คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบกฎบัตรสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และส่งให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 190 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยตามมติคณะรัฐมนตรี (20 ธันวาคม 2526)
2. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย พ.ศ. .... และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป เมื่อรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบกฎบัตรฯ ตามข้อ 1 แล้ว
3. อนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการยอมรับหรือให้ความเห็นชอบกฎบัตรฯ และให้ดำเนินการต่อไปได้ เมื่อกฎบัตรฯ ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา และร่างพระราชบัญญัติมีผลใช้บังคับแล้ว
4. เห็นชอบให้มีการเผยแพร่เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงรายละเอียดของกฎบัตรฯ และให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของเรื่อง
1. กฎบัตรสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย
1.1 สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ได้รับการจัดตั้งขึ้นให้เป็นองค์การระหว่างประเทศ โดยให้มีลักษณะไม่แสวงหากำไร เป็นอิสระ และไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง
1.2 สมาชิกภาพของ AIT เปิดให้กับทุกรัฐ และองค์การระหว่างประเทศที่เห็นพ้องกับวัตถุประสงค์ของเอไอที
1.3 AIT อาจร้องขอให้สมาชิกอำนวยความสะดวกตามขอบเขตที่สอดคล้องกับกฎหมายและระเบียบข้อบังคับภายในประเทศของตน เพื่อให้โครงการวิชาการของ AIT ได้รับการรับรองโดยมหาวิทยาลัย หรือสถาบันการศึกษาระดับสูงขึ้นอื่น ๆ
1.4 ในประเทศเจ้าบ้าน ให้ AIT มีสถานะเป็นนิติบุคคลและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสามารถตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับภายในประเทศของประเทศเจ้าบ้าน
1.4.1 ที่จะได้มาและจำหน่ายจ่ายโอนอสังหาริมทรัพย์ และสังหาริมทรัพย์
1.4.2 ที่จะทำสัญญา และ
1.4.3 ที่จะดำเนินการทางกฎหมาย
1.5 ให้ AIT และสมาชิกสำนักเลขาธิการได้อุปโภคสิทธิ เอกสิทธิ และความคุ้มกันในราชอาณาจักรไทยตามที่จะได้กำหนดไว้ในความตกลงสำนักงานใหญ่เท่าที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และกิจกรรมของเอไอที ในการจัดทำความตกลงสำนักงานใหญ่ ประเทศไทยจะไม่มีพันธะต้องให้สิทธิ เอกสิทธิ และความคุ้มกันทั้งปวงตามที่อ้างถึงในประโยคก่อนหน้านี้แก่บุคคลสัญชาติไทยและผู้มีถิ่นพำนักถาวรในประเทศไทย
1.6 ให้สมาชิก AIT ใช้ความพยายามทุกทางในการสนับสนุนด้านการเงิน สิ่งของและบริการสำหรับการพัฒนา AIT ต่อไปบนพื้นฐานความสมัครใจตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับภายในประเทศและภายในขอบเขตของการจัดสรรงบประมาณของประเทศสมาชิก
1.7 กฎบัตรนี้จะเปิดให้มีการลงนามเป็นเวลาหนึ่งปีภายหลังจากวันที่ที่มีการรับรองและต้องได้รับการยอมรับหรือความเห็นชอบโดยฝ่ายที่ลงนาม
1.8 ให้กฎบัตรนี้มีผลบังคับใช้หกเดือนภายหลังวันที่ที่มีการยื่นหนังสือยอมรับหรือหนังสือให้ความเห็นชอบฉบับที่ห้า
1.9 ให้เก็บรักษาต้นฉบับของกฎบัตรไว้กับรัฐบาลไทยซึ่งจะส่งสำเนากฎบัตรที่ได้รับการรับรองโดยชอบแล้วให้ฝ่ายที่ลงนาม และรัฐและองค์การระหว่างประเทศที่ภาคยานุวัติ
2. ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย พ.ศ. ....
2.1 กำหนดนิยามคำว่า “กฎบัตร” “สถาบัน” และ “สมาชิกสำนักเลขาธิการ” (ร่างมาตรา 4)
2.2 เพื่อคุ้มครองการดำเนินงานของสถาบันซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศในประเทศไทยให้บรรลุตามความมุ่งประสงค์
2.2.1 ให้ยอมรับนับถือว่าสถาบันมีสถานะนิติบุคคล และมีภูมิลำเนาในประเทศไทย
2.2.2 ให้สถาบัน และสมาชิกสำนักเลขาธิการได้รับเอกสิทธิและความคุ้มกันในประเทศไทยเท่าที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสถาบัน ทั้งนี้ โดยให้เป็นไปตามความตกลงสำนักงานใหญ่ซึ่งประเทศไทยจะได้ทำกับสถาบันต่อไปตามที่ได้ระบุไว้ในกฎบัตร (ร่างมาตรา 5)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 มีนาคม 2554--จบ--