เรื่อง รายงานผลการกู้เงินภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟู
และเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552
คณะรัฐมนตรีรับทราบและอนุมัติตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้
1. รับทราบผลการกู้เงินงวดสุดท้าย การเบิกจ่ายเงินกู้ และการปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552
2. รับทราบแนวทางการบริหารเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ
3. กำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการที่ได้รับจัดสรรเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ เร่งดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 พ.ศ. 2552 โดยให้บันทึกข้อมูลเข้าระบบสารสนเทศโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 (Projects Financial Monitoring System : PFMS) ให้ครบถ้วนและเป็นปัจจุบันภายในวันที่ 31 มีนาคม 2554
สาระสำคัญของเรื่อง
กค. รายงานว่า
1. ผลการกู้เงินงวดสุดท้ายภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ
ตามมติคณะรัฐมนตรี (9 พฤศจิกายน 2553) กค. ได้ดำเนินการกู้เงินโดยมีรายละเอียด ดังนี้
งวด/วงเงิน (ล้านบาท) ผู้ให้กู้ งวดที่ 1 วงเงิน 30,000 ลบ. งวดที่ 2 วงเงิน 29,960.44 ลบ. ธ.กรุงเทพ วงเงิน 4,000 ลบ. ธ.กรุงเทพ วงเงิน 10,000 ลบ. ธ.กสิกรไทย วงเงิน 3,000 ลบ. ธ.ออมสิน วงเงิน 15,960.44 ลบ. ธ.ออมสิน วงเงิน 9,000 ลบ. ธ.กรุงไทย วงเงิน 4,000 ลบ. ธ.กรุงไทย วงเงิน 14,000 ลบ. อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย ร้อยละ 2.14 ต่อปี ร้อยละ 2.44 ต่อปี ระยะเวลาเงินกู้ 4 ปี 4 ปี ระยะเวลาเบิกจ่ายเงินกู้ ภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2553 ภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2553 ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย ไม่มี ไม่มี
2. การเบิกจ่ายเงินกู้
กค. ได้ดำเนินการลงนามในสัญญาผูกพันเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ เพื่อใช้สนับสนุนการดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ในวงเงิน 349,960.44 ล้านบาท อย่างไรก็ดี คณะรัฐมนตรีมีมติ (28 ธันวาคม 2553) (ข้อ 2.2) อนุมัติให้ กค. ยกเลิกวงเงินกู้ จำนวน 1,020.35 ล้านบาท จึงคงเหลือวงเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ ที่ กค. ได้เบิกจ่ายจากแหล่งเงินกู้แล้ว จำนวน 348,940.09 ล้านบาท โดย ณ วันที่ 31 มกราคม 2554 ได้มีการเบิกจ่ายเงินกู้เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 แล้ว ทั้งสิ้น 260,992.75 ล้านบาท
เดือน การเบิกจ่ายจากบัญชีไทยเข้มแข็ง (ล้านบาท) ก.ย. — ธ.ค. 2552 35,035.81 ม.ค. — มี.ค. 2553 70,652.81 เม.ย. — มิ.ย. 2553 73,143.36 ก.ค.- ก.ย. 2553 55,568.88 ต.ค. — ธ.ค. 2553 22,673.61 ม.ค. 2554 3,918.27 รวม 260,992.75
หมายเหตุ ข้อมูลเบิกจ่ายจากกรมบัญชีกลาง ณ วันที่ 31 มกราคม 2554
3. การปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้
กค. ได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ เพื่อใช้สนับสนุนการดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 จากเงินกู้ระยะสั้นที่มีอัตราดอกเบี้ยลอยตัวเป็นเงินกู้ระยะยาวที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ ในวงเงิน 128,830 ล้านบาท จากวงเงินกู้ทั้งสิ้น 348,940.09 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อบริหารต้นทุนและความเสี่ยงในการบริหารหนี้สาธารณะของประเทศในระยะยาว โดยเป็นการดำเนินการในปีงบประมาณ 2553 จำนวน 82,230 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2554 จำนวน 46,600 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดการปรับโครงสร้างหนี้ ดังนี้
ปีงบประมาณ 2553 2554 วงเงิน (ล้านบาท) 82,230 6,000 6,000 18,900 15,700 Instrument พันธบัตร พันธบัตร พันธบัตร ตั๋วสัญญาใช้เงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน ออมทรัพย์ รัฐบาล รัฐบาล ดอกเบี้ยคงที่ ดอกเบี้ยคงที่ อายุ 6 ปี 15 ปี 15 ปี 12 ปี 18 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย ร้อยละ ร้อยละ ร้อยละ ร้อยละ ร้อยละ 4.17 ต่อปี 3.85 ต่อปี 3.85 ต่อปี 4.29 ต่อปี 4.58 ต่อปี ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
4. แนวทางการบริหารเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ
จากวงเงินกู้ที่ กค. ได้เบิกจ่ายภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ เพื่อใช้สนับสนุนการดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 จำนวน 348,940.09 ล้านบาท ได้มีการเบิกจ่ายเงินกู้เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการแล้ว จำนวน 260,992.75 ล้านบาท จึงเหลือวงเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ ณ วันที่ 31 มกราคม 2554 จำนวน 87,947.34 ล้านบาท โดยวงเงินกู้ดังกล่าวได้รวมอยู่ในเงินคงคลังแล้ว (สถานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 31 มกราคม 2554 เท่ากับ 185,338.76 ล้านบาท) สำหรับแนวทางการบริหารเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของเงินคงคลังของรัฐบาลนั้น กค. สามารถนำไปใช้เพื่อเป็นเงินสดสำรอง (Cash Reserve) สำหรับการบริหารการเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายในช่วงปี 2554 — 2555 ซึ่งเป็นรายจ่ายภายใต้พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ อย่างไรก็ดี เพื่อให้การบริหารเงินกู้ดังกล่าวเกิดประสิทธิภาพสูงสุด กค. มีความจำเป็นจะต้องได้รับข้อมูลประมาณการเบิกจ่ายเงินกู้จากหน่วยงานเจ้าของโครงการที่ได้รับการจัดสรรเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ จากสำนักงบประมาณแล้ว เพื่อที่ กค. จะสามารถจัดทำแผนการบริหารเงินสดภายใต้บัญชีเงินคงคลังเพื่อกำหนดระดับการถือครองเงินสดที่เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา และบริหารต้นทุนในการถือครองเงินสดของรัฐบาลในภาพรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5. การติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการและการเบิกจ่ายเงินกู้ผ่านระบบ PFMS
ภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 พ.ศ. 2552 ได้กำหนดให้ กค. จัดทำระบบ PFMS ขึ้น และให้หน่วยงานเจ้าของโครงการที่ได้รับจัดสรรเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ ต้องบันทึกข้อมูลผลการดำเนินโครงการและการเบิกจ่ายเงินกู้รายเดือน รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับแผนการดำเนินโครงการและประมาณการเบิกจ่ายเงินกู้ของโครงการเข้าระบบดังกล่าว เพื่อที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ใช้ในการติดตามความก้าวหน้าของโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 โดยในส่วนของ กค. จะนำข้อมูลที่เกี่ยวกับแผนการดำเนินโครงการและประมาณการเบิกจ่ายเงินกู้ เพื่อจัดทำแผนการบริหารเงินสดสำหรับโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 อย่างไรก็ดี ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2553 หน่วยงานเจ้าของโครงการได้มีการบันทึกข้อมูลดังกล่าวเข้าระบบ PFMS ที่สมบูรณ์แล้วเพียง 5,203 โครงการ จากโครงการที่ได้อนุมัติการจัดสรรเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ ทั้งหมด จำนวน 8,286 โครงการ หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 63 เท่านั้น โดยมีรายละเอียด ดังนี้
สถานะโครงการ ณ 30 ธ.ค. 53 ร้อยละ
(จำนวนโครงการ)
โครงการที่หน่วยงานบันทึกข้อมูลสมบูรณ์ 5,203 62.8 โครงการที่หน่วยงานบันทึกข้อมูลไม่สมบูรณ์ 2,104 25.4 โครงการที่หน่วยงานยังไม่บันทึกข้อมูล 979 11.8 รวม 8,286 100 +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
5.1 กลุ่มที่ 1 โครงการที่หน่วยงานบันทึกข้อมูลเข้าระบบ PFMS สมบูรณ์ ประกอบด้วย
5.1.1 ส่วนราชการจำนวน 11 แห่ง ได้แก่ กรมพลศึกษา กรมป่าไม้ กรมราชองครักษ์ กองทัพอากาศ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และกรมโยธาธิการและผังเมือง
5.1.2 รัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชน จำนวน 11 แห่ง ได้แก่ การกีฬาแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การประปาส่วนภูมิภาค การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง องค์การสวนสัตว์ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
5.2 กลุ่มที่ 2 โครงการที่หน่วยงานบันทึกข้อมูลเข้าระบบ PFMS ไม่สมบูรณ์ ประกอบด้วย ส่วนราชการ จำนวน 42 แห่ง และองค์การมหาชน จำนวน 1 แห่ง
5.3 กลุ่มที่ 3 โครงการที่หน่วยงานยังไม่บันทึกข้อมูลเข้าระบบ PFMS ประกอบด้วย ส่วนราชการ จำนวน 33 แห่ง และองค์การมหาชน จำนวน 1 แห่ง
6. จากการที่หน่วยงานเจ้าของโครงการบันทึกข้อมูลเข้าระบบ PFMS ไม่สมบูรณ์หรือยังไม่บันทึกข้อมูลเข้าระบบ ทำให้ กค. ขาดข้อมูลที่จะใช้จัดทำประมาณการเบิกจ่ายเงินกู้ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 รวมทั้งการจัดทำแผนบริหารเงินสดภายใต้บัญชีเงินคงคลังเพื่อกำหนดระดับการถือครองเงินสดที่เหมาะสม และบริหารต้นทุนในการถือครองเงินสดของรัฐบาลในภาพรวม กค. จึงเห็นควรเร่งรัดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 พ.ศ. 2552 โดยเร่งบันทึกข้อมูลเข้าระบบ PFMS ให้ครบถ้วนและเป็นปัจจุบันภายในวันที่ 31 มีนาคม 2554
7. สำหรับในกรณีที่หน่วยงานใดมีปัญหาด้านการบริหารจัดการและปัญหาด้านเทคนิคเกี่ยวกับการบันทึกข้อมูลผ่านระบบ PFMS เห็นควรให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเร่งหารือกับศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กค. ในโอกาสแรกต่อไป
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 มีนาคม 2554--จบ--