คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปรายงานภาวะสังคมไตรมาสสี่ และภาพรวมปี 2553 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ สรุปสาระสำคัญดังนี้
1. เศรษฐกิจไทย การจ้างงาน และรายได้แรงงานไทย: ตลอดปี 2553 เป็นช่วงของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ธุรกิจส่วนใหญ่กลับมาฟื้นตัว ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนโดยเฉลี่ยดีขึ้นจากการมีงานทำมากขึ้น ปัญหาการว่างงานหมดไป แต่ผู้ประกอบการต้องมาเผชิญกับปัญหาตลาดแรงงานตึงตัว
1.1 ในไตรมาส 4/2553 การจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 0.9 เป็นผู้ว่างงาน 337.4 พันคน ผู้ประกันตนที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานลดลงต่อเนื่องเป็น 109,991 คน ตลอดปี 2553 มีการจ้างงานเฉลี่ย 38.02 ล้านคนเพิ่มขึ้นจากปี 2552 ร้อยละ 0.8และมีการว่างงานเฉลี่ยเพียงร้อยละ 1.1 ตลาดแรงงานยังอยู่ในภาวะตึงตัวมากในทุกระดับ ส่วนหนึ่งสะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของตลาดแรงงานที่อุปทานแรงงานไม่ตรง/ไม่สอดคล้องกับความต้องการแรงงานในตลาด ขณะที่แรงงานระดับล่างก็ยังเป็นปัญหาเดิมที่ต้องพึ่งพิงแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะในกิจการ 3D
1.2 ในปี 2554 ปัจจัยที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตแรงงาน ได้แก่ (1) ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตอาจทำให้ผู้ประกอบการชะลอการจ้างงาน และต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจะมีผลให้มีการปรับราคาสินค้าขึ้น ค่าจ้างที่แท้จริงจึงเพิ่มขึ้นได้ไม่มาก (2) การปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานและการขาดแคลนแรงงานระดับล่าง โดยเฉพาะแรงงานพื้นฐานทั้งในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การค้าส่งค้าปลีก และการก่อสร้าง ทำให้ผู้ประกอบการหันไปใช้แรงงานต่างด้าวมากขึ้น โดยส่วนหนึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมายส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในระยะยาว อีกทั้งเป็นการแย่งงานของแรงงานไทยฝีมือบางกลุ่มที่พร้อมจะทำงาน
2. ในด้านสังคมยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างและภาวะสังคมหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหายาเสพติด ความขัดแย้งในสังคม และปัญหาเด็กและเยาวชน อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาสังคมมีความชัดเจนขึ้นในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับปรุงด้านคุณภาพบริการทางสังคมทั้งด้านสาธารณสุข การศึกษา และสวัสดิการทางสังคมอื่น ๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสให้มีความครอบคลุมมากขึ้น ปัญหาและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่สำคัญได้แก่
2.1 ในด้านการศึกษา คุณภาพการศึกษายังเป็นต่อเนื่อง ผลสัมฤทธิ์การศึกษายังต่ำในทุกระดับโดยเฉพาะในวิชาพื้นฐานหลักอย่างคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และวิทยาศาสตร์แต่คาดว่าการผลักดันในเรื่องการปรับปรุงคุณภาพการศึกษาที่ชัดเจนขึ้นเพื่อเร่งเข้าสู่เป้าหมายการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่จะสองจะช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้ในอนาคต
2.2 พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม ได้แก่ (1) ปัญหาการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงและเยาวชนอายุ 15-24 ปี (2) ปัญหาการใช้ชีวิตของเด็กวัยรุ่นและเยาวชนไทยทั้งในเรื่องการใช้ความรุนแรง และปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรที่นำไปสู่ปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร รวมทั้งการทำแท้งอย่างผิดกฎหมาย โดยในปี 2553 การตั้งครรภ์ของแม่อายุน้อยกว่า 20 ปี มีจำนวนสูงขึ้นและสูงกว่าค่าเฉลี่ยมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนด
2.3 คดีอาชญากรรมโดยรวมยังพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะคดียาเสพติดเพิ่มสูงสุดในรอบ 8 ปี ในไตรมาสสี่มีการจับกุมคดียาเสพติดซึ่งมีสัดส่วนมากที่สุดมีจำนวน 77,839 คดี เพิ่มขึ้นจากไตรมาสสามร้อยละ 7.2 รวมทั้งปีมีการจับกุมสูงถึง 266,010 คดี เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 11.6 โดยเยาวชนวัย 20-24 ปี ถูกจับกุมมากที่สุด และผลกระทบในฐานะผู้เสพมีมากที่สุดในกลุ่มแรงงานระดับล่างและผู้ที่ไม่มีงานทำ ขณะที่ปัญหาการกระทำความรุนแรงต่อเด็กและสตรีมีมากขึ้น
3. เรื่องเด่นประจำฉบับ “เด็กปฐมวัย: ต้นทุนของการพัฒนา” สภาพเศรษฐกิจสังคมและการดำเนินชีวิตในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อปัญหาเด็กและเยาวชน ทั้งเรื่องความก้าวร้าวรุนแรง เครียด ฆ่าตัวตาย ติดยา และเพศสัมพันธ์ ที่มีความรุนแรงมากขึ้น การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในระยะต่อไปซึ่งเข้าสู่ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 นั้น รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญการพัฒนาเด็กและเยาวชนภายใต้แผนปฏิรูปประเทศไทย จึงได้กำหนด “แผนการพัฒนาเด็กและเยาวชนเพื่อสร้างอนาคตของชาติ” รวมทั้งมีแผนในการยกระดับสวัสดิการสังคมสำหรับเด็กปฐมวัย/แม่และเด็ก ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาในทุกช่วงวัยโดยเฉพาะช่วงปฐมวัย ซึ่งเป็นช่วงวัยที่สำคัญและจำเป็นที่สุดของการวางรากฐานการพัฒนาความเจริญเติบโตในทุกด้านของมนุษย์ ทั้งนี้ จากผลการสำรวจระดับเชาวน์ปัญญาและพัฒนาการของเด็กไทยที่ผ่านมาชี้ถึงการมีพัฒนาการด้านสติปัญญาช้าและระดับเชาวน์ปัญญาค่อนข้างต่ำ โดยพัฒนาการสมวัยของเด็ก 0-5 ปี ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ปกติร้อยละ 67 ในปี 2550 ลดลงจากร้อยละ 72 ในปี 2547 ขณะที่ความฉลาดทางอารมณ์ของเด็ก 3-5 ปี อยู่ในเกณฑ์ปกติที่ 125-198 คะแนน ในปี 2550 ลดลงจากเกณฑ์ปกติที่ 139-202 คะแนน ในปี 2545 เด็ก 6-12 ปี ค่าเฉลี่ยของระดับเชาว์ปัญญาเท่ากับ 91 และมากกว่าร้อยละ 25 มีค่าไอคิวต่ำกว่า 90 ในปี 2552
ขณะที่รัฐได้จัดสวัสดิการสังคมเพื่อคุ้มครองแม่และเด็กภายใต้แผนปฏิรูปประเทศไทย ได้กำหนดยุทธศาสตร์การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและขยายสวัสดิการสังคมในกลุ่มเด็ก 0-2 ปี และหญิงมีครรภ์ โดยจัดให้หญิงตั้งครรภ์ทั่วไปได้รับแร่ธาตุและสารอาหารที่จำเป็นกับหญิงตั้งครรภ์กลุ่มเสี่ยง ตรวจสุขภาพระหว่างตั้งครรภ์ การอบรม อสม. เยี่ยมบ้านพ่อแม่มือใหม่ และบริการให้คำปรึกษาแนะนำในการเลี้ยงลูก ส่งเสริมให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน สำหรับเด็ก 3-5 ปี จัดสวัสดิการด้านการศึกษา โดยจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและพัฒนาให้มีคุณภาพทั่วประเทศ รวมทั้งส่งเสริมภาคเอกชนดำเนินกิจกรรมเพื่อรับผิดชอบต่อสังคมในการจัดสวัสดิการสำหรับเด็กก่อนวัยเรียนและการดูแลเด็กเล็กในเขตพื้นที่ก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่
โดยสรุปการพัฒนาและส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการสมวัยทั้งด้านสติปัญญาและอารมณ์ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนและครบวงจร โดย (1) ส่งเสริมการวางแผนครอบครัวและงานอนามัยแม่และเด็กทั้งในเรื่องการดูแลก่อนและหลังคลอด สนับสนุนให้หญิงตั้งครรภ์ให้ได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างครบถ้วน และลด/ป้องกันภาวะความเสี่ยงที่จะเกิดกับเด็ก (2) ขยายการคุ้มครองสังคมโดยอุดหนุนการเลี้ยงดูบุตรในช่วงปฐมวัย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เพื่อสนับสนุนให้เด็กมีโภชนาการครบถ้วน คุ้มครองกลุ่มวัยแรงงานด้านการประกอบอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ และขยายโอกาสให้เข้าอยู่ในระบบประกันสังคมเพื่อได้รับสิทธิประโยชน์เงินอุดหนุนเลี้ยงดูบุตร (3) รณรงค์และให้ความรู้พ่อแม่ และผู้เลี้ยงดูหลักของเด็กในการเลี้ยงดูเด็กที่ช่วยกระตุ้นและส่งเสริมพัฒนาการของเด็กอย่างเหมาะสม การเอาใจใส่และฝึกให้เด็กมีความเป็นอยู่และพฤติกรรมการกินที่เหมาะสม และ (4) ส่งเสริมและพัฒนาระบบการเรียนการสอนทั้งในด้านครู/บุคลากร อุปกรณ์การเรียน/ของเล่น กิจกรรม/วิธีการเรียนการสอนที่ส่งเสริมกระตุ้นพัฒนาการของเด็กทั้งระดับปฐมวัยและวัยเรียน
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 มีนาคม 2554--จบ--