สรุปผลโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2553/54

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 23, 2011 14:39 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสรุปผลการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2553/54 ตามที่คณะกรรมการนโยบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เสนอดังนี้

สาระสำคัญของเรื่อง

สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2553/54 ซึ่งคณะกรรมการนโยบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้รายงานความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าวสรุปได้ดังนี้

1. ผลการดำเนินการ

1.1 ผลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของกรมส่งเสริมการเกษตร ณ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2554 มีจำนวนทั้งสิ้น 492,249 ครัวเรือน (122.96% ของฐานข้อมูลเดิม) คิดเป็นพื้นที่ 9,581,143 ไร่ (เฉลี่ย 19.46 ไร่/ครัวเรือน) ผ่านการทำประชาคม 463,789 ครัวเรือน (94.22% ของเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน) และทำสัญญากับ ธ.ก.ส. แล้วจนถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2554 จำนวน 421,270 ราย (90.83% ของจำนวนเกษตรกรที่ผ่านประชาคม) และมีเกษตรกรมาขอใช้สิทธิประกันรายได้แล้ว 39,020 สัญญา แต่ไม่มีการจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกร เนื่องจากเกณฑ์กลางอ้างอิงที่ประกาศสูงกว่าราคาประกันรายได้

1.2 คณะอนุกรรมการกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงที่มีนายอำนวย ปะติเส เป็นประธานฯ ได้มีการประชุมพิจารณากำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2553 — 28 กุมภาพันธ์ 2554 รวมจำนวน 16 ครั้ง ซึ่งเกณฑ์กลางอ้างอิงที่คำนวณได้ตลอดทั้งโครงการสูงกว่าราคาประกันรายได้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่กำหนดไว้ที่ กก.ละ 7.14 บาท เนื่องจากปริมาณผลผลิตของโลกและของไทยลดลงจากปีที่ผ่านมา ในขณะที่ความต้องการใช้มีเพิ่มขึ้น จึงไม่มีอัตราชดเชยส่วนต่างรายได้ให้แก่เกษตรกรที่มาขอใช้สิทธิตามสัญญาประกันรายได้

1.3 คณะอนุกรรมการกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงฯ ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องร่วมประชุมหารือเพื่อประเมินสถานการณ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2553 ได้ข้อสรุปว่า 1) ในปีการผลิต 2553/54 คาดว่าราคาข้าวโพดจะอยู่ในระดับสูงกว่าราคาประกัน รัฐไม่ต้องจ่ายชดเชยส่วนต่างราคาให้เกษตรกร 2) ผลกระทบจากภาวะภัยแล้งส่งผลให้ผลผลิตลดลง เอกชนบางรายได้นำเข้าข้าวสาลี เพื่อสำรองไว้ทดแทนข้าวโพดบางส่วน 3) เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและอาจมีรายได้รวมจากการปลูกข้าวโพดลดลง ภาครัฐควรพิจารณาปรับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้ขั้นต่ำสอดคล้องกับนโยบายประกันรายได้ของเกษตรกร

1.4 คณะกรรมการนโยบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้พิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรเป็น 2 แนวทางตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิง คือ 1) ปรับลดราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงที่คำนวณได้ในอัตราเดียวกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น หรือ 2) จ่ายเงินชดเชยส่วนต่างรายได้ให้เกษตรกรระหว่างรายได้ที่คำนวณจากปริมาณผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ต้นฤดูกาลคูณกับราคาประกัน กับรายได้ที่คำนวณจากผลผลิตต่อไร่ที่กระทรวงเกษตรฯ คำนวณใหม่คูณกับเกณฑ์กลางอ้างอิงงวดที่เกษตรกรขอใช้สิทธิ ซึ่งเมื่อคำนวณดูแล้วปรากฏว่ายังไม่มีอัตราเงินชดเชยส่วนต่าง เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้นต่ำกว่าราคาจำหน่ายที่ปรับตัวสูงขึ้น

3. สถานการณ์ปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

3.1 ในช่วงนี้เป็นช่วงปลายฤดูการผลิต เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จสิ้นแล้วราคาข้าวโพด (ณ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554) ที่เกษตรกรขายได้ กก.ละ 8.27 บาท และราคาโรงงานอาหารสัตว์รับซื้อ กก.ละ 9.51 บาท

3.2 จากการตรวจสอบสถิติการนำเข้าข้าวสาลี (พิกัด 10019099) ที่คาดว่าใช้เพื่อเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ พบว่าในปี 2553 มีการนำเข้าข้าวสาลีเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับปริมาณการนำเข้าข้าวสาลีในพิกัดเดียวกัน 3 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2553 (ม.ค. — ธ.ค. 53) มีการนำเข้าข้าวสาลีในพิกัดนี้จำนวน 772,588 ตัน ขณะที่การนำเข้าในปี 2550 — 52 นำเข้าเพียง 173,902 ตัน 175,809 ตัน และ 286,036 ตันตามลำดับ โดยมีการนำเข้าเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤษภาคม — พฤศจิกายน 2553 เนื่องจากในช่วงดังกล่าวราคานำเข้าข้าวสาลีต่อหน่วยต่ำกว่าราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ภายในประเทศ (ราคาปลายข้าวซีวัน ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และราคาหัวมันสด) ทั้งนี้ การนำเข้าข้าวสาลีในช่วงเดือนธันวาคม 2553 — มกราคม 2554 ลดน้อยลงมาก เนื่องจากราคาข้าวสาลีปรับตัวสูงกว่าราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ในประเทศจากปริมาณความต้องการของโลกเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ผลผลิตได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 มีนาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ