คณะรัฐมนตรีรับทราบมติการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 6/2553 เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2553 เสนอคณะรัฐมนตรีทราบ จำนวน 10 เรื่อง ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ ดังนี้
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รายงานมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 6/2553 เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2553 จำนวน 10 เรื่อง ได้แก่
1. (ร่าง) กรอบแนวคิดและทิศทางของแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2555 — 2559
มติที่ประชุม
เห็นชอบต่อ (ร่าง) กรอบแนวคิดและทิศทางของแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2555 - 2559 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ และมอบหมายให้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม นำเสนอสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อนำประเด็นยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (พ.ศ. 2555 — 2559) ภายใต้ (ร่าง) กรอบแนวคิดและทิศทางของแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ บรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555 — 2559) และรับข้อสังเกตของคณะกรรมการ ฯ เพื่อนำไปประกอบการจัดทำแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2555-2559 ต่อไป
2. ร่างยุทธศาสตร์การจัดการสิ่งแวดล้อมภูมิทัศน์
มติที่ประชุม
1. เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์การจัดการสิ่งแวดล้อมภูมิทัศน์ ตามที่คณะอนุกรรมการจัดการสิ่งแวดล้อมด้านมลทัศน์เสนอ
2. มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำแผนปฏิบัติการในการจัดการสิ่งแวดล้อมภูมิทัศน์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแปลงยุทธศาสตร์การจัดการสิ่งแวดล้อมภูมิทัศน์ไปสู่การปฏิบัติ โดยรับความเห็นและข้อสังเกตของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ไปประกอบการดำเนินการจัดการสิ่งแวดล้อมภูมิทัศน์อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อไป
3. การทบทวนการกำหนดประเภทและขนาดโครงการของหน่วยงานของรัฐที่ต้องเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม (13 กันยายน 2537)
มติที่ประชุม
1. เห็นชอบการทบทวนการกำหนดประเภทและขนาดโครงการของหน่วยงานของรัฐที่ต้องเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามมติคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม (13 กันยายน 2537) และกลไกการดำเนินงานด้านการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการต่างๆ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ
2. มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตรวจสอบการกำหนดประเภทและขนาดโครงการ ฯ ตามมติคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม (13 กันยายน 2537) ให้สอดคล้องกับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2552 จำนวน 34 ประเภท ก่อนนำความเห็นของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาต่อไป
4. การควบคุมความสูงของอาคารบริเวณรอบรัฐสภาแห่งใหม่
มติที่ประชุม
1. เห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน ในการประชุมครั้งที่ 45/2553 เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2553 และมอบหมายให้กรุงเทพมหานคร ประสานกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย เพื่อพิจารณาดำเนินการออกประกาศกระทรวง หรือข้อบัญญัติท้องถิ่นในการควบคุมความสูงของอาคารบริเวณโดยรอบรัฐสภาแห่งใหม่เป็นการเร่งด่วน
2. มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประสานกรุงเทพมหานครและกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามความเห็น และมติของคณะคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
5. การแก้ไขปรับปรุง ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 39 (พ.ศ. 2553) เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม
มติที่ประชุม
1. เห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ ... (พ.ศ. 2553) เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ
2. มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดทำร่างประกาศ ฯ ดังกล่าว เสนอประธานกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อพิจารณาลงนามต่อไปย
6. มาตรการเพิ่มเติมในการแก้ไขปัญหามลพิษในพื้นที่เขตควบคุมมลพิษจังหวัดระยองและพื้นที่ใกล้เคียง
มติที่ประชุม
1. เห็นชอบต่อมาตรการเพิ่มเติมในการแก้ไขปัญหามลพิษในพื้นที่เขตควบคุมมลพิษจังหวัดระยองและพื้นที่ ใกล้เคียง จำนวน 3 มาตรการ ตามความเห็นของคณะอนุกรรมการกำกับดูแลการแก้ไขปัญหามลพิษในเขตควบคุมมลพิษจังหวัดระยองและพื้นที่ใกล้เคียง ในการประชุมครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2553 ในเรื่องของน้ำมัน Euro 4 ให้กระทรวงพลังงานพิจารณาส่งเสริมให้มีการนำมาใช้ในพื้นที่ มาบตาพุดก่อนกำหนดที่บังคับใช้ตามกฎหมาย (วันที่ 1 มกราคม 2555) และในมาตรการที่ 3.2.1 มาตรการระยะสั้นข้อ (1) ที่มอบหมายการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการ ให้กรมควบคุมมลพิษ เป็นหน่วยงานสนับสนุนด้านวิชาการ
2. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงพลังงาน (กรมธุรกิจพลังงาน และพลังงานจังหวัดระยอง) และกระทรวงอุตสาหกรรม (กรมโรงงานอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) พิจารณาดำเนินการตามมาตรการเพิ่มเติมฯ ดังกล่าวและรับข้อสังเกตของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติไปดำเนินการต่อไป โดยให้กรมควบคุมมลพิษประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรายงานผลการดำเนินการให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติทราบทุก 6 เดือน
3. มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเร่งรัดการดำเนินการให้เป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในการแก้ไขปัญหามลพิษในพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง และรายงานผลการดำเนินการให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติทราบ ต่อไป
7. โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยรี จังหวัดอุตรดิตถ์
มติที่ประชุม
1. เห็นชอบรายงานการศึกษาทบทวนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยรี จังหวัดอุตรดิตถ์
2. ให้กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันแก้ไขและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่กำหนดไว้ในรายงานการศึกษาทบทวนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยรี จังหวัดอุตรดิตถ์ อย่างเคร่งครัด
3. ให้กรมชลประทานรับผิดชอบในการขอจัดสรรงบประมาณ เพื่อดำเนินการตามมาตรการป้องกันแก้ไขและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่กำหนดไว้
4. ให้กรมชลประทานนำความเห็นของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ต่อไป
8. โครงการเร่งรัดขยายทางสายประธานให้เป็น 4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2) ทางหลวงหมายเลข 4 สายตรัง-พัทลุง ตอน บ้านนาโยงเหนือ-เขาพับผ้า (บ้านนาวง) ของ กรมทางหลวง
มติที่ประชุม
1. เห็นชอบกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเร่งรัดขยายทางสายประธานให้เป็น 4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2) ทางหลวงหมายเลข 4 สายตรัง - พัทลุง ตอน บ้านนาโยงเหนือ — เขาพับผ้า (บ้านนาวง) ของ กรมทางหลวง ตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านคมนาคม ของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือโครงการร่วมกับเอกชน ในการประชุมครั้งที่ 8/2553 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2553 โดยให้กรมทางหลวงยึดถือปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด นอกจากนั้น ให้กรมทางหลวงปฏิบัติตามมาตรการ ฯ เพิ่มเติมใน 3 มาตรการ ดังนี้
1.1 การตัดต้นไม้ในเขตทาง ให้ดำเนินการเฉพาะเท่าที่จำเป็น โดยไม่ให้ตัดต้นไม้นอกเขตพื้นผิวจราจรที่จะก่อสร้าง
1.2 กำกับดูแลในระหว่างจัดเตรียมพื้นที่และการก่อสร้าง มิให้ขุดตักดินในเขตทางและบริเวณใกล้เคียงมาใช้ในการก่อสร้าง และให้คงสภาพตามลักษณะภูมิประเทศเดิม
1.3 กำกับผู้รับจ้างออกแบบก่อสร้าง และ/หรือผู้ดำเนินการก่อสร้างให้ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด และให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลโครงการด้วย
2. ให้กรมทางหลวง นำความเห็นของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อประกอบการอนุมัติโครงการและขอใช้พื้นที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
9. การเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นกรรมการในคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม
มติที่ประชุม
1. เห็นชอบรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเสนอ ดังนี้ จังหวัดกระบี่ ได้แก่ นายธรัช ธนิตนนท์ นายไมตรี บุญยัง นายพรเทพ สีบุญเรือง และนายชัยเลิศ ภิญโญรัตนโชติ และจังหวัดพังงา ได้แก่ นายวิชีพ จตุราบัณฑิต นายประดิษฐ์ เจริญงาน นายเฉลิมศักดิ์ อบสุวรรณ และนางยุพิน ตัณฑวณิช
2. มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แจ้งจังหวัดกระบี่ และจังหวัดพังงา เพื่อพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ต่อไป
10.โครงการเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนซีเมนต์ หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่อทำปูนขาว และหินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง คำขอประทานบัตรที่ 15/2551 ของบริษัท สหศิลาเพิ่มพูน จำกัด ตั้งอยู่ที่ตำบลเขาวง อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี
มติที่ประชุม
1. เห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่อทำปูนขาว และหินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ของบริษัท สหศิลาเพิ่มพูล จำกัด คำขอประทานบัตรที่ 15/2551 ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 9 ตำบลเขาวง อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านเหมืองแร่ และอุตสาหกรรมถลุงหรือแต่งแร่ ในการประชุมครั้งที่ 21/2553 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553
2. ให้บริษัท สหศิลาเพิ่มพูล จำกัด ในฐานะผู้ขออนุญาตปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ ฯ อย่างเคร่งครัด
3. ให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ นำมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการฯ ไปกำหนดเป็นเงื่อนไขในการสั่งอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่ของบริษัท สหศิลาเพิ่มพูล จำกัด โดยให้ถือว่าเป็นเงื่อนไขที่กำหนดตามกฎหมายว่าด้วยแร่ ด้วย
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 มีนาคม 2554--จบ--