คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการให้ไทยบริจาคเงินแก่กองทุน Central Emergency Response Fund (CERF) จำนวน 20,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการบริหารกองทุน จำนวนเงินบริจาคของประเทศกำลังพัฒนาแก่กองทุน หรือบริบททางสภาวะเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ความเป็นมาของกองทุน CERF
1.1 สหประชาชาติได้จัดตั้งกองทุน CERF เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2534 ตามข้อมติสมัชชาสหประชาชาติที่ 6/182 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างศักยภาพในการตอบสนองต่อภัยพิบัติฉุกเฉิน โดยประกาศขอรับเงินบริจาค (flash appeal) จากประเทศสมาชิกเมื่อมีภัยพิบัติเกิดขึ้น แต่เนื่องจากวิธีการดังกล่าวทำให้สหประชาชาติไม่สามารถตอบสนองต่อภัยพิบัติฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ เลขาธิการสหประชาชาติจึงได้ปฏิรูปกองทุน และเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2548 สมัชชาสหประชาชาติได้มีข้อมติที่ 60/124 ยกระดับกองทุนโดยเปลี่ยนชื่อเป็น Central Emergency Response Fund (CERF) และให้ดำเนินการในลักษณะกองทุนสำรอง (stand-by-fund)
1.2 นาง Vilerie Amos รองเลขาธิการสหประชาชาติ ด้านกิจการมนุษยธรรม ทำหน้าผู้ที่บริหารกองทุนในนามเลขาธิการสหประชาชาติ โดยกองทุน CERF จะให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติและเหตุฉุกเฉินอื่น ๆ ผ่านเครือข่ายขององค์การระหว่างประเทศด้านความช่วยเหลือ อาทิ กองทุนเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) โครงการอาหารโลก (WFP) และองค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นต้น
1.3 กองทุน CERF ตั้งวงเงินกองทุนไว้ที่ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดยได้มาจากการบริจาคของ รัฐสมาชิก ภาคธุรกิจ และบุคคลทั่วไป แบ่งเป็นวงเงินสำหรับการให้เงินเปล่า (grant facility) 450 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และให้กู้ (loan facility) 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีเงื่อนไขเบิกจ่ายจากวงเงินสำหรับให้กู้ในกรณีที่จะมีการจัดประชุมระดมเงินบริจาค (donor pledge) ในอนาคตอันใกล้และองค์การสหประชาชาติที่ได้รับจัดสรรเงินจากกองทุน CERF จะต้องคืนเงินกู้ภายใน 1 ปี
1.4 ตั้งแต่การปฏิรูปกองทุนในปี 2548 CERF ได้รับเงินบริจาค จากรัฐสมาชิกและผู้สังเกตการณ์สหประชาชาติ 120 รัฐ โดยมีผู้บริจาคภาครัฐและภาคเอกชนอื่นๆ รวม 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งกองทุน CERF ได้จัดสรรเงินจำนวน 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่หน่วยงานด้วยความช่วยเหลือนำไปใช่ในโครงการฟื้นฟูภัยพิบัติมากกว่า 1,700 โครงการใน 78 ประเทศทั่วโลก
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 มีนาคม 2554--จบ--