คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรายงานเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.7 ริกเตอร์ ที่สหภาพพม่าและผลกระทบต่อประเทศไทย
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรธรณี ได้ดำเนินการเฝ้าระวังเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.7 ริกเตอร์ ที่อาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ดังนี้
1. รวบรวม วิเคราะห์ และประมวลผลข้อมูลแผ่นดินไหว เพื่อแจ้งผ่านข้อความสั้น (SMS) ให้สื่อมวลชนและเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัยทราบ
2. ดำเนินการตรวจสอบ ติดตามสถานการณ์ผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวจากเว็บไซต์ สื่อมวลชนและเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัย และได้จัดทำแผนที่ประเมินความรุนแรงแผ่นดินไหวในเบื้องต้น พบว่าที่บริเวณอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายมีความรุนแรงระดับ 6 เมอร์คัลลี่ (ต้นไม้สั่น บ้านแกว่ง สิ่งปลูกสร้างบางชนิดพัง) ในขณะที่กรุงเทพมหานครมีความรุนแรงระดับ 4 เมอร์คัลลี่ (อาคารสูงแกว่ง คนที่สัญจรไปมารู้สึกได้) แผ่นดินไหวในครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยมากที่สุด
3. จัดแถลงข่าวเรื่อง “แผ่นดินไหวในพม่า 6.7 ริกเตอร์ รู้สึกได้ถึงประเทศไทย” โดย อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2554 เวลา 11.00 น. เพื่อสร้างความเข้าใจแก่สื่อมวลชนและประชาชนได้ทราบข่าวสารที่ถูกต้อง ว่าแผ่นดินไหวในครั้งนี้ไม่มีผลกระทบโดยตรงกับรอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย
4. แผ่นดินไหวที่มีศูนย์กลางอยู่ในประเทศไทยมีความสัมพันธ์กับรอยเลื่อนมีพลัง จำนวน 13 แนว ขนาดเกิน 5.0 ริกเตอร์ เกิดขึ้นจำนวน 8 ครั้ง โดยมีขนาดสูงสุด 5.9 ริกเตอร์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2526 ที่อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี มีความสัมพันธ์กับรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้รับรู้ได้ในวงกว้าง
5. รอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย จำนวน 13 รอยเลื่อน พาดผ่าน 22 จังหวัด 106 อำเภอ 308 ตำบล 1,406 หมู่บ้าน และได้จัดทำแผนที่บริเวณเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวของประเทศไทย เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดกฎกระทรวงมหาดไทย เรื่องกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2550 ขณะนี้กำลังดำเนินการจัดทำแผนบริเวณเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวรายภาคและรายจังหวัด
6. กลุ่มรอยเลื่อนแม่จัน มีความยาว 150 กิโลเมตร วางตัวในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก พาดผ่านจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 3-4 ริกเตอร์ จำนวน 10 ครั้ง ขนาด 4-4.5 ริกเตอร์ จำนวน 3 ครั้ง
7. ดำเนินการเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนมีพลังของประเทศไทย โดยติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดคลื่นไหวสะเทือนขนาดเล็ก และเครื่องตรวจวัดอัตราเร่งของพื้นดินในจังหวัดเชียงราย
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 มีนาคม 2554--จบ--