แผนคมนาคมปลอดภัย เทศกาลสงกรานต์ ปี 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 23, 2011 17:28 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง แผนคมนาคมปลอดภัย เทศกาลสงกรานต์ ปี 2554 และรายงานสรุปสถิติอุบัติเหตุในภาคการขนส่งประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2554

คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อมูลแผนคมนาคมปลอดภัย เทศกาลสงกรานต์ ปี 2554 และรายงานสรุปสถิติอุบัติเหตุในภาคการขนส่งประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ของกระทรวงคมนาคมดังนี้

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงคมนาคมรายงานว่า ได้จัดทำ“แผนคมนาคมปลอดภัย เทศกาลสงกรานต์ ปี 2554” ขึ้น เพื่อให้หน่วยงานในสังกัดเตรียมการรองรับการเดินทางของประชาชน ทั้งในเรื่องของการอำนวยความสะดวก การดูแลเรื่องความปลอดภัย การจัดรถโดยสารสาธารณะ รองรับการเดินทาง ฯลฯ กระทรวงคมนาคมจึงขอเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ “แผนคมนาคมปลอดภัย เทศกาลสงกรานต์ ปี 2554” และรายงานสรุปสถิติอุบัติเหตุในภาคการขนส่ง และความก้าวหน้าในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุการขนส่งทางถนนประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ดังนี้

1. แผนคมนาคมปลอดภัย เทศกาลสงกรานต์ ปี 2554

กระทรวงคมนาคมได้จัดทำ “แผนคมนาคมปลอดภัย เทศกาลสงกรานต์ ปี 2554” ขึ้น โดยกำหนดห้วงเวลาการรณรงค์เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการเดินทางของประชาชน ระหว่างวันที่ 8 — 18 เมษายน 2554 เพื่อให้หน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องเตรียมการรองรับเทศกาลดังกล่าว ซึ่งแผนฯ ดังกล่าว มีสาระสำคัญ ดังนี้

1.1 วัตถุประสงค์

1) จัดให้บริการและอำนวยความสะดวกอย่างเพียงพอ รวมถึงการจัดเตรียมมาตรการรองรับ เพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาโดยทันทีและเร่งด่วนกรณีเกิดสถานการณ์ไม่ปกติ

2) ลดจำนวนอุบัติเหตุและความสูญเสียจากการเดินทางของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากระบบขนส่งสาธารณะในความรับผิดชอบ

3) ประชาชนมีความเชื่อมั่นในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบ รวมถึงมีความมั่นคงและความปลอดภัยสูงสุด

4) ประชาชนมีความตระหนักในการเลือกใช้บริการเดินทางด้วยรถโดยสารไม่ประจำทางที่มีคุณภาพ และปลอดภัยในการให้บริการ

1.2 เป้าหมาย

1) จำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการเดินทางของประชาชนในเส้นทางความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม ลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 และจะต้องไม่มีผู้โดยสารในระบบขนส่งสาธารณะเสียชีวิตจากการเดินทางในช่วงเทศกาล

2) ผู้ประจำรถโดยสารสาธารณะ (พนักงานขับรถ พนักงานประจำรถ นายตรวจและ ผู้ให้บริการประจำรถ) จะต้องมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเป็นศูนย์มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ (0 mg%) ในระหว่างการให้บริการเป็นจำนวนร้อยละ 100

3) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานอื่นๆ บูรณาการปฏิบัติงานให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการนำกฎหมายที่มีอยู่มาใช้บังคับอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุ จากการเดินทางของประชาชน

1.3 ภาพรวมของแผนคมนาคมปลอดภัย เทศกาลสงกรานต์ ปี 2554 ของกระทรวงคมนาคม ประกอบด้วย 3 แผนงานหลัก ดังนี้

1) แผนงานการให้บริการและอำนวยความสะดวก ได้แก่

1.1) การจัดบริการขนส่งสาธารณะให้เพียงพอ

1.1.1) บริษัท ขนส่ง จำกัด เพิ่มจำนวนเที่ยววิ่งรถขาขึ้นและขาล่องระหว่างวันที่ 8 — 18 เมษายน 2554 รวม 73,896 เที่ยว สามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 1,831,448 คน

1.1.2) การรถไฟแห่งประเทศไทย จัดเดินขบวนรถไฟพิเศษเพิ่มในเส้นทางสายเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ เที่ยวไป จัดเพิ่ม 21 ขบวน สามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มได้ประมาณ 42,000 คน และเที่ยวกลับ จัดเพิ่ม 17 ขบวน สามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มได้ประมาณ 38,000 คน รวมปริมาณการรองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลได้จำนวน 119,000 คน/วัน

1.1.3) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เพิ่มจำนวนเที่ยววิ่งรถโดยสารตลอดเทศกาลประมาณ 20,000 เที่ยว เพื่อรับส่งผู้โดยสารตามสถานีขนส่งและสถานีรถไฟ

1.1.4) กรมทางหลวง ยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ตั้งแต่เวลา 16.00 น. ของวันที่ 8 เมษายน 2554 ถึงเวลา 12.00 น. ของวันที่ 18 เมษายน 2554

1.1.5) การทางพิเศษแห่งประเทศไทยยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษสายบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) ระหว่างวันที่ 8 — 18 เมษายน 2554

1.1.6) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพิ่มเที่ยวบินเสริมพิเศษในเส้นทางที่ประชาชนนิยมเดินทางไปท่องเที่ยว เช่น เส้นทางบินกรุงเทพฯ - เชียงใหม่

1.1.7) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เพิ่มความถี่ในการให้บริการและจัดขบวนรถเพิ่มในช่วงเทศกาล

1.2) การจัดตั้ง “ศูนย์คมนาคมปลอดภัย สังคมไทยเป็นสุข” เพื่อเป็นจุดบริการร่วมของกระทรวงคมนาคม (กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และกรมการขนส่งทางบก) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการอำนวยความสะดวก/บริการประชาชนระหว่างการเดินทางในทุกจังหวัดทั่วประเทศ

1.3) การอำนวยความสะดวกด้านการจราจรในพื้นที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะเส้นทางสายหลักที่ประชาชนใช้เดินทาง

1.4) การจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกภายในสถานี/อาคารรับ-ส่งผู้โดยสาร

1.5) การจัดตั้งศูนย์วิทยุและโทรศัพท์สายด่วนของหน่วยงานต่างๆ ในสังกัด เพื่อการประสานการปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ

2) แผนงานด้านความมั่นคง

การเข้มงวดการสังเกตเฝ้าระวังสิ่งผิดปกติ และวางระบบการป้องกันพื้นที่ในความรับผิดชอบเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ประชาชนในการใช้บริการ

3) แผนงานด้านความปลอดภัย ได้แก่ 3.1 การดำเนินโครงการ “ถนนสีขาว ถนนแห่งความปลอดภัย” ซึ่งเป็นกิจกรรมหลักที่สำคัญในแผน “คมนาคมปลอดภัย สังคมไทยเป็นสุข”ตามโครงการ“2554 ปีแห่งความปลอดภัย” 3.2 มาตรการผู้ขับขี่/ผู้โดยสารปลอดภัย 3.3 มาตรการยานพาหนะปลอดภัย 3.4 มาตรการถนน/ทางปลอดภัย 3.5 มาตรการบังคับใช้กฎหมาย 3.6 การประชาสัมพันธ์

1.4 การประสานงาน

1) ศูนย์ปลอดภัยคมนาคม (ศปภ.คค.) ปฏิบัติหน้าที่เป็นศูนย์ประสานภารกิจด้านความปลอดภัยในระบบขนส่งของกระทรวงคมนาคม และขอให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ที่เกี่ยวข้องจัดเจ้าหน้าที่เข้าร่วมเฝ้าระวังเหตุ และสำเนารายงานการปฏิบัติและสถิติการเกิดอุบัติเหตุให้ ศปภ.คค. ทุกวันในช่วงเทศกาลระหว่างวันที่ 11 — 17 เมษายน 2554 ก่อนเวลา 08.00 น. ของวันถัดไปและเป็นผู้ประสานการให้บริการอำนวยความสะดวก บรรเทาและแก้ไขปัญหาการเดินทางแก่ประชาชน ตลอด 24 ชั่วโมง ในช่วงระหว่างวันที่ 8 — 18 เมษายน 2554

2) ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม ให้บริการระบบการรายงานสภาพจราจรและบริหารจัดการอุบัติเหตุด้านการขนส่ง (TRAMS) แก่หน่วยงานทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และอำนวยความสะดวกในการจัดทำรายงานและการวิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุประจำวัน ทั้งในภาครวมของกระทรวงคมนาคม ระดับกรม และระดับหน่วยงานในส่วนภูมิภาค

1.5 ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบให้ความสำคัญในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุการขนส่งทางถนน ดังนี้

1) ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในเส้นทางสายหลักที่มีจุดเสี่ยง จุดอันตราย และโค้งอันตราย ดำเนินการจัดเจ้าหน้าที่ออกตรวจ เตือน ปรับปรุงแก้ไขบริเวณจุดอันตรายเป็นกรณีพิเศษ และติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย เพื่อป้องกันการฝ่าฝืนกฎจราจรและลดจำนวนการเกิดอุบัติเหตุซ้ำซาก

2) ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการควบคุมผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะ ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันอันตรายและลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตร่างกายและทรัพย์สินจากอุบัติเหตุ

3) ให้หน่วยงานที่กำกับดูแลทางพิเศษ (กรมทางหลวง และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย) เพิ่มมาตรการในการบังคับใช้กฎหมายควบคุมความเร็ว รวมถึงการพิจารณานำระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ดำเนินการตรวจจับความเร็วของรถ เพื่อป้องกันการเกิดเหตุซ้ำในบริเวณเดียวกันและบริเวณที่อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุในลักษณะเดียวกัน

4) การเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายจราจรทางบก เช่น การควบคุมความเร็วของรถไม่ให้เกินอัตราที่กำหนดโดยเฉพาะรถโดยสารประจำทางและไม่ประจำทาง การกวดขันการใช้งานรถผิดประเภท เช่น การบรรทุกผู้โดยสารจำนวนมากท้ายรถปิคอัพบรรทุก 4 ล้อ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูง เป็นต้น

5) ลดปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณที่เป็นคอขวด โดยดำเนินการเร่งรัดการก่อสร้าง การคืนพื้นผิวจราจร ประสานและจัดกำลังเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก รวมทั้งประชาสัมพันธ์เส้นทางการเดินทางต่างๆ ที่เป็นทางเลือกให้กับประชาชน

6) จัดตั้ง “ศูนย์คมนาคมปลอดภัย สังคมไทยเป็นสุข” เพื่อเป็นจุดบริการร่วมของกระทรวงคมนาคม (กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และกรมการขนส่งทางบก) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการอำนวยความสะดวก และให้บริการประชาชนระหว่างการเดินทาง ประกอบด้วย

6.1) จุดให้บริการ 12 จุด ณ ภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ดังนี้ (1) ศูนย์บริการทางหลวงชัยนาท จังหวัดชัยนาท (ช่วง กม. 133+504 ขาล่อง) (2) ศูนย์บริการทางหลวง OTOP นครชากังราว จังหวัดกำแพงเพชร (ช่วง กม. 449+437 ขาล่อง) (3) ศูนย์บริการทางหลวงขุนตาน จังหวัดลำปาง (ช่วง กม. 19+350 ขาขึ้น) (4) สถานีบริการน้ำมัน ป.ต.ท. อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา (ช่วง กม. 92+200 ขาขึ้น และช่วง กม. 94+700 ขาล่อง) (5) บริเวณพื้นที่หน้าป้อมตำรวจทางหลวง อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น (ช่วง กม. 291+128 ขาล่อง) (6) บริเวณสี่แยกปราสาท อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ (ช่วง กม. 138+100 ขาขึ้น) (7) บริเวณทางเลี่ยงเมืองอำเภอลำปลายมาศ (หนองผะองค์) จังหวัดบุรีรัมย์ (ช่วง กม. 91+012 ขาล่อง) (8) หมวดการทางชะอำ จังหวัดเพชรบุรี (ช่วง กม. 185+947 ขาล่อง) (9) ศูนย์บริการทางหลวงเขาโพธิ์ จังหวัดประจวบคิรีขันธ์ (ช่วง กม. 431+400 ขาขึ้น/ขาล่อง) (10) บริเวณสี่แยกเวียงสระ อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี (ช่วง กม. 225+842 ขาล่อง) (11) จุดตรวจสี่แยกควนลัง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา (ช่วง กม. 0+655 ขาขึ้น) (12) บริเวณบ้านน้ำเค็ม อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา (ช่วง กม. 873+700 ขาล่อง)

6.2) จัดตั้งจุดพักรถ (Rest Area) ในเส้นทางสายหลัก 9 แห่ง ได้แก่ ทางหลวงหมายเลข 1 จ.กำแพงเพชร ทางหลวงหมายเลข 11 จ.พิษณุโลก ทางหลวงหมายเลข 2 จ.นครราชสีมา ทางหลวงหมายเลข 226 จ.บุรีรัมย์ ทางหลวงหมายเลข 4 จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.สุราษฎร์ธานี ทางหลวงหมายเลข 41 จ.นครศรีธรรมราช ทางหลวงหมายเลข 3 และหมายเลข 344 จ.ระยอง เพื่อให้รถโดยสารประจำทางและรถโดยสารเช่าเหมาคันหยุดพักรถ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนใช้บริการจุดพักรถ เพื่อป้องกันการง่วงอ่อนเพลียขณะขับขี่ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้

7) กำกับดูแลให้ผู้ประจำรถโดยสารสาธารณะ (พนักงานขับรถ พนักงานประจำรถ นายตรวจ ผู้ให้บริการประจำรถ) จะต้องมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเป็นศูนย์มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ (0 mg%) โดยต้องจัดคนขับใหม่ทดแทน กรณีมีการตรวจพบว่ามีแอลกอฮอล์เกินกำหนด ต้องถูกลงโทษตามกฎหมายทั้งจำและปรับ เจ้าของรถโดยสารจะถูกพิจารณาโทษด้วย

8) รณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเลือกใช้รถโดยสารเช่าเหมาคัน (รถหมวด 30, 31) ที่มีความปลอดภัยในการเดินทางช่วงเทศกาล

9) รณรงค์ให้ผู้ขับขี่ตรวจสภาพความพร้อมของรถก่อนขับขี่ทุกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับขี่ทางไกล

2. รายงานสรุปสถิติอุบัติเหตุในภาคการขนส่งในความรับผิดชอบประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2554 โดยเปรียบเทียบกับสถิติการเกิดอุบัติเหตุในภาคการขนส่งประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2553 และสถิติอุบัติเหตุเฉพาะการขนส่งทางถนนเปรียบเทียบระหว่างเดือนมกราคม 2554 กับเดือนกุมภาพันธ์ 2554 โดยใช้ข้อมูลจากศูนย์ปลอดภัยคมนาคม และระบบ TRAMS จากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม ณ วันที่ 11 มีนาคม 2554 เวลา 09:00 น.

2.1 สถิติการเกิดอุบัติเหตุในภาคการขนส่งประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2554 โดยเปรียบเทียบกับสถิติการเกิดอุบัติเหตุในภาคการขนส่งประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2553

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

                            อุบัติเหตุที่รับรายงาน (ครั้ง)         ผู้บาดเจ็บ (ราย)              ผู้เสียชีวิต (ราย)

สาขาการขนส่ง ก.พ.53 ก.พ.54 เปรียบเทียบ ก.พ.53 ก.พ.54 เปรียบเทียบ ก.พ.53 ก.พ.54 เปรียบเทียบ

          ถนน               868     505    -41.80%     678     550    -18.90%     146      99    -32.20%
          จุดตัดรถไฟกับถนน      13      16     18.80%      35      19    -45.70%       3       1    -66.70%
          ทางน้ำ               2       3     33.30%       1       5    400.00%       1       8    700.00%
          ทางอากาศ            0       1    100.00%       0       0         0%       0       0         0%
          รวม               883     525    -40.50%     714     574    -19.60%     150     108    -28.00%

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุจากภาคการขนส่งในความรับผิดชอบ เปรียบเทียบในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของปี 2553 กับปี 2554 พบว่า ในภาพรวมของทุกสาขาการขนส่งมีจำนวนครั้งของสถิติการเกิดอุบัติเหตุลดลงเฉลี่ยร้อยละ 40.5 จำนวนผู้บาดเจ็บลดลงร้อยละ 19.6 และจำนวนผู้เสียชีวิตลดลงร้อยละ 28.0 และเมื่อพิจารณาจากความรุนแรงเมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2553 พบว่า การเกิดอุบัติเหตุทางถนนยังคงสร้างความสูญเสียอย่างร้ายแรง ซึ่งจากสถิติข้างต้น อุบัติเหตุทางถนน เดือนกุมภาพันธ์ 2554 พบว่า เกิดขึ้นสูงถึงร้อยละ 96.2 เมื่อเทียบกับการขนส่งระบบอื่น มีผู้บาดเจ็บร้อยละ 95.8 และมีผู้เสียชีวิตร้อยละ 91.7 โดยการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 มีจำนวนครั้ง จำนวนผู้บาดเจ็บ และจำนวนผู้เสียชีวิตลดลง เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2553 โดยเส้นทางตรงยังคงเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด พฤติกรรมการขับขี่ที่ไม่เคารพกฎจราจรและไม่ปลอดภัย ได้แก่ การขับรถเร็วเกินอัตราที่กำหนด และการตัดหน้ากระชั้นชิด ยังคงเป็นมูลเหตุสันนิษฐานสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุ ทั้งนี้ การขับรถเร็วเกินอัตราที่กำหนด มีสถิติที่ลดลงร้อยละ 37 และการตัดหน้ากระชั้นชิด มีสถิติลดลงร้อยละ 40 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของ ปี 2553 นอกจากนี้ ประเภทรถที่เกี่ยวข้องกับการเกิดอุบัติเหตุที่สำคัญ ได้แก่ รถปิคอัพบรรทุก 4 ล้อ รถจักรยานยนต์ และรถยนต์

2.2 สถิติอุบัติเหตุเฉพาะการขนส่งทางถนนเปรียบเทียบระหว่างเดือนมกราคม 2554 กับเดือนกุมภาพันธ์ 2554

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

                 ข้อมูลอุบัติเหตุ        ม.ค. 54         ก.พ. 54    รวม (ม.ค. — ก.พ. 54)
                 อุบัติเหตุ (ครั้ง)        1,121    505 (-55.0%)                   1,626
                 ผู้เสียชีวิต (ราย)         201     99 (-50.7%)                     300
                 ผู้บาดเจ็บ (ราย)       1,127     550 (-512%)                   1,677

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

สถิติอุบัติเหตุการขนส่งทางถนนเดือนกุมภาพันธ์ 2554 เกิดอุบัติเหตุรวม 505 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 550 ราย และผู้เสียชีวิต 99 ราย โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 มีจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้บาดเจ็บ และจำนวนผู้เสียชีวิต ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม 2554

3. ความก้าวหน้าในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุการขนส่งทางถนน

3.1 กรมการขนส่งทางบก ได้ดำเนินการตรวจสอบพฤติกรรมความพร้อมของผู้ขับขี่ไม่ให้เมาสุรา (แอลกอฮอล์เป็นศูนย์) โดยข้อมูล ณ วันที่ 9 มีนาคม 2554 ได้ดำเนินการตรวจวัดแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับรถสาธารณะ จำนวน 178,771 ราย ตรวจพบผู้กระทำผิดซึ่งมีแอลกอฮอล์ในเลือดแต่ไม่เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จำนวน 1 ราย สำนักงานขนส่งจังหวัดสุรินทร์ได้ดำเนินการลงโทษโดยการสั่งห้ามขับ และอยู่ระหว่างการดำเนินคดีตามกฎหมาย

3.2 กรมทางหลวงชนบท ได้ดำเนินการจัดฝึกอบรมเพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านความปลอดภัยงานทางให้กับประชาชนที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่ความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท และประชาชนที่มีจิตสาธารณะ โดยในเดือนกุมภาพันธ์ได้ดำเนินการฝึกอบรมจำนวน 95 คน ทำให้มีประชาชนที่ได้รับการฝึกอบรมตั้งแต่ดำเนินโครงการฯ (ปี 2549) รวม 6,896 คน

4. การดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุการขนส่งทางถนนในระยะต่อไป

4.1 ให้กรมการขนส่งทางบก องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และบริษัท ขนส่ง จำกัด ยังคงดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดจากรถโดยสารสาธารณะอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง โดยเน้นในเรื่องการตรวจสอบพฤติกรรมความพร้อมของผู้ขับขี่ไม่ให้เมาสุรา (แอลกอฮอล์เป็นศูนย์)

4.2 ให้หน่วยงานด้านงานทางเพิ่มมาตรการในการเฝ้าระวังและอำนวยความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ทางทั้งในด้านการบังคับใช้กฎหมายและการพิจารณานำระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ประกอบการดำเนินการ การติดตามพฤติกรรมของผู้ขับขี่รถโดยสารสาธารณะ/รถขนส่งวัตถุอันตราย เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ดังนี้

4.2.1 ให้กรมทางหลวงชนบท ดำเนินการติดตั้งกล้อง CCTV บริเวณสะพาน และอุโมงค์ในความรับผิดชอบ ซึ่งปัจจุบันได้ติดตั้งไปแล้วจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ สะพานภูมิพล 1 สะพานภูมิพล 2 และอุโมงค์วงแหวงเชียงใหม่

4.2.2 ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ดำเนินการติดตั้งกล้อง CCTV และ กล้องตรวจจับความเร็วในสายทางความรับผิดชอบ ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการติดตั้งกล้อง CCTV ไปแล้วจำนวน 272 ตัว และจะดำเนินการติดตั้งเพิ่มหากสำรวจพบจุดเสี่ยง จุดอันตราย หรือจุดที่เกิดอุบัติเหตุสูง เพิ่มเติม ส่วนในด้านการดำเนินการติดตั้งกล้องตรวจจับความเร็ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมทางเทคนิค (Technical Feasibility Study) โดยได้ติดตั้งกล้องตรวจจับความเร็วในสายทางนำร่องสายบางพลี — สุขสวัสดิ์ เพื่อสำรวจข้อมูลพื้นฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ประกอบการกำหนดจุดที่เหมาะสมในการติดตั้ง โดยพิจารณาความเหมาะสมทั้งทางด้านมาตรฐานทางวิศวกรรม การบังคับใช้กฎหมาย การให้การศึกษา/ประชาสัมพันธ์ และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความเหมาะสมทางด้านการเงินและทางด้านเศรษฐศาสตร์ มาประกอบการตัดสินใจบังคับใช้กฎหมายควบคุมความเร็ว รวมถึงการพิจารณานำระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ดำเนินการตรวจจับความเร็วของรถ

5. โครงการสำคัญที่ดำเนินการตลอดปี 2554 เพื่อส่งเสริมการเดินทางที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืน

กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท เร่งรัดดำเนินโครงการสำคัญตามแผน “คมนาคมปลอดภัย สังคมไทยเป็นสุข” อันได้แก่ โครงการถนนสีขาว ถนนแห่งความปลอดภัย โครงการถนนเพื่อชุมชน และโครงการถนนสีเขียวเพื่อชาวดอย โดยโครงการเหล่านี้ถือเป็นกลไกสำคัญในการบรรลุเป้าประสงค์ของแผนฯ ทั้งในด้านลดความสูญเสียจากการเดินทาง และเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชน อันส่งผลให้เกิดการเดินทางที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืน

5.1 โครงการ “ถนนสีขาว ถนนแห่งความปลอดภัย”

มีวัตถุประสงค์เพื่อลดจำนวนอุบัติเหตุในถนนสายหลักและสายรองทั่วประเทศ โดยการบริหารจัดการและปรับปรุงถนนตามหลักวิศวกรรมจราจรและงานทาง ซึ่งกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท จะดำเนินการให้มี “ถนนสีขาว ถนนแห่งความปลอดภัย” ครอบคลุมในทุกจังหวัดทั่วประเทศ จำนวนสายทางที่จะดำเนินการ มีดังนี้ กรมทางหลวง ดำเนินการในพื้นที่รับผิดชอบทั่วประเทศจำนวน 104 แขวงการทาง รวม 109 สายทาง กรมทางหลวงชนบท ดำเนินการในพื้นที่รับผิดชอบทั่วประเทศจำนวน 75 จังหวัด รวม 75 สายทาง

5.2 โครงการถนนเพื่อชุมชน มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสุขภาพ ความปลอดภัย และเศรษฐกิจของชุมชน โดยคัดเลือกจากชุมชนที่มีสภาพทางเศรษฐกิจยังไม่เข้มแข็ง และกำหนดระยะของโครงการในช่วงกิโลเมตรที่มีชุมชนตามแนวสายทาง ซึ่งกรมทางหลวงจะดำเนินการจำนวน 85 พื้นที่ ใน 38 จังหวัด

5.3 โครงการถนนสีเขียวเพื่อชาวดอย มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การเดินทางของประชาชนในพื้นที่สูง (ชาวดอย) มีความสะดวก ปลอดภัย ร่นระยะเวลาในการเดินทาง และสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างรวดเร็ว โดยกรมทางหลวงชนบทอยู่ระหว่างการตรวจสอบเพื่อกำหนดสายทางที่จะดำเนินการ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 มีนาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ