การกำหนดแนวทางการควบคุมดูแลโรงเรียนกวดวิชา

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 23, 2011 17:16 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบการกำหนดแนวทางการควบคุมดูแลโรงเรียนกวดวิชา ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงศึกษาธิการรายงานว่า ได้ประชุมปรึกษาหารือร่วมกับผู้แทนจากกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2554 โดยได้กำหนดแนวทางการดำเนินการ ดังนี้

1) การกำหนดแนวทางการควบคุมดูแลโรงเรียนกวดวิชาไม่ให้มีการดำเนินการในลักษณะที่แสวงหากำไรจนเกินควร โดยได้กำหนดแนวทางการควบคุมดูแล ดังนี้

1.1 โรงเรียนกวดวิชาที่ได้รับอนุญาตจัดตั้งก่อนพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 ให้เก็บค่าธรรมเนียมการเรียนตามที่ได้รับอนุญาต หากจะมีการเปลี่ยนแปลงให้ยื่นขออนุญาต โดยจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับกิจการของโรงเรียนนอกระบบ และกำหนดหลักเกณฑ์การคิดค่าธรรมเนียมการศึกษา ซึ่งในการกำหนดหลักเกณฑ์การคิดค่าธรรมเนียมการศึกษาให้กำหนดค่าตอบแทนได้ไม่เกินร้อยละ 20 สำหรับการเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาในโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนโดยใช้ครู ผู้สอนจะเก็บในอัตราที่สูงกว่าการเรียนการสอนลักษณะผสมโดยมีทั้งครูผู้สอนและสื่อ ส่วนการเรียนการสอนโดยใช้สื่อการเรียนการสอนเป็นเครื่องมือจะต้องเก็บในราคาต่ำสุด

1.2 โรงเรียนกวดวิชาที่ได้รับอนุญาตจัดตั้งตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 ในการอนุญาตหลักเกณฑ์การคิดค่าธรรมเนียมการศึกษาให้กำหนดอัตราผลตอบแทนได้ไม่เกินร้อยละ 20 สำหรับการเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาในโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนโดยใช้ครูผู้สอน จะเก็บในอัตราที่สูงกว่าการเรียนการสอนลักษณะผสมโดยมีทั้งครูผู้สอนและสื่อ ส่วนการเรียนการสอนโดยใช้สื่อการเรียนการสอนเป็นเครื่องมือจะต้องเก็บในราคาต่ำสุด

1.3 ให้โรงเรียนนอกระบบทุกขนาด ทุกประเภท จัดทำรายงานแสดงกิจการงบการเงินเสนอต่อผู้อนุญาตตามมาตรา 124 แห่งพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 ทุกปี ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการจะได้จัดทำระเบียบตามบทบัญญัติดังกล่าว

1.4 ให้โรงเรียนติดประกาศใบอนุญาตการเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษา/หลักเกณฑ์ การกำหนดค่าธรรมเนียมการศึกษาและจำนวนค่าธรรมเนียมการศึกษา เพื่อให้นักเรียน ผู้ปกครองและประชาชนสามารถตรวจสอบได้

1.5 ตรวจติดตามการดำเนินกิจการโรงเรียนกวดวิชาให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายของทางราชการอย่างเคร่งครัด โดยให้ดำเนินการตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานโรงเรียนเอกชน ประเภทกวดวิชา พ.ศ. 2545 และระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานโรงเรียนเอกชน ประเภทกวดวิชา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2549 ดังนี้

  • จัดการเรียนการสอนโดยใช้ครูเป็นผู้สอน ใช้เกณฑ์คำนวณความจุ 1 ตารางเมตรต่อนักเรียน 1 คน จำนวนนักเรียนไม่เกินห้องละ 45 คน
  • จัดการเรียนการสอนลักษณะผสมโดยมีทั้งครูผู้สอนและสื่อ ใช้เกณฑ์คำนวณความจุ 1 ตารางเมตร ต่อนักเรียน 1 คน จำนวนนักเรียนไม่เกินห้องละ 90 คน
  • จัดการเรียนการสอนโดยใช้สื่อ ใช้เกณฑ์คำนวณความจุ 1 ตารางเมตร ต่อนักเรียน 1 คน จำนวนนักเรียนไม่เกินห้องละ 90 คน และมีเจ้าหน้าที่ประจำห้องเรียนที่มีความรู้ไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษา หรือสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งมีทักษะในการใช้สื่อ
  • จัดการเรียนการสอนโดยห้องบรรยายขนาดใหญ่ที่สามารถมองเห็นครูผู้สอนอาจจะมีนักเรียนเกินห้องละ 90 คน ใช้เกณฑ์คำนวณความจุ 1 ตารางเมตรต่อนักเรียน 1 คน และจะต้องเพิ่มสื่อและเจ้าหน้าที่ประจำห้องเรียนตามสัดส่วนนักเรียน

2. การกำหนดมาตรการเพื่อกำกับดูแล ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษาของรัฐให้ปฏิบัติหน้าที่ในการจัดการเรียนสอนในชั้นเรียนอย่างเต็มตามหลักสูตรเพื่อนักเรียนจะไม่ต้องไปเรียนเพิ่มเติมในโรงเรียนสอนกวดวิชาอีก นั้น ได้กำหนดมาตรการในการกำกับดูแล ดังนี้

2.1 การปฏิบัติหน้าที่จัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนไม่เป็นไปตามหลักสูตร เพื่อให้นักเรียนต้องไปเรียนเพิ่มเติมในโรงเรียนสอนกวดวิชาอีก ย่อมถือว่าเป็นความผิดวินัยตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 และถือว่าเป็นการกระทำที่ขาดจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 เห็นควรแจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ติดตามตรวจสอบการกระทำของครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษาของรัฐอย่างใกล้ชิด และลงโทษผู้กระทำความผิดตามกฎหมายต่อไป

2.2 ให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานร่วมกับสถานศึกษาอื่นของรัฐและสำนักงานเลขาธิการคุรุสภากำหนดมาตรการเพื่อกำกับดูแล ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษาของรัฐให้ปฏิบัติหน้าที่ในการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนอย่างเต็มตามหลักสูตร

3. การพิจารณาออกระเบียบ ข้อบังคับในเรื่องการตรวจสอบและปรับปรุงในเรื่องความปลอดภัยของอาคารสถานที่ก่อนการอนุมัติอนุญาตให้ใช้เป็นสถานที่สำหรับการเรียนกวดวิชาของโรงเรียนสอนกวดวิชา ได้กำหนดแนวทางการ ดำเนินการ ดังนี้

3.1 กรณีให้สำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ในฐานะผู้อนุญาต ตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 ตรวจติดตามสถานที่ตั้งโรงเรียน ให้มีมาตรฐานและมาตรการในการป้องกันอัคคีภัยในโรงเรียนกวดวิชา ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานโรงเรียนเอกชน ประเภทกวดวิชา พ.ศ.2545 และแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2549 กำหนดอย่างเคร่งครัด และตรวจสอบอุปกรณ์ดังกล่าวให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ตลอดเวลา โดยให้มีการตรวจสอบอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

3.2 กรณีโรงเรียนมีสภาพน่าสงสัยว่าจะเป็นอันตรายกับผู้เรียน ให้สำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ในฐานะผู้อนุญาต ตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 ประสานกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารเข้าตรวจสอบต่อไป

3.3 ให้สำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนดำเนินการตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 5) เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2553 ที่เห็นควรกำหนดให้อาคาร ที่จะนำมาใช้จัดตั้งโรงเรียนนอกระบบ ต้องเป็นอาคารเพื่อการศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร โดยให้กำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวไว้ในร่างกฎกระทรวง ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 มาตรา 121 ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเมื่อเป็นอาคารตามกฎหมายควบคุมอาคารแล้ว ก็จะต้องดำเนินการจัดให้มีมาตรการในเรื่องความปลอดภัยของอาคารสถานที่ ตามที่กฎหมายดังกล่าวกำหนดไว้

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 มีนาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ