ร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากรสำหรับของที่มีถิ่นกำเนิดจากสาธารณรัฐเปรู

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 23, 2011 11:49 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากรสำหรับของที่มีถิ่นกำเนิดจากสาธารณรัฐเปรู ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

ข้อเท็จจริง

กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอว่า

1. ประเทศไทยได้ลงนามในพิธีสารระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐเปรูเพื่อเร่งเปิดเสรีการค้าสินค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้า (Protocol between the Kingdom of Thailand and the Republic of Peru to Accelerate the Liberalization of Trade in Goods and Trade Facilitation) โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่าย เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2548 ในระหว่างการประชุมผู้นำเอเปค ณ นครปูซาน ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี โดยทั้งสองประเทศจะต้องดำเนินการภายในเพื่อลดอัตราภาษีศุลกากรให้เป็นไปตามพิธีสารฯ

2. ประเทศไทยได้มีการลงนามในพิธีสารเพิ่มเติมพิธีสารระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐเปรูเพื่อเร่งเปิดเสรีการค้าสินค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้า (Additional Protocol to the Protocol between the Kingdom of Thailand and the Republic of Peru to Accelerate the Liberalization of Trade in Goods and Trade Facilitation) โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าต่างประเทศและการท่องเที่ยวของเปรู เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2549 ในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อความเล็กน้อย เพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น

3. ประเทศไทยได้มีการลงนามในพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 2 ภายใต้พิธีสารระหว่างราชอาณาจักรไทยกับ สาธารณรัฐเปรูเพื่อเร่งการเปิดเสรีการค้าสินค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้า (Second Additional Protocol to the Protocol between the Kingdom of Thailand and the Republic of Peru to Accelerate the Liberalization of Trade in Goods and Trade Facilitation) และหนังสือแลกเปลี่ยนความเข้าใจเรื่องสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทย (นายอลงกรณ์ พลบุตร) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าต่างประเทศและการท่องเที่ยวของเปรู (H.E. Mr. Martin Perez Monteverde) เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2552 ในระหว่างการประชุม ผู้นำเศรษฐกิจเอเปค ณ ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทบทวนที่จำเป็นสำหรับการเปลี่ยนเป็นระบบฮาร์โมไนซ์ เพื่อการจำแนกประเภทและการกำหนดรหัสสินค้าฉบับปี พ.ศ. 2550 (HS 2007)

4. ประเทศไทยได้มีการลงนามในพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 3 ภายใต้พิธีสารระหว่างราชอาณาจักรไทยกับ สาธารณรัฐเปรูเพื่อเร่งการเปิดเสรีการค้าสินค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้า (Third Additional Protocol to the Protocol between the Kingdom of Thailand and the Republic of Peru to Accelerate the Liberalization of Trade in Goods and Trade Facilitation) โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทย (นายอลงกรณ์ พลบุตร) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้าต่างประเทศและการท่องเที่ยวของเปรู (นายคาร์ลอส โปชาดา) และมีนายกรัฐมนตรีของไทย (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) เป็นสักขีพยาน เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ณ ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสาระสำคัญในพิธีสารฉบับนี้เกี่ยวข้องกับการแก้ไขและเพิ่มเติมถ้อยคำในข้อ F และ G ของบทบัญญัติข้อ 3 ภาคผนวก 2 เรื่อง กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าในพิธีสารระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐเปรูเพื่อเร่งเปิดเสรีการค้าสินค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้า ปี พ.ศ. 2548 และเพิ่มข้อบทเกี่ยวกับการค้าผ่านประเทศที่สาม (Third Party Invoicing)

5. กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ แจ้งว่าจะนำเรื่องการใช้บังคับของพิธีสารระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐเปรูเพื่อเร่งเปิดเสรีการค้าสินค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้า (ลงนามเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2548) พิธีสารเพิ่มเติมพิธีสารระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐเปรูเพื่อเร่งเปิดเสรีการค้าสินค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้า (ลงนามเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2549) พิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 2 ภายใต้พิธีสารระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐเปรูเพื่อเร่งการเปิดเสรีการค้าสินค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้า (ลงนามเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2552) และพิธีสาร เพิ่มเติมฉบับที่ 3 ภายใต้พิธีสารระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐเปรูเพื่อเร่งการเปิดเสรีการค้าสินค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้า (ลงนามเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2553) เสนอต่อรัฐสภาเพื่อทราบการมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 เมษายน 2554 ต่อไป จึงขอให้กรมศุลกากรดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอนภายในเพื่อให้ความตกลงมีผลใช้บังคับตามกำหนดดังกล่าว

สาระสำคัญของร่างประกาศ

1. ยกเว้นอากรและลดอัตราอากรสำหรับของในภาค 2 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2549 และประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเลิก เพิ่ม และแก้ไขเพิ่มเติมพิกัดอัตราอากรขาเข้าในภาค 2 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2551 ที่มีถิ่นกำเนิดจากสาธารณรัฐเปรู

2. กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการยกเว้นอากรและลดอัตราอากรสำหรับของที่มีถิ่นกำเนิดจากสาธารณรัฐเปรู

3. ยกเว้นอากรและลดอัตราอากรทั้งหมดจำนวน 5,952 ประเภทย่อย คิดเป็นร้อยละ 71.71 ของรายการสินค้าทั้งหมด ทั้งนี้ จะไม่ยกเลิกภาษีศุลกากรให้กับสินค้าตามประเภทย่อย 4012.20 จำนวน 10 ประเภทย่อย เนื่องจากเป็นสินค้าที่ใช้แล้วตามพิธีสาร โดยให้มีผลใช้บังคับถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา (วันที่มีผลใช้บังคับจะต้องเป็นวันที่ทั้งสองประเทศได้ดำเนินการตามกระบวนการภายในเสร็จสิ้นแล้วและได้มีการแจ้ง (Notify) ของทั้งสองฝ่ายแล้ว) ซึ่งจัดกลุ่มสินค้าออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

3.1 สินค้าที่ลดลงเหลือร้อยละศูนย์ทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ มีจำนวน 3,836 ประเภทย่อยคิดเป็นร้อยละ 46.21 ของรายการสินค้าทั้งหมด

3.2 สินค้าที่จะลดอัตราอากรลงในอัตราที่เท่ากันทุกปี โดยลดลงเหลือร้อยละศูนย์ภายใน 5 ปีมีจำนวน 2,044 ประเภทย่อย คิดเป็นร้อยละ 24.63 ของรายการสินค้าทั้งหมด

3.3 สินค้าที่มีการแยกรายการเฉพาะของสินค้าและมีรูปแบบการลดภาษีต่างกัน คือ สินค้าที่ลดลงเหลือร้อยละศูนย์ทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ และสินค้าที่จะลดอัตราอากรลงในอัตราที่เท่ากันทุกปี โดยลดลงเหลือร้อยละศูนย์ภายใน 5 ปี มีจำนวน 72 ประเภทย่อย คิดเป็นร้อยละ 0.87 ของรายการสินค้าทั้งหมด

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 มีนาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ