นโยบายแห่งชาติด้านยา และยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 15, 2011 14:22 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างนโยบายแห่งชาติด้านยา พ.ศ. .... และยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ. .... ตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติเสนอ โดยให้รับความเห็นของกระทรวงศึกษาธิการ สำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปดำเนินการด้วย และมอบหมายให้คณะกรรมการแห่งชาติด้านยาเป็นเจ้าภาพหลักในการกำหนดแผนงาน เป้าหมาย ตัวชี้วัด และกลไกติดตามประเมินผล โดยการมีส่วนร่วมของหน่วยงานของรัฐ ที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ย่อยๆ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่วางไว้ ตามความเห็นของกระทรวงการคลัง

สาระสำคัญของเรื่อง

รองนายกรัฐมนตรี (พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์) ประธานกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ รายงานว่า

1. ผลการดำเนินการที่ผ่านมา ประเทศไทยประกาศใช้นโยบายแห่งชาติด้านยาฉบับแรกใน พ.ศ.2524 โดยมีสาระสำคัญครอบคลุมการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตยาภายในประเทศ และการพัฒนายาสมุนไพรและยาแผนโบราณ การส่งเสริมให้มีการใช้ยาอย่างสมเหตุผล เป็นต้น ต่อมาได้ประกาศใช้นโยบายแห่งชาติด้านยาฉบับที่สองใน พ.ศ.2536 โดยคงสาระสำคัญตามนโยบายฉบับเดิมแต่แก้ไขเพิ่มเติมให้ครอบคลุมถึงการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ยาตามบัญชีหลักแห่งชาติ และการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาด้วย โดยผลการดำเนินงานตามนโยบายแห่งชาติด้านยาที่ผ่านมา ได้แก่

1.1 การปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารงานในการพัฒนาระบบยาของประเทศ เช่น การแก้ไขพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 การออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ.2551 เป็นต้น

1.2 การเพิ่มการเข้าถึงยาจำเป็น เช่น การใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาการจัดทำระบบการขึ้นทะเบียนตำรับยากำพร้า เป็นต้น

1.3 การพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติและประกาศใช้บัญชีราคากลางของยา

1.4 การปรับปรุงหลักเกณฑ์และระบบการขึ้นทะเบียนยา เช่น การจัดทำระบบการขึ้นทะเบียนตำรับยาใหม่ โดยผนวกมาตรการติดตามความปลอดภัยจากการใช้ยาไว้ในการอนุมัติทะเบียนตำรับยา การกำหนดให้ยาสามัญที่ขึ้นทะเบียนหลังเริ่มระบบการขึ้นทะเบียนตำรับยาใหม่ ต้องทำการศึกษาชีวสมมูลเทียบกับยาต้นแบบ หากไม่แตกต่างกันจึงรับขึ้นทะเบียน

1.5 การพัฒนาระบบการติดตามเฝ้าระวังอันตรายจากการใช้ยาโดยจัดตั้งศูนย์ติดตามอาการอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา และพัฒนาขยายขอบข่ายงานไปยังส่วนภูมิภาค

1.6 การส่งเสริมให้มีการใช้ยาที่ผลิตในประเทศไทย โดยทบทวนระบบการจัดซื้อยาของภาครัฐ ส่งเสริมการผลิตยาชื่อสามัญเพื่อทดแทนการนำเข้า และจัดระบบการขึ้นทะเบียนยาชื่อสามัญทดแทนการนำเข้าให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

1.7 การส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล เช่น การพัฒนาเกณฑ์จริยธรรม การส่งเสริมการขาย การสร้างเครือข่ายคณะกรรมการเภสัชกรรมและบำบัด เป็นต้น

1.8 การสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาสถานที่ผลิตยาให้ได้มาตรฐานตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตยา (Good Manufacturing Practice : GMP) โดยดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนทางด้านวิชาการ และกำหนดให้หลักเกณฑ์ GMP ของการผลิตยาแผนปัจจุบันและยาชีววัตถุให้มีผลบังคับตามกฎหมาย

1.9 การส่งเสริมการพัฒนาการใช้ยาจากสมุนไพรและอุตสาหกรรมการผลิตยาโบราณและสมุนไพร โดยได้จัดตั้งกรมพัฒนาการแพทย์ไทยและการแพทย์ทางเลือกขึ้นใน สธ.การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการผลิตยาจากสมุนไพรโดยออกกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติยา พศ.2510 ที่สามารถให้ใช้เทคโนโลยีปัจจุบันในการผลิตยาแผนโบราณทำให้ยามีรูปแบบที่ทันสมัยและมีคุณภาพมาตรฐานดีขึ้น การจัดทำ Thai Herbal Pharmacopoeia การสนับสนุนการวิจัยสุมนไพรที่นำไปสู่พาณิชย์ ตลอดจนการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ฉบับบัญชีจากสุมนไพร พ.ศ.2552 และ พ.ศ.2549

2. การดำเนินงานในปัจจุบัน เนื่องจากนโยบายแห่งชาติด้านยา พ.ศ. 2536 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน จำเป็นต้องมีการปรับปรุงใหม่เหมาะสมกับบริบทของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบยาอย่างเป็นระบบมีเอกภาพและต่อเนื่องคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติจึงได้ยกร่างนโยบายแห่งชาติด้านยาและยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติขึ้น โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงานและมีกระบวนการจัดทำอย่างมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน ซึ่งได้ผนวกข้อมูลที่สำคัญ ได้แก่

2.1 ข้อมูลจากผลประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ภายใต้การดำเนินงานของคณะอนุกรรมการการพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ

2.2 ข้อมูลจากยุทธศาสตร์การส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลที่เสนอโดยคณะอนุกรรมการการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ

2.3 ข้อมูลจากมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2551 เรื่องการเข้าถึงยาถ้วนหน้าของประชากรไทย และร่างแผนปฏิบัติการตามยุทธศาสตร์เข้าถึงยาถ้วนหน้าของประชากรไทย ซึ่งผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างกว้างขวางแล้ว และมติสมัชชาครั้งที่ 2 พ.ศ. 2552 เรื่อง การยุติการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม : เพื่อลดความสูญเสียที่เศรษฐกิจและสุขภาพผู้ป่วย รวมถึงเรื่องการพัฒนาแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือกใช้ให้เป็นระบบบริการสุขภาพหลักของประเทศคู่ขนานกับการแพทย์แผนปัจจุบัน

3. คณะกรรมการพัฒนายาแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2553 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบต่อรางนโยบายแห่งชาติด้านยา พ.ศ. .... และยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ. .... เพื่อใช้แทนนโยบายฉบับเดิม ซึ่งร่างนโยบายแห่งชาติด้านยา พ.ศ. .... และยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ. .... เป็นแผน 5 ปี สาระสำคัญโดยสรุป ดังนี้

3.1 วิสัยทัศน์ : ประชาชนเข้าถึงยาถ้วนหน้า ใช้ยาอย่างมีเหตุผล ประเทศพึ่งตนได้

3.2 เป้าประสงค์ : เพื่อให้ประชาชนได้รับการป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพที่ได้มาตรฐาน โดยการประกันคุณภาพ ความปลอดภัยและประสิทธิผลของยา การสร้างเสริมระบบการใช้ยาอย่างสมเหตุผล การส่งเสริมการเข้าถึงยาจำเป็นให้เป็นไปอย่างเสมอภาค ยั่งยืน ทันการณ์ การสร้างกลไกลเฝ้าระวังที่มีประสิทธิภาพ และอุตสาหกรรมยามีการพัฒนาจนประเทศสามารถพึ่งตนเองได้

3.3 แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ เชื่อมโยงกันและกัน ได้แก่ ด้านที่ 1 การเข้าถึงยา ด้านที่ 2 การใช้ยาอย่างสมเหตุผล ด้านที่ 3 การพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตยาชีววัตถุ และสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง และด้านที่ 4 การพัฒนาระบบควบคุมยาเพื่อประกันคุณภาพ ประสิทธิผลและความปลอดภัยของยา และในแต่ละยุทธศาสตร์ย่อยประกอบด้วยกลยุทธ์ และหน่วยงานรับผิดชอบหลักซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบตามร่างนโยบายแห่งชาติด้านยา พ.ศ. .... และยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ. .... กำหนดเป็นหน่วยงานของรัฐในระดับกระทรวงเพื่อรับผิดชอบในการประสานให้นำไปสู่การปฏิบัติแบบมีส่วนร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนต่อไป การจัดทำแผนงาน เป้าหมาย ตังชี้วัดและกลไกลติดตามประเมินผล คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติเห็นควรให้พิจารณาในภายหลังที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามนโยบายแห่งชาติด้านยาและยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติตามที่เสนอแล้ว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 มีนาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ