาพปัญหาพร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางในการปรับปรุงความเป็นอยู่ของคนไทยและนักเรียนไทยในตุรกี โดยกระทรวงการต่างประเทศมีโครงการที่จะส่งข้าราชการมาประจำที่นครอิสตันบูล เพื่อดูแลทุกข์สุขของคนไทย อันเป็นไปตามแนวนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่จะดูแลคนไทยทุกคนอย่างไม่เลือกปฏิบัติ ทั้งที่อยู่ในประเทศและต่างประเทศ

3. การประชุมหารือระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสว่าด้วยความร่วมมือและความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ (Thai-Turkey Economic and Cooperation Consultation)

เป็นการประชุมขนานกับการเยือนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเพื่อแสวงหาลู่ทางความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและวิชาการอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ การหารือฯ เป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบจากประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ (Joint Commission on Economic and Technical Cooperation — JC) ครั้งที่ 4 ที่มีความจำเป็นต้องเลื่อนออกไป เนื่องจากการที่ฝ่ายตุรกียืนยันที่จะลงนามในบันทึกผลการประชุมฯ ในขณะที่ฝ่ายไทยมีประเด็นด้านเทคนิคของกระบวนการทางกฎหมายภายใน ตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ซึ่งการหารือ Thai-Turkey Economic and Cooperation Consultation เป็นไปในบรรยากาศที่เป็นมิตรและประสบผลสำเร็จด้วยดี

4. กต. พิจารณาแล้วมีข้อสังเกต ดังนี้

4.1 การเยือนตุรกีครั้งนี้เป็นการเปิดบทใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับตุรกีหลังจากที่ได้ว่างเว้นไประยะหนึ่ง และเป็นการกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน การตอบรับของฝ่ายตุรกีที่จะส่งผู้แทนระดับสูงเยือนไทยในปี 2554 สะท้อนให้เห็นว่า ตุรกีให้ความสำคัญกับไทย เช่นกัน

4.2 การที่ตุรกีทวีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในเวทีการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และความพร้อมของตุรกีที่จะมีบทบาทเป็นผู้นำในภูมิภาคและสามารถ “เล่นไพ่” ได้ทุกใบ ไม่ว่าจะเป็นอิหร่าน ตะวันออกกลาง อัฟกานิสถาน อิรัก สหรัฐอเมริกา จีน เอเชียกลาง และแอฟริกา ทำให้ไทยต้องทบทวนแนวทางและกำหนดนโยบายการดำเนินความสัมพันธ์กับตุรกีใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

4.3 การเยือนครั้งนี้ส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายต้องเร่งส่งเสริมการรู้จักและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับศักยภาพของกันและกัน ซึ่งเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะต้องขับเคลื่อนให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างภาคเอกชน พร้อมทั้งศึกษาและระบุสาขาความเชี่ยวชาญเฉพาะ (niche) เพื่อชี้ช่องทางความร่วมมือ และโอกาสทางเศรษฐกิจระหว่างกัน

4.4 ไทยควรส่งเสริมความร่วมมือกับตุรกีในอุตสาหกรรมก่อสร้างและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง การสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาคตาม Master Plan on ASEAN Connectivity ตลอดจนสร้างองค์ความรู้ในด้านการพัฒนาระบบการส่งสินค้าข้ามชายแดน (border gate) ของตุรกีที่ทำให้สามารถขนส่งสินค้าได้อย่างรวดเร็ว การส่งเสริมการอดทนอดกลั้น และการอยู่ร่วมกันโดยสันติของชุมชนต่างศาสนา เป็นต้น

ตารางติดตามผลการเยือนสาธารณรัฐตุรกีของนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 22-25 ธันวาคม 2553

          เรื่อง                                                  หน่วยงานที่รับผิดชอบ
          1.  การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูง                 กระทรวงการต่างประเทศ / กระทรวงพาณิชย์ /
                                                                กระทรวงกลาโหม / กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ /
                                                                กระทรวงศึกษาธิการ / กระทรวงพลังงาน /
                                                                กระทรวงคมนาคม / กระทรวงวิทยาศาสตร์และ
                                                                เทคโนโลยี / กระทรวงอุตสาหกรรม / กระทรวง
                                                                การท่องเที่ยวและกีฬา /  สภาหอการค้าแห่ง
                                                                ประเทศไทย /
                                                                สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย / สำนักงานผู้แทน
                                                                การค้าไทย / และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ
          2. การจัดการประชุมสัมมนาเรื่องศักยภาพทางเศรษฐกิจของตุรกี       กระทรวงการต่างประเทศ
          โดยเชิญผู้แทนจากภาคเอกชนเข้าร่วมการประชุมสัมมนา โดยมี
          วัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและการตระหนักถึงศักยภาพ
          ทางเศรษฐกิจของตุรกี พร้อมทั้งสนับสนุนการดำเนินความสัมพันธ์
          ทางเศรษฐกิจของภาคเอกชน
          3. การส่งเสริมให้มีการดำเนินความร่วมมือระหว่างกันภายใต้
          ความตกลงที่ได้ลงนามไปแล้ว เพื่อให้เกิด
          ความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม
              -   ความตกลงทางการค้าระหว่างไทย-ตุรกี
              -   ความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศระหว่างไทย-       กระทรวงพาณิชย์
          ตุรกี                                                   กระทรวงคมนาคม (กรมการขนส่งทางอากาศ)
              -   ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือ        กระทรวงการต่างประเทศ
          เดินทางทูต หนังสือเดินทางราชการ และหนังสือเดินทางพิเศษ
              -   ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและ           กระทรวงการต่างประเทศ
          วิชาการไทย-ตุรกี
              -   ความตกลงทางวัฒนธรรมไทย-ตุรกี                     กระทรวงการต่างประเทศ
              -   ข้อตกลงจัดตั้งกลไกการหารือระหว่างกระทรวงการ         กระทรวงการต่างประเทศ
          ต่างประเทศไทยกับกระทรวงการต่างประเทศตุรกี
              -   ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม             กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
              -   อนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและป้องกันการ        กระทรวงการคลัง (กรมสรรพากร)
          เลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีที่เก็บจากเงินได้
              -   ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และ         กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
          เทคโนโลยี
              -   ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนต่าง       กระทรวงการต่างประเทศ
          ตอบแทน
              -   บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านมาตรฐาน         กระทรวงอุตสาหกรรม
          อุตสาหกรรม
              -   ความตกลงเพื่อความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว             กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
              -   ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสภาหอการค้า        สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
          ของตุรกีกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
          4. การเร่งรัดการจัดทำความตกลงที่คั่งค้างให้แล้วเสร็จ
              -   แผนปฏิบัติการร่วมระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักร         กระทรวงการต่างประเทศ / กระทรวงกลาโหม /
          ไทยกับสาธารณรัฐตุรกี                                      กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา / กระทรวงการ
                                                                พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ /
                                                                กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ / กระทรวงคมนาคม /
                                                                กระทรวงพลังงาน/ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ
                                                                และสิ่งแวดล้อม / กระทรวงพาณิชย์ /
                                                                กระทรวงมหาดไทย / กระทรวงวัฒนธรรม /
                                                                กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี /
                                                                กระทรวงศึกษาธิการ / กระทรวงสาธารณสุข /
                                                                กระทรวงอุตสาหกรรม / สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
                                                                / สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน /
                                                                สำนักข่าวกรองแห่งชาติ / สำนักงานสภาความมั่นคง
                                                                แห่งชาติ / สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการ
                                                                ลงทุน / สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย /
                                                                สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
              -   บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร
              -   สนธิสัญญาว่าด้วยการโอนตัวผู้กระทำผิดและความ           กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
          ร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา              กระทรวงการต่างประเทศ
          (สนธิสัญญาโอนตัวนักโทษ)
              -   ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการศาลในคดีแพ่ง
          และพาณิชย์                                              สำนักงานศาลยุติธรรม
              -   ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางด้านทหารและการ
          ฝึกศึกษาของกำลังพล                                       กระทรวงกลาโหม
              -   บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษา
              -  ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือและความช่วยเหลือ           กระทรวงศึกษาธิการ
          ระหว่างกันทางด้านศุลกากร                                  กระทรวงการคลัง (กรมศุลกากร)
          5. การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนคณะผู้แทนภาคเอกชน และการ         กระทรวงการต่างประเทศ / กระทรวงพาณิชย์ /
          เข้าร่วมงานแสดงสินค้าซึ่งกันและกันอย่างสม่ำเสมอ โดย             กระทรวงอุตสาหกรรม / สำนักงานผู้แทนการค้าไทย
          ตั้งเป้าหมายให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนคณะผู้แทนทางเศรษฐกิจ       / สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย / สภา
          4 ครั้งในปี 2554                                         อุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
          6. การจัดทำเว็บไซต์ภาษาตุรกีเกี่ยวกับประเทศไทย ในการ          กระทรวงการต่างประเทศ
          ประชาสัมพันธ์ประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักของทั้งภาครัฐและ
          ภาคเอกชนตุรกี
          7. การส่งเสริมด้านการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการ              กระทรวงการต่างประเทศ / กระทรวงศึกษาธิการ
          แลกเปลี่ยนนักศึกษา อาจารย์ นักวิชาการ นักประวัติศาสตร์
          นักวิจัย รวมทั้งการให้ทุนการ ศึกษาและทุนวิจัย
          8. การเชิญสื่อมวลชนตุรกีมาเยือนไทย                          กระทรวงการต่างประเทศ
          9. การแลกเปลี่ยนโครงการทางวัฒนธรรม                       กระทรวงการต่างประเทศ / กระทรวงวัฒนธรรม

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 มีนาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ