สรุปสถานการณ์ภัยแล้ง วาตภัย และการจัดการฝึกซ้อมแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจากภัย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 23, 2011 17:03 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง สรุปสถานการณ์ภัยแล้ง วาตภัย และการจัดการฝึกซ้อมแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจากภัย

การก่อวินาศกรรมด้านสารเคมี และวัตถุอันตราย (รังสี) ที่มีผลกระทบรุนแรง (NBC 2011)

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสรุปสถานการณ์ภัยแล้ง วาตภัย และการจัดการฝึกซ้อมแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจากภัย การก่อวินาศกรรมด้านสารเคมี และวัตถุอันตราย (รังสี) ที่มีผลกระทบรุนแรง (NBC 2011) ตามที่กระมหาดไทยเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

สรุปสถานการณ์ภัยแล้ง และการให้ความช่วยเหลือ (ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 - 21 มีนาคม 2554)

1. การคาดหมายลักษณะอากาศ (ระหว่างวันที่ 21 - 26 มีนาคม 2554)

1.1 กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศว่า ในวันที่ 21 มีนาคม 2554 บริเวณความกดอากาศสูงที่ปกคลุมประเทศไทยและทะเลจีนใต้จะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงขึ้นและฝนลดลง สำหรับภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย และอ่าวไทยจะมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตรในระยะนี้ สำหรับในช่วงวันที่ 22 - 26 มีนาคม 2554 จะมีบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางระลอกใหม่จากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และทะเลจีนใต้ ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองกับมีกระโชกแรงบางแห่งเกิดขึ้นได้ โดยเริ่มจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคอื่นๆจะได้รับผลกระทบในระยะต่อไป

1.2 กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้มีโทรสาร ด่วนที่สุด ที่ มท 0616/ว 2470 และ ว 2471 ลงวันที่ 21 มี.ค. 2554 แจ้งเตือนในช่วงระหว่างวันที่ 22 - 26 มี.ค. 2554 ให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 1,3,5,6,7,8,9,10,13,14,15,16,17 และจังหวัดในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเกิดจากสภาวะอากาศแปรปรวน (พายุฤดูร้อน) อาจสร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนพืชผลทางการเกษตรของประชาชน โดยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ไว้ให้พร้อม เพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันต่อเหตุการณ์

2. สรุปสถานการณ์ภัยแล้ง และการให้ความช่วยเหลือ (ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 - 21 มีนาคม 2554)

2.1 พื้นที่ประสบภัย 45 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ ตาก น่าน นครสวรรค์ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน สุโขทัย อุตรดิตถ์ อุทัยธานี ขอนแก่น ชัยภูมิ มหาสารคาม มุกดาหาร เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี อุบลราชธานี อำนาจเจริญ กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สระบุรี สมุทรปราการ จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด นครนายก ระยอง สระแก้ว ชุมพร ตรัง และจังหวัดสตูล รวม 333 อำเภอ 2,257 ตำบล 21,888 หมู่บ้าน

2.2 ความเสียหาย

1) ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 6,017,027 คน 1,664,989 ครัวเรือน

2) พื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะเสียหาย รวม 1,726,737 ไร่ แยกเป็น พื้นที่นา 725,545 ไร่ พื้นที่ไร่ 841,567 ไร่ และพื้นที่สวน 159,625 ไร่

2.3 การให้ความช่วยเหลือ

1) ใช้รถบรรทุกน้ำ 364 คัน แจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคแล้ว จำนวน 39,952,690 ลิตร

2) เครื่องสูบน้ำ 226 เครื่อง

3) ซ่อมสร้างทำนบ/ฝายชั่วคราวปิดกั้นลำน้ำ 2,092 แห่ง

4) ขุดลอกแหล่งน้ำ 178 แห่ง

5) งบประมาณดำเนินการใช้จ่ายไปแล้ว 739,402,302 บาท แยกเป็น งบทดรองราชการของจังหวัด (50 ล้านบาท) 734,429,704 บาท งบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4,349,698 บาท งบอื่น ๆ 622,900 บาท

6) กรมชลประทาน ได้จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ 1,449 เครื่อง ปัจจุบันสนับสนุนเครื่องสูบน้ำเล้ว จำนวน 945 เครื่อง ในพื้นที่ 58 จังหวัด โดยแยกเป็นรายภาค ดังนี้ ภาคเหนือ จำนวน 266 เครื่อง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 351 เครื่อง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก จำนวน 247 เครื่อง และภาคใต้ จำนวน 81 เครื่อง และสนับสนุนรถยนต์บรรทุกน้ำ จำนวน 295 คัน ช่วยเหลือผู้ประสบภัย

7) การประปาส่วนภูมิภาค ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2553 - 17 มีนาคม 2554 ได้สนับสนุนจ่ายน้ำช่วยเหลือภัยแล้งไปแล้ว จำนวน 160.390 ล้านลิตร คิดเป็นยอดเงินรวมที่ได้ช่วยเหลือเป็นเงินจำนวน 2.566 ล้านบาท

8) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้จัดรถบรรทุกน้ำ 25 คัน เพื่อแจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคให้แก่ราษฎรผู้ประสบภัยแล้ง รวมปริมาณน้ำทั้งสิ้น 8.34 ล้านลิตร

9) กรมทรัพยากรน้ำ ได้แจกจ่ายน้ำดื่มให้แก่ราษฎรผู้ประสบภัยแล้ง จำนวน 108,500 ขวด น้ำอุปโภค จำนวน 84,000 ลิตร ในพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง อุทัยธานี อุดรธานี ปราจีนบุรี สระแก้ว นครนายก ฉะเชิงเทรา ประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดสระบุรี

สถานการณ์วาตภัย และอุทกภัย

1. สรุปสถานการณ์วาตภัย อุทกภัย และการให้ความช่วยเหลือ (ระหว่างวันที่ 15 - 21 มีนาคม 2554)

ระหว่างวันที่ 15 - 21 มีนาคม 2554 ได้เกิดพายุฤดูร้อน ฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และคลื่นลมแรงในหลายพื้นที่ ทำให้ได้รับความเสียหายใน 7 จังหวัด 7 อำเภอ บ้านเรือนราษฎรได้รับความเสียหายบางส่วน จำนวน 8 หลัง ห้องแถว จำนวน 12 ห้อง และเรือประมง จำนวน 20 ลำ แยกเป็น

1.1 จังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2554 เวลาประมาณ 19.00 น. เกิดฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรงในพื้นที่ หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอบางใหญ่ ทำให้บ้านเรือนราษฎรได้รับความเสียหาย จำนวน 7 หลัง ห้องแถว 12 ห้อง ราษฎรเดือดร้อน 83 คน สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนนทบุรี ร่วมกับเจ้าหน้าที่ปกครองอำเภอบางใหญ่ ได้เข้าไปตรวจสอบ และให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว

1.2 จังหวัดตราด เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2554 เวลาประมาณ 04.00 น. เกิดคลื่นลมแรงบริเวณชายฝั่ง บ้านอ่าวเลน หมู่ที่ 2 ตำบลอ่าวใหญ่ อำเภอเมืองตราด ทำให้เรือประมงล่ม 1 ลำ และเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2554 เวลาประมาณ 04.00 น. เกิดคลื่นลมแรงที่บ้านแหลมเทียน หมู่ที่ 1 ตำบลอ่าวใหญ่ อำเภอเมืองตราด ทำให้เรือประมงล่ม 1 ลำ

1.3 จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2554 เวลาประมาณ 02.00 น. เกิดคลื่นลมแรง บริเวณชายฝั่ง ตำบลนาเกลือ อำเภอบางละมุง ทำให้บ้านเรือนราษฎรเสียหาย จำนวน 1 หลัง เรือประมงขนาดเล็ก 16 ลำ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดชลบุรี ร่วมกับเจ้าหน้าที่ปกครองอำเภอบางละมุง และเมืองพัทยา ได้เข้าไปตรวจสอบ และให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว

1.4 จังหวัดชุมพร เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2554 เวลาประมาณ 14.30 น. เกิดคลื่นลมแรง ทำให้เรือประมงชื่อ พรวิเศษ 2 มีลูกเรือรวม 18 คน จมบริเวณทุ่นไฟปากร่องน้ำหลังสวน ซึ่งศูนย์บริหารจัดการประมงทะเลภาคใต้ตอนบน ชุมพร ส่งเรือตรวจประมงทะเล 239 และ 105 ออกให้การช่วยเหลือนำลูกเรือทั้งหมดเข้าฝั่งที่ ตำบลบางมะพร้าว อำเภอหลังสวน ด้วยความปลอดภัยทุกคน

1.5 จังหวัดน่าน เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2554 เวลาประมาณ 21.00 น. เกิดแผ่นดินเคลื่อนตัว บริเวณบ้านปรางค์พัฒนา หมู่ที่ 2 ตำบลปัว อำเภอปัว ทำให้บ้านเรือนราษฏรได้รับความเสียหายบางส่วน จำนวน 11 หลัง ทั้งนี้ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดน่าน ร่วมกับเจ้าหน้าที่ปกครองอำเภอปัว และเทศบาลตำบลปัว ได้เข้าไปตรวจสอบ และให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว

1.6 จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2554 เวลาประมาณ 09.00 น. ได้เกิดดินโคลนไหลทับบ้านเรือนบริเวณพื้นที่ หมู่ที่ 9 บ้านปางต้นเดื่อ ตำบลแม่อาย อำเภอแม่อาย ทำให้มีผู้เสียชีวิต จำนวน 1 ราย และผู้ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 1 คน

1.7 จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2554 เวลาประมาณ 14.00 น. ได้เกิดอุบัติเหตุเรือโดยสารท่องเที่ยว ชื่อเรือยอดอนงค์ ซึ่งเดินทางไปตกปลาบริเวณหมู่เกาะอ่างทอง และกำลังเดินทางจากหมู่เกาะอ่างทอง มุ่งหน้าสู่อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกิดล่มบริเวณเกาะปราบ ปากน้ำตาปี เนื่องจากคลื่นลมแรง มีผู้โดยสารในเรือ จำนวน 10 ราย ซึ่งสถานีตำรวจน้ำ 2 กองกำกับการ 6 กองบังคับการตำรวจน้ำ พร้อมข้าราชการตำรวจประจำเรือ ออกให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทั้งหมด

2. การให้ความช่วยเหลือ

จังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด อำเภอ องค์การบริหารส่วนตำบล อาสาสมัคร อปพร. อส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้นแล้ว

การฝึกซ้อมแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจากภัยการก่อวินาศกรรมด้านสารเคมี และวัตถุอันตราย (รังสี) ที่มีผลกระทบรุนแรง (NBC 2011)

คณะรัฐมนตรี ได้มีมติอนุมัติในหลักการของแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2553 - 2557 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2552 ดังนั้นเพื่อเป็นแนวทาง มาตรการ และเป็นกรอบในการปฏิบัติการสำหรับบริหารจัดการสถานการณ์ภัยพิบัติชนิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นหน่วยงานในการประสานการบูรณาการการทำงานร่วมกัน รวมทั้งให้จัดการฝึกซ้อมแผนปฏิบัติการของแต่ละหน่วยงานร่วมกันเพื่อสร้างความพร้อมในการเผชิญเหตุ โดยเฉพาะภัยด้านความมั่นคง

ในการนี้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้จัดการฝึกซ้อมแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจากภัยการก่อวินาศกรรมด้านสารเคมี และวัตถุอันตราย (รังสี) ที่มีผลกระทบรุนแรง (Thailand National Nuclear Biological and Chemical Exercise : NBC) มาแล้วทั้งสิ้นจำนวน 2 ครั้ง ได้แก่

1) ครั้งที่ 1 ฝึกซ้อมแผนฯ NBC 09 จากภัยการก่อวินาศกรรมจากสารซีเซียม 137 ในรูปแบบการฝึกซ้อมการบัญชาการเหตุการณ์ (Command Post Exercise : CPX) และการฝึกซ้อมภาคสนาม (Field Training Exercise : FTX) เมื่อวันที่ 15 - 16 มิถุนายน 2552 ณ โรงแรมแกรนด์อินคำ จังหวัดสมุทรปราการ

2) ครั้งที่ 2 ฝึกซ้อมแผนฯ NBC 10 จากภัยการก่อวินาศกรรมจากสารไอโอดีน 131 เมื่อวันที่ 24 - 25 มีนาคม 2553 ในรูปแบบการฝึกซ้อมการบัญชาการเหตุการณ์ (CPX) และเมื่อวันที่ 22 - 23 เมษายน 2553 ณ จังหวัดนครปฐม ในรูปแบบการฝึกซ้อมภาคสนาม (FTX)

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานทุกภาคส่วนได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อเผชิญกับสาธารณภัย (ภัยด้านความมั่นคง) และสถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่ในภาวะปกติ ตลอดจนให้มีการบริหารจัดการภัยพิบัติด้านสารเคมี และวัตถุอันตราย (รังสี) ที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ

กระทรวงมหาดไทย ได้มีคำสั่งที่ 33/2554 ลงวันที่ 24 มกราคม 2554 เรื่อง การจัดตั้งกองอำนวยการฝึกซ้อมแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจากภัยการก่อวินาศกรรมด้านสารเคมี และวัตถุอันตราย (รังสี) ที่มีผลกระทบรุนแรง ประจำปี พ.ศ. 2554 และคำสั่งที่ 112/2554 ลงวันที่ 7 มีนาคม 2554 เรื่อง การจัดตั้งกองอำนวยการฝึกซ้อมแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจากภัยการก่อวินาศกรรมด้านสารเคมี และวัตถุอันตราย (รังสี) ที่มีผลกระทบรุนแรง ประจำปี พ.ศ. 2554 (เพิ่มเติม) ทั้งนี้ได้กำหนดการฝึกซ้อมแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จากภัยการก่อวินาศกรรมด้านสารเคมีและวัตถุอันตราย (รังสี) ที่มีผลกระทบรุนแรง (NBC 2011) ในวันที่ 4 - 5 เมษายน 2554 (จำนวน 2 วัน) ณ บริเวณเทศบาลตำบลศรีพนมมาศ อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ (ภาคเหนือตอนล่าง) และจัดการประเมินผลการฝึกซ้อมแผน ในห้วงเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน 2554

การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยคลื่นสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น

1. สิ่งของพระราชทานช่วยเหลือผู้ประสบภัย

1.1 กองงานพระวรชายาฯ ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงโปรดให้ พล.อ.ท. ภักดี แสงชูโต รองหัวหน้าสำนักงานราชเลขานุการในพระองค์ฯ เป็นผู้แทนพระองค์ฯ เดินทางไปมอบผ้าห่มพระราชทานช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น ณ กระทรวงการต่างประเทศ กรุงเทพมหานคร จำนวน 20,000 ผืน เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2554

1.2 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ (นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ) และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ประธานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย มอบถุงยังชีพประทาน จำนวน 800 ถุง ถุงนอน จำนวน 1,000 ถุง เสื้อกันหนาว จำนวน 20 ลัง

1.3 สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย มอบข้าวกระป๋อง จำนวน 20,000 กระป๋อง

2. กระทรวงการต่างประเทศ มอบผ้าห่ม จำนวน 300 ผืน และมอบเพิ่มเติมอีก 161 ลัง เสื้อกันหนาว 5 กล่อง บะหมี่สำเร็จรูป 5 กล่อง หน้ากาก 3 กล่อง

3. กองบัญชาการกองทัพไทย มอบผ้าห่ม จำนวน 1,000 ผืน

4. กองทัพบก มอบผ้าห่ม จำนวน 4,710 ผืน

5. กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มอบผ้าห่ม จำนวน 1,000 ผืน

6. การบินไทย มอบผ้าห่ม จำนวน 5,000 ผืน น้ำดื่ม 18,000 ขวด

7. การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) มอบไฟฉาย จำนวน 400 กระบอก

8. สมาคมลอนเทนนิสแห่งประเทศไทย บริจาคเงิน จำนวน 500,000 บาท

9. สมาคมหอการค้าไทย บริจาคเงิน จำนวน 300,000 บาท ข้าวกระป๋อง 200 กิโลกรัม

10.บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) มอบผ้าห่ม จำนวน 5,000 ผืน

11.บริษัทผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด มอบอาหารกระป๋อง จำนวน 400 ชุด

12.บริษัทไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด มอบบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จำนวน 30 กล่อง

13.บริษัทพรานทะเล จำกัด มอบบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จำนวน 24,000 ถ้วย และเสื้อกันหนาว จำนวน 5,000 ตัว

อนึ่ง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รับรายงานข้อมูลเหตุแผ่นดินไหว (ระหว่างวันที่ 15 - 21 มีนาคม 2554 จากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และกรมอุตุนิยมวิทยา ว่าได้เกิดแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2554 เวลา 15.26 น. แผ่นดินไหวบริเวณตอนเหนือของประเทศฟิลิปปินส์ ขนาด 6.0 ริกเตอร์ ลึก 54 กิโลเมตร ศูนย์กลางห่างจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประมาณ 2,492 กิโลเมตร และเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2554 เวลา 18.23 น. แผ่นดินไหวบริเวณตำบลเวียงเหนือ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ขนาด 3.1 ริกเตอร์ ศูนย์กลางห่างจากอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประมาณ 13 กิโลเมตร มีการสั่นไหวรู้สึกได้ในพื้นที่อำเภอปาย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 มีนาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ