ขอความเห็นชอบแนวทางในการรักษาตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมของประเทศไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 23, 2011 16:35 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแนวทางเพื่อรักษาตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมสองตำแหน่ง ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ทก.) เสนอ

1. ตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม 120 องศาตะวันออก มีพื้นที่ครอบคลุมประเทศไทย และประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชีย ทวีปออสเตรเลีย มหาสมุทรอินเดีย และบางส่วนของมหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญ รวมทั้งสามารถใช้ประโยชน์จากย่านความถี่เพื่อความมั่นคงของรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเห็นควรเร่งรัดการดำเนินงานเพื่อให้มีการจัดหาดาวเทียมสื่อสารที่มีย่านความถี่ต่างๆ เช่น KU-Band C-Band X-Band หรืออื่นๆ ที่เหมาะสม โดยเห็นควรให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัด ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน การจัดทำคำของบประมาณเพื่อการลงทุน โดยให้ดำเนินการจัดหาตามระเบียบการจัดซื้อของหน่วยงาน ซึ่งจะดำเนินการได้รวดเร็ว และสามารถรักษาตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมในตำแหน่งนี้ได้

2. ตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม 50.5 องศาตะวันออก เห็นควรให้ดำเนินการจัดหาดาวเทียมด้วยการให้สัมปทานภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 เพื่อใช้ประโยชน์ตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมตำแหน่งนี้โดยเร่งด่วนต่อไป

3. ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทก. จะเร่งรัดการดำเนินงานโดยทันที และจะรายงานเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบความก้าวหน้าภายใน 45 วัน

สาระสำคัญของเรื่อง

ทก. รายงานว่า

1. ปัจจุบันประเทศไทยมีตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม จำนวน 6 ตำแหน่ง ซึ่งในการจองตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมประเทศไทยต้องการดำเนินการตามข้อบังคับวิทยุของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union-ITU) ที่มีขั้นตอนสำคัญ ได้แก่

(1)การจัดพิมพ์เอกสารล่วงหน้า (Advance Publication of Information: API) ขั้นตอนนี้ประเทศที่ต้องการวางแผนใช้ข่ายสื่อสารดาวเทียม จะต้องยื่นเอกสารข้อมูลของข่ายสื่อสารดาวเทียม ต่อสำนักงานวิทยุคมนาคม (Radio Communication Bureau: BR) สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) โดยจะต้องแสดงรายละเอียดของย่านความถี่ที่ต้องการใช้อย่างชัดเจนเพื่อแสดงความจำนงในการจองตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม ทั้งนี้ เมื่อยื่นเอกสารต่อ BR แล้วเอกสารดังกล่าวจะมีอายุ 7 ปี นับจากวันที่ BR ได้รับข้อมูล API (Date of Receive)

(2) การประสานงานความถี่ (Coordination) ในขั้นตอนนี้ประเทศที่ต้องการวางแผนใช้ข่ายสื่อสารดาวเทียม จะต้องส่งข้อมูลรายละเอียดของดาวเทียมให้กับ BR (โดยการส่งข้อมูลการประสานงานความถี่ สามารถส่งได้ตั้งแต่ 6 เดือนนับจากวันที่ BR ได้รับเอกสารในขั้น API แต่ไม่เกินกำหนดระยะเวลา 2 ปี มิฉะนั้นเอกสารดังกล่าวจะถูกยกเลิก) จากนั้น BR จะทำการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารและจัดพิมพ์ข้อมูลดังกล่าวพร้อมรายชื่อประเทศที่จะต้องประสานงานความถี่ด้วย เพื่อให้ประเทศต่างๆ ตรวจสอบผลกระทบการรบกวนที่จะเกิดขึ้น ซึ่งในขั้นตอนนี้ประเทศที่ต้องการวางแผนการใช้ข่ายสื่อสารดาวเทียมจะต้องประสานงานความถี่วิทยุกับประเทศที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการรบกวนในระดับรุนแรงโดยตรง เพื่อแก้ไขปัญหาการรบกวนที่เกิดขึ้นและแจ้งผลประสานงานให้ BR ทราบ

(3) การแจ้งจดทะเบียนความถี่วิทยุ (Notification) ในขั้นตอนนี้ ประเทศที่ต้องการวางแผนใช้ข่ายสื่อสารดาวเทียม ต้องส่งเอกสารแจ้งจดทะเบียนความถี่วิทยุให้กับ BR ภายหลังจากการประสานงานข่ายสื่อสารดาวเทียมกับประเทศต่างๆ ได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว จากนั้น BR จะทำการตรวจสอบความถูกต้องและจดทะเบียนความถี่วิทยุลงในทะเบียนความถี่วิทยุหลัก (Master International Frequency Register: MIFR) ทั้งนี้ เพื่อให้ข่ายสื่อสารดาวเทียมดังกล่าวได้รับความคุ้มครองการรบกวนจากข่ายสื่อสารดาวเทียมของประเทศอื่น

2. ปัจจุบันประเทศไทยมีการจองตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมกับ ITU จำนวน 6 ตำแหน่ง ได้แก่ 50.5 องศาตะวันออก 78.5 องศาตะวันออก 119.5 องศาตะวันออก 120 องศาตะวันออก 126 องศาตะวันออก และ 142 องศาตะวันออก ที่มีเอกสารการจองตำแหน่งเพื่อใช้คลื่นความถี่ประเภทต่างๆ อาทิ ย่านความถี่ Ku-Band C-Band Ka-Band L-Band S-Band และ X-Band ซึ่งประเทศไทยได้ส่งเอกสารการจองไว้ จำนวน 27 ชุด ขณะนี้ตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมของประเทศไทยดังกล่าวมีสถานะการใช้งาน ดังนี้

1) ตำแหน่งวงโคจรที่ 78.5 องศาตะวันออก และ 119.5 องศาตะวันออก ยังคงมีดาวเทียมให้บริการคือ ดาวเทียมไทยคม 5 และดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) สถานภาพในขณะนี้จึงยังไม่มีประเด็นการเสียสถานะของตำแหน่งวงโคจร

2) ตำแหน่งวงโคจรที่ 126 องศาตะวันออก และ 142 องศาตะวันออก ทั้งสองตำแหน่งไม่เคยมีการใช้งานดาวเทียม และขณะนี้ยังไม่มีแนวโน้มที่จะใช้งานในระยะเวลาอันใกล้ เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่มีพื้นที่ครอบคลุมบริเวณที่เป็นทะเลแถบมหาสมุทรอินเดีย และบางส่วนของมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งหากจะมีการดำเนินงานจะต้องใช้เงินลงทุนสูงในส่วนของสถานีรับ-ส่งบนโลก ที่ต้องจัดตั้งในบริเวณพื้นที่กลางทะเล อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการสร้างโอกาสในอนาคต ทก. ยังคงดำเนินการรักษาตำแหน่งวงโคจรดังกล่าวไว้ ด้วยการส่งเอกสารการจองเพิ่มเติมเพื่อรักษาสิทธิในตำแหน่งวงโคจร โดยขณะนี้สถานะของการจองตำแหน่งของตำแหน่งวงโคจรที่ 126 องศาตะวันออก มีอายุการจองสิ้นสุดในปี 2556 และ ตำแหน่งวงโคจร 142 องศาตะวันออก จะมีอายุการจองสิ้นสุดประมาณปลายปี 2555

3) สำหรับตำแหน่งวงโคจรที่มีความเสี่ยงต่อการหมดอายุการใช้งาน และมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการรักษาสิทธิในตำแหน่งวงโคจรโดยเร่งด่วนมี ดังนี้

3.1) ตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม 50.5 องศาตะวันออก กระทรวงฯ ได้นำดาวเทียมไทยคม 3 ไปรักษาสถานะจนดำเนินการปลดระวางที่ตำแหน่งนี้เมื่อเดือนตุลาคม 2549 และกระทรวงฯ มิได้ใช้งาน จนถูกทวงถามจาก ITU แต่เมื่อเดือนกันยายน 2552 กระทรวงฯ ได้แจ้งขอพักการใช้งานชั่วคราวเป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อรักษาตำแหน่งวงโคจรไว้ จนทำให้มีระยะเวลาสิ้นสุดการพักชั่วคราวที่เดือนตุลาคม 2554 และเพื่อให้มีความมั่นใจว่าจะสามารถรักษาตำแหน่งวงโคจรไปอีกระยะหนึ่ง กระทรวงฯ จึงอนุมัติให้บริษัทฯ ย้ายดาวเทียมไทยคม 2 จากตำแหน่ง 78.5 องศาตะวันออก ไปอยู่ที่ตำแหน่ง 50.5 องศาตะวันออก เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2553 ซึ่งถือเป็นการกลับมาใช้งานดาวเทียม ณ ตำแหน่ง 50.5 องศาตะวันออก ต่อมาบริษัทฯ ได้ดำเนินการปลดระวางดาวเทียมไทยคม 2 ที่ตำแหน่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2553 ซึ่งวิธีการนำดาวเทียมมาใช้งานเพียงระยะสั้นๆ นี้ ไม่ทำให้ ทก. มีความเชื่อมั่นว่าตำแหน่งวงโคจรตำแหน่งนี้ ได้รับการขยายระยะเวลาตามเงื่อนไขของ ITU ออกไปอีก 2 ปี เนื่องจากประเทศไทยยังมิได้มีดาวเทียมดวงใหม่เพื่อใช้งานอย่างต่อเนื่องที่ตำแหน่งนี้ ดังนั้น จึงมีความเสี่ยงต่อการหมดอายุได้ นอกจากนี้ มีหลายประเทศต้องการจะใช้ตำแหน่งวงโคจรนี้ เช่น ตุรกี จีน และบางประเทศในยุโรป อาจแจ้ง ITU ให้ตรวจสอบสถานะการใช้งานดาวเทียมของประเทศไทยที่ตำแหน่งนี้ หากพบว่าประเทศไทยยังไม่มีดาวเทียมใช้งานจริง ก็อาจเสียสิทธิการใช้ตำแหน่งวงโคจรนี้ได้

3.2) ตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม 120 องศาตะวันออก ได้มีแนวโน้มว่าหากมีการตรวจสอบจาก ITU เกี่ยวกับกำหนดเวลาการปลดระวางดาวเทียมไทยคม ณ ตำแหน่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2553 แล้วตามกฎข้อบังคับวิทยุของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ประเทศไทยจะต้องมีดาวเทียมใช้งาน ณ ตำแหน่งดังกล่าวภายใน 2 ปี ซึ่งขณะนี้จะครบกำหนดในวันที่ 17 มกราคม 2555

3. วงโคจรดาวเทียมในห้วงอวกาศ และสเปรกตรัมคลื่นความถี่วิทยุถือเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด ที่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการสื่อสารโทรคมนาคมผ่านดาวเทียมซึ่งสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ได้มีระบบควบคุมดูแลการเข้าใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม ประหยัด และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทุกประเทศทั่วโลก ส่วนการพัฒนากิจการอวกาศของประเทศไทยเพื่อใช้ประโยชน์จากวงโคจรดาวเทียม และสเปรกตรัมคลื่นความถี่วิทยุได้ดำเนินการมายาวนานนับเป็นเวลา 20 ปี ภายใต้การให้สัมปทานแก่ภาคเอกชนเพื่อดำเนินการกิจการสื่อสารดาวเทียมภายในประเทศ ในรูปแบบ Build Transfer Operate-BTO ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2534 ประเทศไทยมีดาวเทียมไทยคม 1-5 ซึ่งป็นดาวเทียมสื่อสารและใช้ประโยชน์ในการสื่อสารหลายรูปแบบ ได้แก่ การสื่อสารผ่านดาวเทียมแบบประจำที่ (Fixed Satellite Service) การสื่อสารผ่านดาวเทียมแบบเคลื่อนที่ (Mobile Satellite Service) และการให้บริการถ่ายทอดผ่านดาวเทียม (Broadcasting Satellite Service) ซึ่งทั้งสามประเภทของบริการจากดาวเทียม ได้มีการนำมาใช้เพื่อประโยชน์เพื่อการพาณิชย์ในด้านต่างๆ ที่ประเทศไทยได้นำมาใช้สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานด้านสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศไทย อีกทั้งบริการสื่อสารโทรคมนาคมได้เอื้อประโยชน์อย่างมหาศาลต่อประเทศ และประชาชนที่ทำให้ได้รับบริการสื่อสารโทรคมนาคมได้ครอบคลุมในทุกพื้นที่อย่างรวดเร็วและสามารถลดช่องว่างทางดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังเป็นบริการสื่อสารที่การสนับสนุน และสามารถตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม ได้แก่ นโยบายบรอดแบนด์ของประเทศไทย นโยบายการพัฒนาโครงข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้ง การพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคมยุคที่สาม ฯลฯ เป็นต้น (ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการกิจการดาวเทียมรายเดียวภายใต้สัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ซึ่งได้กำหนดความคุ้มครองการประกอบกิจการตามสัญญาดำเนินกิจการสื่อสารฯ ระยะเวลา 8 ปี นับแต่วันลงนามในสัญญาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2534 ที่สิ้นสุดระยะเวลาการคุ้มครองเมื่อปี 2542 แล้ว โดยที่องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ได้กำหนดเงื่อนไขการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมให้แก่ผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมที่ขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ผ่านดาวเทียมจากผู้ประกอบกิจการดาวเทียมสื่อสารของประเทศเป็นลำดับแรก ซึ่งหากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขนี้จะเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ดังนั้น จึงเป็นข้อจำกัดของการประกอบธุรกิจในเชิงพาณิชย์ของผู้ให้บริการระบบสื่อสารโทรคมนาคมในประเทศ เนื่องจากขณะนี้ไม่มีผู้ประกอบกิจการดาวเทียมสื่อสารรายอื่นๆ ให้เป็นทางเลือกในการให้บริการ)

4. ทก. ได้พิจารณาและเล็งเห็นความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องดำเนินการรักษาตำแหน่งวงโคจรของประเทศไทยที่เป็นทรัพยากรที่สำคัญและจำเป็นของประเทศอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมที่สามารถให้ประโยชน์ต่อความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศ คือตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม ณ 120 องศาตะวันออก และ 50.5 องศาตะวันออก เนื่องจากตำแหน่งวงโคจรทั้งสองแห่งดังกล่าวมีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ที่เป็นเขตเศรษฐกิจของโลกในบริเวณประเทศที่มีเขตที่ตั้งในทวีปเอเชีย (เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และบางส่วนของสาธารณรัฐประชาชนจีน) ทวีปออสเตรเลีย ทวีปแอฟริกา รวมทั้ง มหาสมุทรอินเดีย และบางส่วนของมหาสมุทรแปซิฟิก ที่มีประชากรซึ่งยังมีความต้องการใช้ระบบสื่อสารโทรคมนาคมจากการสื่อสารผ่านดาวเทียม เนื่องจากข้อจำกัดในด้านสภาพทางภูมิศาสตร์ ตลอดจน เป็นพื้นที่ที่มีความยุ่งยากในการที่จะใช้โครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมภาคพื้นดิน ซึ่งระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดที่จะทำให้ประชาชนผู้รับบริการในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดนั้นสามารถมีทางเลือกในการใช้บริการสื่อสารได้ ทั้งนี้ เนื่องจากการจัดสร้างดาวเทียมสื่อสารนั้นจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการประมาณ 2-3 ปี ซึ่งหากมิได้ดำเนินการกำหนดนโยบายใดๆ อาจจะทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อการรักษารักษาตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมที่สำคัญๆ ได้ แต่หากรัฐบาลมีความชัดเจนในนโยบายการดำเนินงานที่แสดงเจตนารมณ์ว่าจะดำเนินการจัดให้มีดาวเทียมสื่อสารของประเทศไทยเพื่อใช้ประโยชน์ในตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมตำแหน่งดังกล่าวแล้ว จะมีผลให้ทก. สามารถดำเนินการเจรจากับ ITU ได้ว่าขณะนี้รัฐบาลไทยได้มีแผนการดำเนินงานในเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ซึ่งจะช่วยทำให้การรักษาตำแหน่งวงโคจรในครั้งนี้เป็นไปด้วยความราบรื่น และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการรักษาตำแหน่งวงโคจรที่เป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดในครั้งนี้ได้ต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 มีนาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ