การจ่ายค่าตอบแทนพิเศษสำหรับพนักงานสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 29, 2011 15:08 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การจ่ายค่าตอบแทนพิเศษสำหรับพนักงานสถาบันการเงินเฉพาะกิจจากการดำเนินงาน

เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2552 และปี 2553

คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้

1. อนุมัติยกเว้นการถือปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2545 ที่กำหนดให้รัฐวิสาหกิจจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษตามระบบประเมินผลซึ่งครอบคลุมการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจอยู่แล้วเท่านั้น

2. อนุมัติให้จ่ายเงินตอบแทนพิเศษให้พนักงานของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 5 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน (ธ.ออมสิน) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) จำนวน 1 เท่าของเงินเดือน โดยให้จ่ายจากเงินงบประมาณประจำปี 2554 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจแต่ละแห่ง โดยให้จ่ายในคราวเดียว

สาระสำคัญของเรื่อง

กค. รายงานว่า ในระหว่างปี 2552 ถึง 2553 กค. ได้มอบหมายให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจเป็นหน่วยงานรับผิดชอบการปล่อยสินเชื่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามโครงการนโยบายรัฐบาล โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ ธ.ออมสิน ธ.ก.ส. ธอส. ธพว. และ ธอท. ได้ดำเนินการปล่อยสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อโครงการตามนโยบายรัฐเป็นจำนวนมาก เพื่อสนองนโยบายรัฐบาลในการให้สินเชื่อเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมุ่งเน้นการให้สินเชื่อเพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยในระดับฐานราก เกษตรกร และผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากยิ่งขึ้น โดยมีผลการดำเนินงานเป็นที่เด่นชัด ดังนี้

1. ภาพรวมการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่มีส่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2552 ถึงปี 2553 มีผลการดำเนินงานโดยสรุปจากภาพรวมการดำเนินงานภายใต้แผนขับเคลื่อนสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้ง 5 แห่งดังกล่าว มีผลการอนุมัติสินเชื่อรวมในปี 2552 ทั้งสิ้นเป็นจำนวน 1,132,113 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 127 ของเป้าหมาย และในปี 2553 เป็นจำนวน 1,340,082 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 160 ของเป้าหมาย ซึ่งเป็นผลงานการปล่อยสินเชื่อที่สูงกว่าเป้าหมาย แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการปล่อยสินเชื่อเพื่อการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจฐานรากได้ตามนโยบายรัฐบาลเป็นอย่างดี

2. สินเชื่อโครงการนโยบายที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล

2.1 สินเชื่อ Fast Track

สินเชื่อ Fast Track เป็นมาตรการส่วนหนึ่งของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจได้เร่งการดำเนินงานให้สินเชื่อรวดเร็วเป็นพิเศษ เพื่อให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจรวดเร็วขึ้นในภาวะที่วิกฤตเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2552 และสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2552 ซึ่งสถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้ง 5 แห่ง สามารถอนุมัติสินเชื่อได้ 90,143 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 153 ของเป้าหมาย

2.2 สินเชื่อโครงการตามนโยบายรัฐบาลของสถาบันการเงินเฉพาะกิจรายแห่ง สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทั้ง 5 แห่ง มีผลงานการปล่อยสินเชื่อตามนโยบายรัฐในปี 2552 และปี 2553 ดังนี้

2.2.1 ธ.ออมสิน ประกอบด้วย สินเชื่อโครงการธนาคารประชาชนสินเชื่อห้องแถว สินเชื่อแก้ไขหนี้ภาคประชาชน (หนี้นอกระบบ) สินเชื่อเพื่อพัฒนาชนบท โครงการยกระดับกองทุนหมู่บ้านเป็นสถาบันการเงินชุมชน (นโยบายสวัสดิการสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) และโครงการหมอหนี้ (อาสาสมัครที่ปรึกษาทางการเงินประจำหมู่บ้าน)

2.2.2 ธ.ก.ส. ประกอบด้วย โครงการฟื้นฟูและพักชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรรายย่อยและผู้ยากจน โครงการประกันรายได้เกษตรกร ปีการผลิต 2552/53 และปีการผลิต 2553/2554 มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกนาปี 2552/53 และโครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ

2.2.3 ธอส. ประกอบด้วย โครงการบ้าน ธอส.-กบข. ครั้งที่ 6 โครงการบ้าน ธอส. เพื่อที่อยู่อาศัยลูกจ้างประจำของส่วนราชการที่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (กสจ.3) โครงการบ้านเอื้ออาทร โครงการบ้านมิตรภาพ ธอส.-สปส. โครงการสวัสดิการเงินกู้เพื่อบุคลากรภาครัฐ โครงการเงินกู้เพื่อลดภาระหนี้ ปลูกสร้างและซ่อมแซมที่อยู่อาศัยแก่ผู้ประสบอุทกภัยปี 2553 และโครงการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับความเสียหายจากการชุมนุมทางการเมืองในพื้นที่ภัยพิบัติของกรุงเทพมหานคร

2.2.4 ธพว. ประกอบด้วย โครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างงานโครงการช่วยเหลือการเงินแก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจและภายในประเทศ (smePower เพื่อท่องเที่ยว) โครงการ smePower โครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในกรุงเทพมหานครที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมือง (SME Power เพื่อวันใหม่) ระยะที่ 1 และ 2 โครงการสินเชื่อ smePower เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยในปี 2553 โครงการ smePower ไทยเข้มแข็งระยะที่ 1 และ 2 โครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินภาคประชาชน และโครงการช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการธุรกิจโลจิสติกส์ไทย

2.2.5 ธอท. ประกอบด้วย โครงการสินเชื่อเพื่อสร้างอาชีพ (หาบเร่และแผงลอยใน กทม.) โครงการสินเชื่อ I-Bank ยิ้มสู้ กู้วิกฤตภายใต้เศรษฐกิจพอเพียง โครงการสินเชื่อเพื่อรากหญ้า (I-Bank Islamic Micro Finance) โครงการซับน้ำตา โครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการอาชีพให้บริการรถสาธารณะ โครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (Soft Loan) โครงการเป็นผู้บริหารและผู้จัดการเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา และโครงการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการอาชีพอิสระรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยและวาตภัยปี 2553

จากผลงานตาม 2.1 และ 2.2 สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐจำนวน 5 แห่ง มีผลงานการปล่อยสินเชื่อตามนโยบายรัฐที่โดดเด่นในปี 2552 และปี 2553 โดยได้ดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อสนองนโยบายรัฐ โดยสามารถปล่อยสินเชื่อได้สูงกว่าเป้าหมายและเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม

3. กค. พิจารณาแล้วเห็นว่า จากผลงานการปล่อยสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในปี 2552 และปี 2553 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจจำนวน 5 แห่ง ปรากฏว่าสถาบันการเงินเฉพาะกิจดังกล่าวได้มีการดำเนินการจนสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนทั้งระดับกลางและระดับฐานราก โดยพนักงานของสถาบันการเงินทั้ง 5 แห่ง ได้ทุ่มเทและเสียสละในการดำเนินการเพื่อสนองนโยบายรัฐ ซึ่งในบางโครงการต้องอาศัยการออกพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยากและมีความเสี่ยงภัย อีกทั้งโครงการตามนโยบายรัฐบาล ถือเป็นการเพิ่มปริมาณงานให้แก่สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่นอกเหนือจากงานประจำ ดังนั้น จึงเห็นสมควรจ่ายเงินตอบแทนพิเศษให้พนักงานของสถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้ง 5 แห่ง เป็นจำนวน 1 เท่าของเงินเดือนเพื่อเป็นการตอบแทนและสร้างขวัญกำลังใจให้กับพนักงานจากการปฏิบัติงานดังกล่าว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 มีนาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ