ยุทธศาสตร์การปฏิรูประบบการเงินเพื่อการศึกษา

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 23, 2011 17:13 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เสนอดังนี้

1. เห็นชอบหลักการ/แนวคิด ยุทธศาสตร์และกลไกการปฏิรูประบบการเงินเพื่อการศึกษา

2. ให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ตามกรอบหลักการแนวคิดยุทธศาสตร์การปฏิรูประบบการเงินเพื่อการศึกษา

3. ให้ ศธ. แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูประบบการเงินเพื่อการศึกษา เพื่อดำเนินงานตามกรอบหลักการ/แนวคิด และยุทธศาสตร์การปฏิรูประบบการเงินเพื่อการศึกษา

สาระสำคัญของเรื่อง

ศธ. รายงานว่า เพื่อให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี (18 ส.ค.52) คณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านทรัพยากรและการเงินเพื่อการศึกษาพิจารณาเห็นว่า ในการดำเนินงานมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนราชการ องค์กรต่าง ๆ รวมทั้งสถานศึกษาต้องปรับกระบวนทัศน์ในการบริหารจัดการใหม่เพื่อรองรับการดำเนินงานปฏิรูประบบการเงินเพื่อการศึกษา โดยนำข้อเสนอยุทธศาสตร์ฯ มาดำเนินการเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม มีกระบวนการและขั้นตอนของการเปลี่ยนผ่าน เพื่อไปสู่ระบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพ จึงได้จัดทำข้อเสนอยุทธศาสตร์ การปฏิรูประบบการเงินเพื่อการศึกษาและดำเนินการประชุม เพื่อจัดทำกลไกการขับเคลื่อนขึ้น และสภาการศึกษาได้มีมติเห็นชอบแล้ว ซึ่งมีสาระสำคัญโดยสรุป ดังนี้

1. ยุทธศาสตร์การปฏิรูประบบการเงินเพื่อการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์การเงินการคลัง ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการและการใช้ทรัพยากรเพื่อการศึกษา ยุทธศาสตร์การระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษาและส่งเสริมการมีส่วนร่วม ยุทธศาสตร์การส่งเสริมความเข้มแข็งของสถานศึกษา

2. ยุทธศาสตร์การปฏิรูประบบการเงินเพื่อการอุดมศึกษา ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์การเงินการคลัง ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการและการใช้ทรัพยากรเพื่อการศึกษา ยุทธศาสตร์การระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา

3. กลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การปฏิรูประบบการเงินเพื่อการศึกษา ประกอบด้วย กลไกการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและการใช้ทรัพยากรเพื่อการศึกษา กลไกการส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนของสังคมในการระดมทุนและการสนองทุนเพื่อการศึกษา กลไกการดำเนินงานตามหลักการและแนวทางการปฏิรูประบบการเงินเพื่อการศึกษา กลไกการตรวจสอบเพื่อการประกันคุณภาพการศึกษา กลไกการสนับสนุนด้านกฎหมาย กลไกการผลักดันจากผู้บริหารระดับสูงที่มีอำนาจในการตัดสินใจ

4. คณะกรรมการปฏิรูประบบการเงินเพื่อการศึกษาฯ ได้กำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้ 4.1 จัดทำแผนขั้นตอนและกรอบระยะเวลาการดำเนินงานปฏิรูประบบการเงินเพื่อการศึกษา ตามกรอบหลักการ/แนวคิดยุทธศาสตร์และมาตรฐานที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ 4.2 ออกแบบและวางระบบการเงินเพื่อการศึกษาในช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบบการสนองทุนผ่านด้านอุปทานหรือสถานศึกษา (Supply side financing) ไปสู่ระบบการสนองทุนผ่านด้านอุปสงค์หรือผู้เรียน (demand side financing) 4.3 กำกับและประสานการดำเนินงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินงานตามแผนการดำเนินงานของคณะกรรมการให้บรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย 4.4 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ และ/หรือคณะทำงาน เพื่อดำเนินงานตามที่คณะกรรมการมอบหมาย 4.5 ให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะแก่คณะอนุกรรมการ คณะทำงานในประเด็นที่ต้องการการตัดสินใจในระดับนโยบาย 4.6 ให้การสนับสนุนด้านบุคลากรและทรัพยากรตามความต้องการจำเป็นแก่หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมาย 4.7 อำนวยการ กำกับติดตามการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการคณะทำงาน 4.8 ปฏิบัติงานอื่นใดที่นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

5. เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสถานศึกษาภายใต้ตลาดบริการการศึกษาที่มีการแข่งขันในตลาดเสรีและตลาดที่ไร้พรมแดนในปี 2558 และเพื่อให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 มีนาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ