คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงพาณิชย์รายงานสถานการณ์และการแก้ไขปัญหาราคาไข่ไก่ ดังนี้
1. สถานการณ์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ปี 2552 ปี 2553 ปี 2554 ผลผลิต (ล้านฟอง) 9,618 9,757 10,010 บริโภคในประเทศ (ล้านฟอง) 9,268 9,600 9,849 การส่งออก (ล้านฟอง) 350 143.8 7.026 (ม.ค.54) ต้นทุนการผลิต (บาท/ฟอง) 2.18 2.26 2.49 (ก.พ.54) ราคาไข่ไก่ คละ ณ แหล่งผลิต (บาท/ฟอง) 2.27 2.55 3.00 (21 มี.ค.54) ราคาขายปลีกไข่ไก่ เบอร์ 3 (บาท/ฟอง) 2.73 2.92 3.35 (21 มี.ค.54)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
1.1 การผลิต คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ได้สรุปสถานการณ์การผลิตปัจจุบัน มีแม่ไก่ไข่ยืนกรงจำนวน 38 — 39 ล้านตัว ปัญหาโรคระบาดที่เกิดขึ้นในระบบการเลี้ยงไก่ไข่ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553 เป็นต้นมา ทำให้อัตราการให้ไข่โดยรวมลดลงร้อยละ 20 ส่งผลให้ผลผลิตไข่ไก่ที่ออกสู่ตลาดลดลงจากวันละ 30 — 31 ล้านฟอง เหลือวันละ 24 — 25 ล้านฟอง ในขณะที่ความต้องการบริโภคไข่ไก่ในประเทศอยู่ที่ประมาณวันละ 26 — 27 ล้านฟอง
1.2 การตลาด จากการติดตามภาวะการค้าและความเคลื่อนไหวของราคาไข่ไก่ ปรากฏว่า โดยภาพรวมปริมาณไข่ไก่ที่เข้าสู่ระบบตลาดมีจำนวนลดลง ผู้ประกอบการค้าส่งไข่ไก่ได้รับไข่ไก่ลดลงกว่าปกติ ปริมาณที่ขาดไปเฉลี่ยตั้งแต่ร้อยละ 10 - 30 ขึ้นอยู่กับผลกระทบความเสียหายที่เกิดขึ้นในระบบการเลี้ยงของฟาร์มคู่ค้า ซึ่งปัจจุบันปริมาณผลผลิตที่ลดลงอยู่ในสัดส่วนที่สูงกว่าความต้องการของตลาดที่ลดลงจากภาวะโรงเรียนปิดเทอม ส่งผลให้ราคาไข่ไก่ยังอยู่ในระดับสูง
ด้านการส่งออกไข่ไก่ ในเดือนมกราคม 2554 มีการส่งออกไข่ไก่จำนวน 7 ล้านฟอง ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 75 (ม.ค.53 ส่งออกไข่ไก่จำนวน 28 ล้านฟอง) โดยมีสาเหตุจากปริมาณ ไข่ไก่ที่ลดลง ไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ และข้อเสียเปรียบประเทศคู่แข่งในด้านของราคา
2. การดำเนินการ กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาในส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
2.1 ด้านผู้บริโภค เพื่อมิให้มีการฉวยโอกาสปรับราคาในแต่ละช่วงการตลาด โดยไม่เป็นธรรม ได้เข้มงวดด้านการกำกับดูแลราคาขายส่งขายปลีก และการปิดป้ายแสดงราคาขายปลีก โดยติดตามตรวจสอบภาวะการค้า และขอความร่วมมือผู้ค้าพิจารณากำหนดราคาขายส่งขายปลีกให้สอดคล้องกับภาวะอุปสงค์อุปทานและต้นทุนที่แท้จริง รวมทั้งได้เผยแพร่ราคาขายปลีกไข่ไก่แนะนำเพื่อเป็นข้อมูลด้านการตลาดให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคทราบ โดยปัจจุบัน ราคาขายปลีกแนะนำสำหรับไข่ไก่ เบอร์ 2 อยู่ที่ฟองละ 3.50 บาท และ เบอร์ 3 อยู่ที่ฟองละ 3.40 บาท นอกจากนี้ ได้ประสานเชื่อมโยงผู้เลี้ยงไก่ไข่นำไข่ไก่ไปจำหน่ายในราคาถูกกว่าท้องตลาดทั่วไป เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน ภายในงาน ธงฟ้าที่จัดขึ้นทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคทั่วประเทศ รวม 394 ครั้ง และได้ดำเนินการไปแล้ว รวม 155 ครั้ง ตั้งแต่ต้นปี 2554 เป็นต้นมา
2.2 ด้านเกษตรกรผู้เลี้ยง เพื่อช่วยลดภาระต้นทุนการผลิต ได้กำกับดูแล รวมทั้งขอความร่วมมือผู้ประกอบการอาหารสัตว์ ให้จำหน่ายอาหารสัตว์ในราคาที่สอดคล้องกับราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์
2.3 การกำกับดูแลภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
2.3.1 การติดตามพฤติกรรมทางการค้า ภายใต้ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 ได้ดำเนินการ ดังนี้
(1) คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า มีมติ (4 ก.พ.54) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องการกำหนดเกณฑ์ผู้มีอำนาจเหนือตลาด
(2) เสนอคณะรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงกฎหมาย
(3) แต่งตั้ง คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงและพฤติกรรมทางการค้าของผู้ประกอบการสินค้าไข่ไก่ ไก่เนื้อ และสุกร ได้กำหนดประชุมเพื่อพิจารณาพฤติกรรมทางการค้าของผู้ประกอบธุรกิจสินค้าไข่ไก่ ในวันที่ 30 มีนาคม 2554
2.3.2 การติดตามกำกับดูแลด้านราคา ภายใต้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกำหนดราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มีการติดตามตรวจสอบภาวะการค้า และการกำหนดราคาอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง โดยใช้ทั้งมาตรการขอความร่วมมือ และการป้องปราม เพื่อขอให้กำหนดราคาไข่ไก่ที่เป็นธรรมตามกลไกตลาด
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการประชาวิวัฒน์ ด้านการลดค่าครองชีพสินค้า สุกร ไก่เนื้อ และ ไข่ไก่ ของรัฐบาล ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2554 ดังนี้
1. กำหนดให้ไข่ไก่เป็นสินค้าควบคุม
2. กำหนดมาตรการให้ผู้ครอบครองข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีปริมาณตั้งแต่ 50 ตันขึ้นไป ต้องแจ้งปริมาณ สถานที่เก็บ และจัดทำบัญชีคุมสินค้า เป็นประจำทุกเดือน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2554 เป็นต้นไป
3. จัดจำหน่ายไข่ไก่เป็นกิโลกรัม ได้เชื่อมโยงสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ในแหล่งผลิตสำคัญดำเนินการจัดจำหน่ายไข่ไก่เป็นกิโลกรัมทุกสัปดาห์ จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี อ่างทอง และ เชียงใหม่ โดยกรมการค้าภายในสนับสนุนเครื่องชั่งดิจิตอล และป้ายประชาสัมพันธ์ขนาดใหญ่
อนึ่ง สำหรับการกำหนดมาตรการทางกฎหมายกับสินค้าไข่ไก่ ทั้งด้านปริมาณและราคา อาทิ การกำหนดราคาควบคุม การแจ้งต้นทุนการผลิต การแจ้งปริมาณครอบครอง หรือการควบคุมการเคลื่อนย้าย ในเบื้องต้น กระทรวงพาณิชย์มีความเห็นว่า จำเป็นต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ และต้องบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้มาตรการที่เป็นเอกภาพ สามารถเอื้อประโยชน์ให้แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในระบบ เนื่องจากไข่ไก่เป็นสินค้าเกษตรที่ปริมาณผลผลิตขึ้นอยู่กับปัจจัยทางธรรมชาติที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น สภาวะอากาศ ภาวะโรคระบาด รวมทั้งปัจจัยการผลิตที่ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ อีกทั้งมีผู้เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่หลายกลุ่มและมีจำนวนมาก เช่น ผู้เลี้ยงไก่ไข่ ที่เป็นครัวเรือนการค้ามากกว่า 4,000 ราย และเกษตรกรรายย่อยอีกกว่า 10,000 ราย ผู้ประกอบการค้าก็มีทั้งผู้ค้าส่ง ผู้ค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า หรือแม้แต่ผู้ค้า ตลาดนัด และรถเร่ ซึ่งปัจจัยดังกล่าว มีผลต่อการวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูล เพื่อกำหนดมาตรการ เช่น ต้นทุน หรือ ค่าการตลาดของแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกัน ตามสภาพการบริหารจัดการที่แตกต่างกัน เป็นต้น
ทั้งนี้ ได้กำหนดเชิญสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ สมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ สมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ และบริษัทผู้เลี้ยงไก่ไข่รายใหญ่ รวมทั้งกรมปศุสัตว์ และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ประชุมในวันอังคารที่ 22 มีนาคม 2554 เพื่อหารือแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ในด้านต้นทุนการผลิต และบรรเทาภาระความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนผู้บริโภค
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 มีนาคม 2554--จบ--