ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (องค์การมหาชน) พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 15, 2011 13:31 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (องค์การมหาชน) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงสาธารณสุข สำนักงบประมาณ และสำนักงาน ก.พ.ร. ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้

สาระสำคัญของร่างพระราชฤษฎีกา

1. ให้จัดตั้งองค์การมหาชนขึ้นเรียกว่า “ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (องค์กรมหาชน)” เรียกโดยย่อว่า “ศลชท.” และให้ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “Thailand Center of Excellence for Life Sciences (Public Organization)” เรียกโดยย่อว่า “TCELS” โดยให้ศูนย์ความเป็นเลิศมีที่ตั้งสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพมหานครหรือจังหวัดใกล้เคียง และให้ศูนย์มีวัตถุประสงค์รวมทั้งอำนาจหน้าที่ต่างๆ ตามที่กำหนด (ร่างมาตรา 5 - ร่างมาตรา 8)

2. กำหนดให้ทุนและทรัพย๋สินในการดำเนินงานของศูนย์ความเป็นเลิศประกอบด้วยเงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับโอนมาตามมาตรา 40 เงินที่รัฐบาลจ่ายให้เป็นทุนประเดิมเงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลให้ตามความเหมาะสม เป็นต้น (ร่างมาตรา 9)

3. ในกรณีที่ศูนย์ความเป็นเลิศจัดให้มีบริการใดอันอยู่ในวัถตุประสงค์และอำนาจหน้าที่ ให้มีศูนย์ความเป็นเลิศมีอำนาจเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าบริการหรือค่าตอบแทนจากกิจการนั้นได้ (ร่างมาตรา 10)

4. กำหนดให้รายได้ของศูนย์ความเป็นเลิศไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังตามกฎหมานว่าด้วยเงินคงคลัง และกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นหรือสมควร ศูนย์ความเป็นเลิศโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอาจนำรายได้ของศูนย์ความเป็นเลิศในจำนวนที่เห็นสมควรส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน และให้อสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้มาจากการให้ หรือซื้อด้วยเงินรายได้ของศูนย์ความเป็นเลิศเป็นกรรมสิทธิ์ของศูนย์ความเป็นเลิศ (ร่างมาตรา 11 - ร่างมาตรา 12)

5. ให้มีคณะกรรมการบริหารศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทยประกอบด้วยประธานกรรมการ ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์สูงทางด้านชีววิทยาศาสตร์ และทางด้านการบริหารกรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด (ร่างมาตรา 14 และร่างมาตรา 19)

6. ให้ประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดการพ้นจากตำแหน่ง และให้มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปีและเมื่อพ้นจากตำแหน่งตามวาระแล้วอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้ (ร่างมาตรา 15 - ร่างมาตรา 16)

7. ให้ประธานกรรมการ กรรมการ ที่ปรึกษาคณะกรรมการ ประธานอนุกรรมการ และอนุกรรมการได้รับเบี้ยประชุมหรือประโยชน์ตอบแทนอื่นตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด (ร่างมาตรา 22)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 มีนาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ