การขอจัดตั้ง “สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย” (Thailand Institute of Justice — TIJ)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 29, 2011 15:52 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้จัดตั้งสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) เพื่อรับผิดชอบงานตามนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาล ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ โดยให้ยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2553 และวันที่ 7 กันยายน 2553 เกี่ยวกับเรื่อง การขยายระยะเวลาของมาตรการระงับการขอจัดตั้งหน่วยงานใหม่หรือขยายหน่วยงานตามติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 และให้สำนักงาน ก.พ.ร. เร่งรัดดำเนินการนำเรื่องนี้พร้อมกับร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) พ.ศ. .... เสนอ ก.พ.ร. พิจารณาตามขั้นตอนโดยด่วน และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

สาระสำคัญของเรื่อง

ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2553 เห็นชอบในหลักการให้กระทรวงยุติธรรมจัดทำแผนการจัดตั้ง “สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย” (Thailand Institute of Justice — TIJ) ตามโครงการจัดทำข้อเสนอประเทศไทยเพื่อผลักดันเป็นข้อกำหนดสหประชาชาติสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ (Enhancing Lives of Female Inmates — ELFI) ในพระดำริของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา โดยให้กระทรวงยุติธรรมไปพิจารณาทบทวน ปรับปรุงในรายละเอียด และดำเนินการตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง นั้น

กระทรวงยุติธรรมขอรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ดังนี้

1. กระทรวงยุติธรรมได้ดำเนินการทบทวน และปรับปรุงแผนการจัดตั้งสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ในรายละเอียดตามมติคณะรัฐมนตรีข้างต้น พร้อมทั้งจัดทำเอกสารคำชี้แจงประกอบการขอจัดตั้งสถาบัน TIJ เป็นองค์การมหาชน เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จะมาสนับสนุน (1) การอนุวัติข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขัง (United Nations Rules for the Treatment of Women Prisoners and Non-custodial Measures) หรือ “The Bangkok Rules” เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย และส่งเสริมให้นานาประเทศนำไปใช้เป็นแนวปฏิบัติ (2) การศึกษาและเรียนรู้มาตรฐานและบรรทัดฐานของสหประชาชาติเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา (UN Standard and norms) และแนวปฏิบัติที่ดี (Good Practices) ในด้านการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด (Treatment of Offenders) และการช่วยเหลือผู้กระทำผิดหลังพ้นโทษให้กลับคืนสู่สังคม (Re-entry) เพื่อการพัฒนากระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยและต่างประเทศ (3) การส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ด้านหลักนิติธรรม (Rule of Law) ตามหลักการของสหประชาชาติ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนสร้างสังคมให้เป็นสังคมแห่งความยุติธรรม (4) การเป็นศูนย์กลางแห่งความเป็นเลิศระดับนานาชาติ (Center of Excellence) เพื่อการพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางอาญาโดยเฉพาะด้านการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด โดยจะเน้นความร่วมมือกับสหประชาชาติและสถาบันสมทบ ตลอดจนความร่วมมือในกรอบอาเซียน และ (5) การส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของกระบวนการยุติธรรมของไทยให้ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ เพื่อการประสานความร่วมมือด้านกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศ

2. กระทรวงยุติธรรม ขอเรียนว่า ในการจัดตั้งองค์การมหาชนในครั้งนี้ไม่มีความซ้ำซ้อนกับภารกิจของส่วนราชการในกระทรวงยุติธรรมที่ดำเนินการอยู่ และยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรมโดยรวม อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนากระบวนการยุติธรรมในด้านการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังอย่างยั่งยืน และเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของกระบวนการยุติธรรมไทยในระดับนานาชาติอีกด้วย

3. กระทรวงยุติธรรม ได้รับแจ้งจาก ก.พ.ร. ว่าได้พิจารณาคำขอจัดตั้งสถาบันฯ ที่ส่งไปแล้วและมีความเห็นว่า เรื่องนี้เป็นไปตามหลักการของการขอจัดตั้งองค์การมหาชน ตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 รวมทั้ง ก.พ.ร. ได้ปรับแก้ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันเรียบร้อยแล้ว จึงขอให้กระทรวงยุติธรรมดำเนินการขอยกเว้นมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2553 ที่ขยายระยะเวลาของมาตรการระงับการขอจัดตั้งหน่วยงานใหม่หรือขยายหน่วยงานใหม่ รวมทั้งการขอจัดตั้งองค์การมหาชนหรือหน่วยงานอื่นของรัฐเพิ่มใหม่ออกไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2554 ทั้งนี้เพื่อไม่ให้คำขอจัดตั้งนี้ขัดกับมติคณะรัฐมนตรีด้วยเหตุผลว่าเป็นนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาล

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 มีนาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ