รายงานผลการเจรจาการบินระหว่างไทย — สหราชอาณาจักร

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 29, 2011 15:50 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการบันทึกการหารือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่ง สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่ง สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ และร่างความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และให้นำเรื่องนี้เสนอรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนมอบให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการเพื่อให้มีการลงนามร่างบันทึกความเข้าใจฯ และร่างความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศ และแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูตยืนยันการมีผลใช้บังคับต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

1. บันทึกการหารือฯ มีสาระสำคัญ ดังนี้

1.1 คณะผู้แทนทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในความร่วมมือด้านการบินเรื่องต่างๆ อาทิ ร่างความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศฉบับใหม่สิทธิรับขนการจราจร เป็นต้น และได้บรรจุข้อตกลงและลงนามย่อความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศและบันทึกความเข้าใจที่จะต้องขอความเห็นชอบต่อไป

1.2 คณะผู้แทนทั้งสองฝ่ายตกลงให้ดำเนินการเพื่อให้มีการลงนามในร่างความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศและบันทึกความเข้าใจและให้มีการแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูตระหว่างกันต่อไป

2. ร่างบันทึกความเข้าใจฯ มีสาระสำคัญ ดังนี้

2.1 ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศ คณะผู้แทนทั้งสองฝ่ายได้จัดทำตัวบทของร่างความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศฉบับใหม่ และได้ตกลงให้บทบัญญัติแห่งความตกลงจะมีผลใช้บังคับเมื่อได้มีการแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูต

2.2 ความจุและสิทธิรับขนการจราจร คณะผู้แทนทั้งสองฝ่ายได้ตกลงว่า

(1) จนถึงกำหนดการบินประจำฤดูหนาว 2551 สายการบินของทั้งสองฝ่ายอาจดำเนินบริการได้ถึง 21 เที่ยวต่อสัปดาห์ สำหรับเที่ยวบินรับขนผู้โดยสารหรือเที่ยวบินรับขนผู้โดยสารผสมสินค้า และได้ถึง 14 เที่ยวต่อสัปดาห์สำหรับเที่ยวบินรับขนเฉพาะสินค้า

(2) เริ่มตั้งแต่กำหนดการบินประจำฤดูหนาว 2551 สายการบินของทั้งสองฝ่ายอาจดำเนินบริการได้ถึง 28 เที่ยวต่อสัปดาห์ สำหรับเที่ยวบินรับขนผู้โดยสารหรือเที่ยวบินรับขนผู้โดยสารผสมสินค้าและไม่มีข้อจำกัดในเรื่องจำนวนเที่ยวสำหรับเที่ยวบินรับขนเฉพาะสินค้า

2.3 การใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกัน สายการบินที่กำหนดสายหนึ่งหรือหลายสายของภาคีผู้ทำความตกลงแต่ละฝ่าย อาจเข้าร่วมจัดทำความร่วมมือในการใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกันกับสายการบินอื่นสายหนึ่งหรือหลายสายใดๆ ทั้งนี้ ภายใต้บังคับของกฎหมายและระเบียบเกี่ยวกับการควบคุมการแข่งขันที่ใช้ภายในอาณาเขตของภาคีผู้ทำความตกลงที่แจ้งกำหนดสายการบินนั้น

2.4 การบริการเที่ยวบินเช่าเหมา คณะผู้แทนแต่ละฝ่ายได้ยืนยันเจตนาของเจ้าหน้าที่การเดินอากาศฝ่ายตนที่จะสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินบริการเที่ยวบินเช่าเหมาแบบเหมาจ่ายระหว่างสหราชอาณาจักรและประเทศไทย การอนุญาตสายการบินที่ให้บริการเที่ยวบินเช่าเหมาแบบเหมาจ่ายของภาคีอีกฝ่ายหนึ่งให้สามารถขายเฉพาะที่นั่งโดยสารในแต่ละเที่ยวบินได้ถึงร้อยละ 20 ของความจุอากาศยานทั้งหมด และอนุญาตให้รับขนส่งสินค้าบรรทุกไปกับเที่ยวบินเช่าเหมารับขนผู้โดยสารแบบเหมาจ่ายได้

2.5 การมีผลใช้บังคับ บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ใช้แทนบันทึกความเข้าใจทุกฉบับก่อนหน้านี้ และจะมีผลใช้บังคับเมื่อได้มีการแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูต

3. ร่างความตกลงฯ มีสาระสำคัญ ดังนี้

3.1 กำหนดคำจำกัดความคำว่า “อนุสัญญาชิคาโก” “เจ้าหน้าที่การเดินอากาศ” “สายการบินที่กำหนด” “อาณาเขต” “บริการเดินอากาศ” “บริการเดินอากาศระหว่างประเทศ” “สายการบิน” “การแวะลงมิใช่ความมุ่งประสงค์ทางการค้า” “ความตกลงฉบับนี้” “ค่าภาระ” “ใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ” และ “รัฐสมาชิกประชาคมยุโรป”

3.2 การให้สิทธิ ภาคีผู้ทำความตกลงแต่ละฝ่ายให้สิทธิแก่ภาคีผู้ทำความตกลงอีกฝ่ายหนึ่งในการดำเนินบริการเดินอากาศระหว่างประเทศของตน เช่น สิทธิในการบินผ่านอาณาเขตของตนโดยไม่แวะลง สิทธิในการแวะลงในอาณาเขตของตนโดยมิใช่เพื่อความมุ่งประสงค์ทางการค้า เป็นต้น

3.3 การกำหนดสายการบินและการอนุญาต ภาคีผู้ทำความตกลงแต่ละฝ่ายมีสิทธิที่จะกำหนดสายการบินหลายสาย เพื่อความมุ่งประสงค์ในการดำเนินบริการที่ตกลงตามเส้นทางบินที่ระบุของแต่ละฝ่าย และมีสิทธิเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงการกำหนดสายการบินดังกล่าว

3.4 การปฏิเสธ การเพิกถอน และการพักใช้ใบอนุญาตดำเนินการ กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขกรณีภาคีผู้ทำความตกลงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจปฏิเสธเพิกถอน พักใช้ หรือจำกัดการให้การอนุญาตประกอบการ หรือใบอนุญาตทางเทคนิคของสายการบินที่กำหนดโดยภาคีผู้ทำความตกลงอีกฝ่ายหนึ่ง

3.5 ภาคีผู้ทำความตกลงแต่ละฝ่าย กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการแข่งขันที่เป็นธรรมและการอุดหนุนภาครัฐ พิกัดอัตราค่าขนส่งและค่าอากร ภาษี และค่าธรรมเนียม

3.6 การขนส่งหลายรูปแบบ ภายใต้กฎหมายและข้อบังคับของภาคีผู้ทำความตกลงแต่ละฝ่าย สายการบินที่กำหนดของภาคีผู้ทำความตกลงแต่ละฝ่ายจะได้รับอนุญาตให้ว่าจ้างการขนส่งหลายรูปแบบใดซึ่งเป็นการต่อเนื่องกับการขนส่งทางอากาศมายังหรือไปจากจุดใดๆ ในอาณาเขตของภาคีผู้ทำความตกลง หรือประเทศที่สาม

3.7 การแก้ไขความตกลง ภาคีผู้ทำความตกลงจะยอมรับการแก้ไขความตกลงใดๆ ของความตกลงฉบับนี้โดยการแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูต

3.8 การบังคับใช้ความตกลงฉบับนี้จะมีผลใช้บังคับเมื่อได้มีการแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูต

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 มีนาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ