เรื่อง สรุปผลการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 16 (COP16)
และการประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต สมัยที่ 6 (CMP6) ณ เมืองแคนคูน สหรัฐเม็กซิโก
คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ ดังนี้
1. รับทราบสรุปผลการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภุมิอากาศ สมัยที่ 16 (COP 16) และการประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต สมัยที่ 6 (CMP6) ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอ
2. เห็นชอบแนวทางการดำเนินงานของประเทศไทยเพื่อให้เกิดการปรับตัวและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ
3. เห็นชอบในหลักการการจัดตั้งสำนักงานประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยถือเป็นนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาล และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและสำนักงาน ก.พ.ร. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
ทส. รายงานว่า
1. ผลการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 16 ประกอบด้วย
1.1 การประชุมระดับสูง (High-Level Segment)
1.2 เห็นชอบกับข้อตกลงที่เรียกว่า “ข้อตกลงแคนคูน” (Cancun Agreement) ซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับความร่วมมือระยะยาวภายใต้อนุสัญญาฯ (Long Term Cooperative Action under the Convention : LCA) โดยมีการเจรจาในประเด็นการดำเนินการในอนาคตร่วมกันของประเทศภาคีสมาชิก
1.3 การเจรจาในภาพรวมภายใต้แผนปฏิบัติการบาหลี (Bali action Plan) ได้กำหนดเป้าหมายในการจำกัดการเพิ่มของอุณหภูมิของโลกไม่เกิน 2 องศาเซนเซียส โดยให้มีการจัดตั้งกองทุน “Green Clemate Fund” ช่วยประเทศกำลังพัฒนาในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปรับตัวเพื่อรับมือจากผลกกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และให้สนับสนุนการดำเนินงานด้านป่าไม้แก่ประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะการสนับสนุน REDD+ ไปพัฒนาโครงการในลักษณะสมัครใจ โดยไม่มีการผูกมัดใด ๆ จากประเทศพัฒนาแล้ว
1.4 จัดตั้งกระบวนการ International Consultation and Analysis (ICA)
1.5 ประเทศกำลังพัฒนาดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจก ในบริบทของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วต้องการให้การสนับสนุนทางการเงิน เทคโนโลยี และเสริมศักยภาพต่อประเทศกำลังพัฒนาสำหรับการเตรียมการและดำเนินการ NAMAs รวมทั้งการยกระดับด้านการรายงานผล
1.6 ให้มีการดำเนินการตามมาตรการ Measurement, Reporting and Verification : MRV สำหรับการลดก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับที่ได้รับการสนับสนุนระหว่างประเทศและภายในประเทศ
2. ผลการประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต สมัยที่ 6 มีความเห็นพ้อง
2.1 ให้มีข้อตกลงตามพันธกรณีรอบที่สอง โดยประเทศกำลังพัฒนายืนยันให้มีการต่ออายุพิธีสารเกียวโตหลังปี ค.ศ. 2012 อนึ่ง กลไกการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้พิธีสารเกียวโต คือ Joint Implementation (JI) Emission Trading (ET) และ Clean Development Mechanism (CDM) ยังคงให้มีการดำเนินการต่อไป
2.2 ให้มีการลดก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 25-40 ภายในปีปี ค.ศ. 2020 สำหรับปีฐานการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงใช้ปี ค.ศ. 1990
3. แนวทางการดำเนินงานของประเทศไทย
ประเทศไทยในฐานะประเทศภาคีสมาชิกของอนุสัญญาฯ และพิธีสารฯ จำเป็นต้องดำเนินการเพื่อให้เกิดการปรับตัวและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนี้
3.1 เตรียมความพร้อมในการรับมือหากประเทศไทยต้องมีการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากพันธกรณีดังกล่าว เช่น ภาคการพลังงาน ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร โดยให้มีการจัดทำกรอบทิศทางและแนวทางการวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศอย่างเป็นระบบ
3.2 ให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility study) และศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคต่างๆ (Nationalily Approplate Mitigation Actions : ANMAs) เพื่อใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนการวางแผนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
3.3 ให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility study) ของการดำเนินโครงการ REDD+ ในประเทศไทย
3.4 ให้มีการใช้ประโยชน์จากกลไก The ASEAN Working Group on Climate Change : AWGCC ในการผลักดันการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับภูมิภาคให้เป็นรูปธรรม โดยให้มีการจัดประชุมคณะทำงานดังกล่าวเพื่อหารือเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับภูมิภาค
3.5 เร่งรัดการจัดตั้งสำนักงานประสานการจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขึ้นอย่างเป็นทางการภายใต้สำนักงานนโยบายและแผนพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2550 ให้เป็นรูปธรรมโดยเร่งด่วน
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 มีนาคม 2554--จบ--