ผลการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ ครั้งที่ 2/2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 23, 2011 14:00 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามมติคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ ครั้งที่ 2/2554 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2554 เรื่อง ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

การประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น (ระยะสั้น) ในแต่ละด้าน มีดังนี้

1. ด้านอุตสาหกรรม

1.1 กลุ่มอุตสาหกรรมที่อาจได้รับผลกระทบที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นผลจากการที่โรงงานในประเทศญี่ปุ่นหยุดทำการเนื่องจากการปิดตัวของโรงงานผลิตไฟฟ้า รวมทั้งปัญหาเรื่องการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ ทั้งนี้อุตสาหกรรมดังกล่าวทั้ง 2 อุตสาหกรรมมีการเก็บสำรองวัตถุดิบและชิ้นส่วนสำหรับการใช้งานได้ประมาณ 1 — 2 สัปดาห์ สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ และประมาณ 1 เดือน สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้นหากประเทศญี่ปุ่นไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ภายใน 1 เดือน อุตสาหกรรมในประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนวัตถุดิบและชิ้นส่วนสำหรับใช้ในการผลิต ส่วนอุตสาหกรรมอาหารคาดว่าน่าจะมีผลกระทบทางบวกแต่มีสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังคือเรื่องการปนเปื้อนของสารเคมี

1.2 สำหรับสถานการณ์การแก้ไขปัญหาของบริษัทเอกชนในประเทศไทยในขณะนี้ ส่วนใหญ่ใช้วิธีแก้ไขปัญหาโดยการงดทำงานนอกเวลา เพื่อให้ยังสามารถเปิดโรงงานผลิตอยู่ได้ ทั้งนี้จากสถานการณ์ที่โรงงานอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศญี่ปุ่นได้ประกาศหยุดดำเนินการผลิตชั่วคราว ได้ส่งผลให้ปริมาณการผลิตรถยนต์ลดลงประมาณ 800,000 คัน ในขณะที่โรงงานในประเทศไทยหยุดทำงานนอกเวลาส่งผลให้มีปริมาณการผลิตรถยนต์ลดลงประมาณ 5,000 คัน ซึ่งปัญหาผลกระทบดังกล่าวจะต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด โดยคาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

1.3 นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนอยู่ระหว่างการพิจารณาหาแนวทาง/มาตรการแก้ไขปัญหาโดยจะมีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนอีกครั้งในวันที่ 23 มีนาคม 2554 นี้ ซึ่งในการประชุมจะมีการพิจารณาทั้งสถานการณ์ในระยะกลาง และระยะยาว โดยจะครอบคลุมทั้งด้านการนำเข้า การส่งออก และการย้ายฐานการลงทุนเพื่อเตรียมแผนรองรับการลงทุนในอนาคตด้วย

2. ด้านการท่องเที่ยว

2.1 สถานการณ์การท่องเที่ยวของตลาดญี่ปุ่นในช่วง 10 วันแรกของเดือนมีนาคม 2554 หรือช่วงก่อนเกิด เหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิ มีจำนวนนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเดินทางเข้ามาโดยผ่านสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิเฉลี่ย 3,390 คนต่อวัน แต่ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นต้นมา คือ ระหว่างวันที่ 12-18 มีนาคม 2554 นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นได้ลดลงเหลือเพียงประมาณ 2,800 คนต่อวัน อย่างไรก็ตาม ในช่วงวันที่ 19-20 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวได้กลับเพิ่มเป็น 3,300 คนต่อวันเช่นเดิม ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นประมาณร้อยละ 90 เดินทางมาจากโตเกียวและโอซากา ดังนั้น จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปีไม่น่าจะลดลงถึง 1.8 แสนคน ตามที่ได้ประมาณการณ์ไว้

2.2 ในปี 2553 ประเทศไทยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวญี่ปุ่น 28,000 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 5 ของรายได้ทั้งหมด โดยเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเองประมาณร้อยละ 70 ส่วนที่เหลือจะเดินทางผ่านบริษัทนำเที่ยว อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมืองโกเบ ในปี 2538 ญี่ปุ่นต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวกว่า 6 เดือน นอกจากนี้ ด้วยความเป็นชาตินิยมของคนญี่ปุ่น จึงอาจมีการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้นเพื่อเร่งช่วยฟื้นฟูตลาดและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว

2.3 ในช่วงไตรมาสที่สองของทุกปีจะเป็นช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยวของทุกประเทศ แต่เป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง (Middle East) ซึ่งรัฐบาลควรจะเร่งสร้างความเชื่อมั่นในมาตรการด้านความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะความพร้อมของระบบเตือนภัย เพื่อจูงใจให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศ

3. ด้านสินค้าเกษตร สินค้าเกษตรที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบที่ชัดเจนมี 3 กลุ่ม ได้แก่ อาหาร ยางพารา และกล้วยไม้ โดยในกลุ่มสินค้าอาหารคาดว่าจะได้รับผลกระทบในทางบวกจากการที่พื้นที่เกษตรของญี่ปุ่นได้รับความเสียหาย สำหรับยางพาราคงได้รับผลกระทบในระยะสั้นเท่านั้น เพราะหากอุตสาหกรรมในห่วงโซ่อุปทานของยางพาราเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ จะทำให้ราคาและปริมาณการส่งออกยางพารากลับมาฟื้นตัวได้ในระยะเวลาไม่นาน แต่กล้วยไม้เป็นสินค้าเกษตรที่จะได้รับผลกระทบทางลบมากที่สุด เนื่องจากตลาดส่งออกกล้วยไม้หลักๆ ของประเทศไทยแบ่งตามคุณภาพกล้วยไม้ได้เป็น 2 ตลาด ได้แก่ ตลาดคุณภาพระดับล่างอยู่ที่ประเทศจีนซึ่งจะไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในประเทศญี่ปุ่น และตลาดกล้วยไม้ที่มีคุณภาพสูงอยู่ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปและประเทศญี่ปุ่น ซึ่งที่ผ่านมาสินค้ากล้วยไม้ของไทยยังไม่ฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์วิกฤตการเงินของสหภาพยุโรป และต้องมาได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่นอีก ดังนั้น ผู้ประกอบการจะได้รับผลกระทบจากการขาดสภาพคล่องทางการเงิน

4. ด้านพลังงาน ผู้แทนกระทรวงพลังงานได้ให้ข้อมูลต่อที่ประชุมว่าขณะนี้ประเทศญี่ปุ่นได้มีการจัดซื้อพลังงานทั้งน้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลในปริมาณมาก เพื่อทำการผลิตไฟฟ้า รวมทั้งสถานการณ์การปิดซ่อมโรงกลั่นของประเทศไต้หวันอาจทำให้การประเมินสถานการณ์ด้านพลังงานที่คาดว่าเหตุการณ์ที่ประเทศญี่ปุ่นจะช่วยลดแรงกดดันด้านราคาน้ำมันไม่เป็นไปตามที่ สศช. ประเมินไว้ อย่างไรก็ดี ต้องรอดูสถานการณ์โรงไฟฟ้าของประเทศญี่ปุ่นด้วยว่าระบบหล่อเย็นจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่

5. ด้านการค้า การลงทุน ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ได้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาสินค้าตกค้าง และจัดทำแผนงานในการหาตลาดทดแทนโดยมุ่งตลาดอาเซียนและจีนเพิ่มขึ้น และเนื่องจากประเทศไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกันมาก โดยเฉพาะภายใต้กรอบความร่วมมือหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) จึงควรมีการสานสัมพันธ์โดยให้ความช่วยเหลือประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะได้ประสานกระทรวงการต่างประเทศเพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือที่สอดรับกับความต้องการของญี่ปุ่นต่อไป

6. ด้านตลาดการเงินและค่าเงิน อัตราแลกเปลี่ยนช่วงที่ผ่านมามีความผันผวนมาก โดยช่วงหลังเกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ เงินเยนมีการอ่อนค่าและกลับมาแข็งค่าขึ้นทันทีในช่วงระยะสั้น โดยมีแรงเก็งกำไรจากตลาดเข้ามาเป็นปัจจัยร่วม จาก รายงานข่าวที่มีการคาดการณ์ว่าจะมีการขายพันธบัตรญี่ปุ่นในตลาดต่างประเทศเพื่อนำเงินกลับเข้ามาใช้ในการรักษาสภาพคล่องและฟื้นฟูประเทศนั้น ธปท. ประเมินว่าคงมีไม่มาก ประกอบกับรัฐบาลญี่ปุ่นได้มีการทำประกันภัยไว้ในระดับหนึ่ง คาดว่ารัฐบาลญี่ปุ่นคงจะมีภาระค่าใช้จ่ายเฉพาะในส่วนที่เกินจากวงเงินประกัน ส่วนค่าเงินเยนในระยะต่อไปนั้น ควรต้องดูความสัมพันธ์ของอัตราแลกเปลี่ยนกับกลุ่มประเทศ G3 ควบคู่ไปด้วย อย่างไรก็ดี การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยและภูมิภาคอาเซียนในภาพรวมดีกว่ากลุ่มประเทศ G3 อยู่แล้ว

7. ด้านแรงงาน

7.1 สำนักงานแรงงานในประเทศญี่ปุ่นได้ส่งเจ้าหน้าที่เดินทางไปเมืองเซนไดร่วมกับคณะของสถานเอกอัครราชทูต (สอท.) ณ กรุงโตเกียว โดยได้ช่วยเหลือแรงงานไทย จำนวน 7 คน และเคลื่อนย้ายแรงงานในจังหวัดมิยากิ จำนวน 70 คน มายังโตเกียว ทั้งนี้ ในส่วนของแรงงานที่ประสงค์ขอเดินทางกลับประเทศไทย สำนักงานแรงงานฯ จะได้ประสานกับสถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อให้ความความช่วยเหลือในการเดินทางกลับประเทศไทยโดยเร็ว

7.2 ผู้ฝึกงานตามโครงการ IMM Japan ในญี่ปุ่น ที่ยังไม่ครบกำหนดเวลาฝึกงาน สำนักงานแรงงานฯ ได้ประสานเพื่อให้นายจ้างอนุญาตให้ลาพักผ่อนเพื่อกลับประเทศไทยชั่วคราว และในกรณีที่ใกล้ครบกำหนดเวลาฝึกงานหรือระยะเวลาผ่านการฝึกอบรมแล้วร้อยละ 80 จะได้ประสานขอความร่วมมือให้แรงงานหรือผู้ฝึกงานเดินทางกลับประเทศไทยโดยถือว่าได้มีการฝึกอบรมหรือฝึกงานครบตามกำหนดและได้รับสิทธิประโยชน์ครบถ้วนตาม MOU

7.3 สำหรับแรงงานไทยที่ไม่ต้องการกลับไปทำงานในประเทศญี่ปุ่นอีก กระทรวงแรงงานจะประสานให้ทำงานกับสถานประกอบการของชาวญี่ปุ่นในไทย เนื่องจากแรงงานดังกล่าวมีประสบการณ์ ทักษะฝีมือ และมีความรู้เกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่น

8. ด้านความปลอดภัย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดทั้งทางด้านอากาศ อาหาร และการเดินทางเข้าประเทศของผู้โดยสารจากประเทศญี่ปุ่น โดยทางด้านอากาศ ได้มีการติดตามตรวจสอบจากศูนย์เฝ้าระวัง 8 จุดทั่วประเทศ ด้านอาหาร ได้มีการประสานกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) โดยได้มีการสุ่มตรวจด้วยการเปรียบเทียบกับข้อมูลก่อนเกิดเหตุการณ์ ส่วนด้านการเดินทางเข้าประเทศได้มีการประสานการทำงานกับการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย โดยมีการตรวจสอบทั้งเครื่องบินและผู้โดยสาร ซึ่งจากสถานการณ์ปัจจุบันพบว่ายังไม่มีเหตุการณ์ที่เป็นอันตราย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 มีนาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ