การอพยพแรงงานไทยในประเทศลิเบีย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 15, 2011 15:16 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบการอพยพแรงงานไทยในประเทศลิเบียตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอดังนี้

ตามที่ได้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศลิเบียตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554 จนถึงปัจจุบัน และส่งผลกระทบต่อชีวิตและความปลอดภัยของคนไทยที่มีอยู่ จำนวน 12,975 คน จนนำไปสู่การตัดสินใจดำเนินการอพยพคนไทยในประเทศลิเบียกลับประเทศไทยในขณะนี้ นั้น

กระทรวงการต่างประเทศ ขอเรียนสรุปการช่วยเหลือคนไทยในประเทศลิเบีย ดังนี้

1. สถานะปัจจุบัน

1.1 จำนวนแรงงานในประเทศลิเบีย 12,975 คน (ข้อมูลจำนวนคนไทยในชั้นแรกที่ระบุ 18,761 คน พบในภายหลังว่า ตัวเลขดังกล่าวเป็นข้อมูลจำนวนคนไทยซ้ำซ้อน และเป็นข้อมูลของแรงงานไทยที่เดินทางไปประเทศลิเบียที่ยังไม่ได้หักลบจำนวนแรงงานไทยที่เดินทางกลับประเทศไทยก่อนหน้า)

1.2 จนถึงขณะนี้ ณ วันที่ 8 มีนาคม 2554 คนไทยเดินทางกลับมาประเทศไทยแล้ว 7,507 คน เหลืออยู่ที่ประเทศลิเบีย 193 คน อยู่ที่กรุงตูนิส ประเทศตูนิเซีย 2,075 คน อยู่ที่ประเทศอื่น ๆ 2,219 คน (ประเทศอียิปต์ ประเทศมอลต้า ประเทศกรีซ ฯลฯ)

2. การดำเนินการ

2.1 กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับกระทรวงแรงงาน และสมาคมจัดหางานแห่งประเทศไทยจัดตั้ง “ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือคนไทยในลิเบีย” ที่กระทรวงการต่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2554 จนถึงปัจจุบัน เพื่อประเมินสถานการณ์และอำนวยการอพยพคนไทยจากประเทศลิเบียอย่างต่อเนื่อง

2.2 การอพยพมี 4 ลักษณะ

  • ทางตะวันตก ผ่านทางชายแดน Ras Jdir เพื่อเข้าสู่ประเทศตูนิเซีย (กระทรวงการต่างประเทศจัดเจ้าหน้าที่ไปอำนวยความสะดวกที่เมืองซาซิส ประเทศตูนิเซีย)
  • ทางตะวันออก ผ่านทางชายแดนบริเวณเมืองซารูม ประเทศอียิปต์ (กระทรวงการต่างประเทศจัดเจ้าหน้าที่ไปอำนวยความสะดวกที่เมืองซารูม ประเทศอียิปต์)
  • จัดเรือไปรับที่กรุงตริโปลี ประเทศลิเบีย เพื่ออพยพคนไปที่เมืองตูนิส ประเทศตูนิเซีย (สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโรม จัดหาเรือเช่า และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงตริโปลี เป็นผู้ประสานงานและดำเนินงาน)
  • บริษัทนายจ้างอพยพคนไทยไปประเทศต่าง ๆ เช่น ประเทศมอลต้า ประเทศสเปน ประเทศกรีซ ประเทศตุรกี ฯลฯ (กระทรวงการต่างประเทศ จัดเจ้าหน้าที่ไปดูแลที่ประเทศมอลต้า และสั่งการให้สถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลใหญ่ ในภูมิภาคยุโรปและตะวันออกกลางดูแลหากมีคนไทยเดินทางผ่าน)

3. การดำเนินการของกระทรวงต่างประเทศ

3.1 เช่าเรือ Snav Lazio จากอิตาลีเพื่อรับคนไทย 3,715 คน ที่กรุงตริโปลี ประเทศลิเบีย มาที่ท่าเรือกรุงตูนิส ประเทศตูนิเซีย 2 เที่ยว ซึ่งแพทย์และบุรุษพยาบาลจากกองทัพเรือได้เดินทางไปในเรือทั้งสองเที่ยวเพื่อให้การดูแลรักษาพยาบาลแรงงานที่เจ็บป่วย และขณะนี้ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ศูนย์เมืองฮามาเมด ประเทศตูนิเซีย

  • เรือรอบ 1 รับคนไทย 1,971 คน ที่กรุงตริโปลีในวันที่ 2 มีนาคม 2554 ซึ่งเดินทางถึงที่เมืองตูนิสในวันที่ 3 มีนาคม 2554
  • เรือรอบ 2 รับคนไทย 1,744 คน ที่กรุงตริโปลีในวันที่ 5 มีนาคม 2554 ซึ่งเดินทางถึงที่เมืองตูนิสในวันที่ 6 มีนาคม 2554

3.2 ประสานบริษัทการบินไทยจำกัด (มหาชน) จัดหาเครื่องบินระหว่างวันที่ 4 - 14 มีนาคม 2554มากกว่า 20 เที่ยว เพื่อรับแรงงานไทยที่พักพิงอยู่ที่ประเทศตูนิเซียกลับประเทศไทย

3.3 ประสานงานกับมิตรประเทศและองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization of Migration - IOM) ช่วยเหลือคนไทยที่อพยพกลับประเทศไทย รวมถึงนำสิ่งของจำเป็นไปช่วยเหลือคนไทยที่อพยพ

3.4 ประสานกับสถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศในไทยในการร่วมมือช่วยเหลือคนไทยในประเทศลิเบีย

3.5 สถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลใหญ่ ของไทยในต่างประเทศประสานความช่วยเหลือกับประเทศต่าง ๆ

4. เจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ต่าง ๆ ใกล้เคียงประเทศลิเบีย

4.1 ศูนย์ตูนิส ประเทศตูนิเซีย 4 คน, ศูนย์ฮามาเมด ประเทศตูนิเซีย 3 คน, ศูนย์ซาซิส ประเทศตูนิเซีย (ชายแดนประเทศตูนิเซีย - ประเทศลิเบีย) 1 คน, ศูนย์ซารูม ประเทศอียิปต์ (ชายแดนประเทศอียิปต์ - ประเทศลิเบีย) 2 คน และศูนย์ประเทศมอลต้า 1 คน รวมทั้งหมด 11 คน

4.2 กระทรวงการต่างประเทศ จะคงเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ให้ความช่วยเหลือตามศูนย์ต่าง ๆ ข้างต้น จนกว่าการอพยพคนไทยจะเสร็จสิ้นลง

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 มีนาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ