รายงานสถานการณ์และการดำเนินการกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์ที่ประเทศญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 23, 2011 17:12 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอ ดังนี้

1. รายงานสถานการณ์

1.1 เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 เวลา 14.46 น. (ตามเวลาในประเทศญี่ปุ่น) เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่น มีความรุนแรง 9.0 ตามมาตราริกเตอร์ มีจุดศูนย์กลางไปทางตะวันออกของชายฝั่งเมืองซานริกุ (ละติจูด 38 องศาเหนือ ลองติจูด 142.9 องศาตะวันออก) โดยเกิดที่ความลึกประมาณ 10 กิโลเมตรใต้พื้นดิน จากรายงานของ Nuclear and Industrial Safety Agency หรือ NISA ของประเทศญี่ปุ่น ผ่านทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าวมีผลกระทบบริเวณชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อยู่ทั้งหมด 5 บริเวณ ทั้งบนเกาะฮอกไกโด และฮอนชู โดยมีจำนวนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่กำลังเดินเครื่องอยู่ได้ทำการปิดตัวลงโดยอัตโนมัติ และจากผลการวัดรังสีโดยรอบบริเวณโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ไม่พบว่ามีการรั่วไหลของวัสดุกัมมันตรังสีแต่ประการใด ต่อมาเวลาประมาณ 18.33 น. (ตามเวลาในประเทศญี่ปุ่น) โรงไฟฟ้าโรงที่ 1 โรงที่ 2 และโรงที่ 3 ของโรงไฟฟ้า Fukushima — Daiichi พบว่ามีระดับรังสีสูงกว่าปกติในห้องควบคุมของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์

1.2 วันที่ 12 มีนาคม 2554 เวลา 15.30 น.(ตามเวลาในประเทศญี่ปุ่น) เกิดการระเบิดของก๊าซไฮโดรเจนของเครื่องปฏิกรณ์ไฟฟ้าโรงที่ 1 ทำให้หลังคาคอนกรีตชั้นนอกของอาคารปฏิกรณ์ (concrete building housing) ได้รับแรงระเบิดกระเด็นออกไป

1.3 วันที่ 14 มีนาคม 2554 เวลา 11.01 น. (ตามเวลาในประเทศญี่ปุ่น) เกิดการระเบิดของก๊าซไฮโดรเจนของเครื่องปฏิกรณ์ไฟฟ้าโรงที่ 3 ทำให้หลังคาคอนกรีตชั้นนอกของอาคารปฏิกรณ์ (concrete building housing) ได้รับแรงระเบิดกระเด็นออกไป แต่ไม่พบว่าในส่วนของ Primary Containment Vessel เสียหายแต่อย่างใด ส่วนของห้องควบคุมยังสามารถทำงานและปฏิบัติการได้ตามปกติ

1.4 วันที่ 15 มีนาคม 2554 เวลา 04.10 น. (ตามเวลาในประเทศญี่ปุ่น) เกิดการระเบิดของก๊าซไฮโดรเจนของเครื่องปฏิกรณ์ไฟฟ้าโรงที่ 2 ทำให้หลังคาคอนกรีตชั้นนอกของอาคารปฏิกรณ์ (concrete building housing) ได้รับแรงระเบิดกระเด็นออกไป

1.5 วันที่ 15 มีนาคม 2554 บ่อเก็บแหล่งเชื้อเพลิงใช้แล้วของเครื่องปฏิกรณ์โรงไฟฟ้าที่ 4 เกิดไฟไหม้ทำให้กัมมันตภาพรังสีที่ถูกปล่อยโดยตรงสู่บรรยากาศ อัตราระดับรังสี ณ ที่เกิดเหตุวัดได้มีค่าถึง 400 มิลลิซีเวิร์ตต่อชั่วโมง

1.6 สถานการณ์ปัจจุบัน พบว่าปริมาณรังสีอยู่ภายใต้การควบคุม ซึ่งจากการตรวจวัดปริมาณรังสีประจำจุดสถานที่ตั้ง ระดับปริมาณรังสีในวันที่ 14 มีนาคม 2554 เวลา 13.12 ตามเวลาในประเทศญี่ปุ่น วัดได้ 13.2 มิลลิซีเวิร์ตต่อชั่วโมง ทั้งนี้เปรียบเทียบปริมาณรังสีที่ผู้คนได้รับจากการ X-ray เพื่อตรวจวินิจฉัยกระเพาะอาหารในสถานพยาบาล คือ 600 ไมโครซีเวร์ต หรือ เปรียบเทียบปริมาณรังสีที่ผู้คนได้รับจาการเดินทางจากประเทศญี่ปุ่นไปถึงชายฝั่งตะวันออกของประเทศสหรัฐอเมริกา คือ 200 ไมโครซิเวิร์ต)

2. การดำเนินการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้สนับสนุนข้อมูลและเครื่องมือแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเฝ้าระวังและเตรียมการสำหรับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ดังนี้

2.1 สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้ดำเนินการด้านการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินทางนิวเคลียร์จากประเทศญี่ปุ่น ดังนี้

2.1.1 การให้บริการตรวจวัดการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีแก่สิ่งแวดล้อม

  • การตรวจวัดอากาศ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ มีสถานีตรวจวัดอากาศ 8 สถานี ซึ่งตั้งอยู่ ณ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา อุบลราชธานี ตราด ระนอง และพะเยา (อยู่ระหว่างการเชื่อมต่อระบบ) และได้รับรายงานข้อมูลปริมาณรังสีที่วัดได้แต่ละสถานีที่เวปไซต์โดยรายงานข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน 3 ช่วงเวลา ได้แก่ 7.00 น. 12.00 น.และ 17.00 น. ซึ่งพบว่าค่าปริมาณรังสีแกมมาในอากาศที่วัดได้ ณ สถานีตรวจวัดทั่วประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับค่าปริมาณรังสีแกรมมาในอากาศก่อนเกิดเหตุ อยู่ในระดับปกติ
  • การตรวจวัดอาหาร ดำเนินการตรวจวัดปริมาณรังสีในอาหารนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นที่อาจมีการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสี เพื่อจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับอาหารในภาวะฉุกเฉินทางนิวเคลียร์ เพื่อความปลอดภัยแก่ประชาชน และประสานความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาอย่างใกล้ชิด

2.1.2 การให้บริการตรวจวัดสารกัมมันตรังสีแก่บุคคล

  • การตรวจวัดความเปรอะเปื้อนสารกัมมันตรังสีภายนอกร่างกายแก่ผู้โดยสารที่เดินทางจากประเทศญี่ปุ่น ที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยดำเนินการตรวจวัดรายบุคคล ตามที่การบินไทยและท่าอากาศยานฯ ได้ประสานขอความร่วมมือ ซึ่งดำเนินการตั้งแต่วันที่ 15-19 มีนาคม 2554
  • การให้บริการตรวจวัดและประเมินค่าปริมาณรังสีภายในร่างกายแก่ประชาชนที่มีความประสงค์จะขอรับการบริการ

2.1.3 การให้ข้อมูลข่าวสารความรู้แก่ประชาชน ตั้งแต่วันที่ 14-19 มีนาคม 2554

2.1.4 การให้ความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น

  • เป็นศูนย์กลางการรับข้อมูลเหตุการณ์ฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์จนถึงปัจจุบัน
  • มอบชุดป้องกันการเปรอะเปื้อนวัสดุกัมมันตรังสีให้กับกองทัพอากาศ จำนวน 20 ชุด สำหรับเจ้าหน้าที่ที่จะไปปฏิบัติภารกิจใกล้กับสถานที่เกิดเหตุ
  • จัดวิทยากรให้ความรู้ด้านรังสีแก่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะที่จะเดินทางไปให้ความช่วยเหลือในประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย กระทรวงการต่างประเทศ เป็นต้น
  • จัดตั้งศูนย์ข้อมูลเหตุการณ์ฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี เพื่อให้ข้อมูลและความรู้ทางรังสี ผลกระทบจากรังสีต่อหน่วยงานที่สนใจและประชาชนทั่วไป ซึ่งเปิดดำเนินการตั้งแต่ 16 มีนาคม 2554

2.1.5 การเตรียมพร้อมแผนฉุกเฉิน โดยจัดทำแนวทางพิจารณาเพื่อการตัดสินใจอพยพคนไทยในญี่ปุ่น

2.2 สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้ส่งเจ้าหน้าที่พร้อมอุปกรณ์ประกอบการปฏิบัติงาน เพื่อเข้าร่วมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือคนไทยที่ประสบเหตุที่ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 20-27 มีนาคม 2554 เพื่อร่วมตรวจวัดกัมมันตภาพรังสีและตรวจวัดการเปรอะเปื้อนทางรังสีให้กับคนไทย ณ ประเทศญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม เพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ดังกล่าวที่อาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในอนาคต สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติจักได้ประสานข้อมูลกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ และหน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อติดตามสานการณ์และสนับสนุนข้อมูล เครื่องมือ ในการเฝ้าระวังเครื่องมืออย่างต่อเนื่องต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 มีนาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ