คณะรัฐมนตรีรับทราบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยปี 2554 และเห็นชอบร่างกฎหมาย ตามที่ นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอดังนี้
ด้วยได้เกิดอุทกภัย วาตภัยและดินถล่ม ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ก่อให้เกิดความเสียหายและเดือดร้อนรุนแรงแก่เกษตรกร ประชาชนและผู้ประกอบการ อย่างกว้างขวางซึ่งต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว จึงได้กำหนดมาตรการในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยปี 2554 ดังนี้
1. มาตรการด้านการเงิน
ได้กำหนดมาตรด้านการเงินโดยผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐและธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โดยมีหลักการในการให้ความช่วยเหลือเช่นเดียวกับมาตรการ ปี 2553 ดังนี้
1.1 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
ธ.ก.ส. ได้กำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือ ดังนี้
1.1.1 มาตรการให้ความช่วยเหลือ
(1) กรณีลูกค้าเสียชีวิตจากอุทกภัยดังกล่าว จะจำหน่ายลูกหนี้ออกจากบัญชีเป็นหนี้สูญ โดย ธ.ก.ส. รับภาระเอง
(2) กรณีลูกค้าประสบภัยอย่างร้ายแรงและไม่เสียชีวิต
(2.1) หนี้เงินกู้เดิมที่มีอยู่ก่อนประสบภัย
(2.1.1) ขยายเวลาการชำระหนี้เงินกู้เป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปีบัญชี 2554-2556
(2.1.2) งดคิดดอกเบี้ยเงินกู้เป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปีบัญชี 2554-2556 โดย ธ.ก.ส. จะขอชดเชยดอกเบี้ยจากรัฐบาลตามอัตราดอกเบี้ย MRR-1 ซึ่งขณะนี้มีอัตราร้อยละ 5.75 ต่อปี
(2.1.3) หากการให้ความช่วยเหลือข้างต้นยังคงเป็นภาระหนักแก่ลูกค้า ธ.ก.ส. จะพิจารณาให้ความช่วยเหลือด้วยการปรับโครงสร้างหนี้และฟื้นฟูอาชีพให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้
(2.2) การให้เงินกู้ใหม่เพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิต
(2.2.1) กรณีลูกค้าทั่วไป :
1) ให้เงินกู้รายละไม่เกิน 100,000 บาท
2) ลดดอกเบี้ยเงินกู้จากอัตราปกติที่ ธ.ก.ส.เรียกเก็บ จากลูกค้าลง ร้อยละ 3 ต่อปี เป็นเวลาไม่เกิน 3 ปี โดย ธ.ก.ส. จะขอชดเชยดอกเบี้ยจากรัฐบาลในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี
3) กำหนดชำระหนี้เงินกู้ตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า
4) ธ.ก.ส. จะลดหย่อนหลักประกันการกู้เงินจากหลักเกณฑ์ปกติ ดังนี้
4.1) กรณีกู้เงินโดยจำนองอสังหาริมทรัพย์เป็นประกัน ให้ขยายวงเงินกู้จากที่กู้ได้ไม่เกินครึ่งหนึ่งของวงเงินจดทะเบียนจำนอง เป็นให้กู้ได้ไม่เกินวงเงินจดทะเบียนจำนอง
4.2) กรณีกู้เงินโดยใช้กลุ่มลูกค้ารับรองรับผิดชอบอย่างลูกหนี้ร่วมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ให้ขยายวงเงินในการค้ำประกันจากรายละไม่เกิน 150,000 บาท เป็นไม่เกิน 200,000 บาท
(2.2.2) กรณีลูกค้าเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำหรือประมง :
1) ให้เงินกู้แก่ลูกค้าที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เรือประมงขนาดเล็ก รายละไม่เกิน 500,000 บาท และสำหรับเรือประมงขนาดใหญ่ รายละไม่เกิน 1,000,000 บาท
2) คิดดอกเบี้ยเงินกู้จากลูกค้าในอัตรา MRR โดยลดดอกเบี้ยเงินกู้ที่ ธ.ก.ส. เรียกเก็บจากลูกค้าลงร้อยละ 3 ต่อปี เป็นเวลาไม่เกิน 3 ปี และ ธ.ก.ส.จะขอชดเชยดอกเบี้ยจากรัฐบาลในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี
3) กำหนดชำระหนี้เงินกู้ตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า
4) ธ.ก.ส. จะลดหย่อนหลักประกันการกู้เงินจากหลักเกณฑ์ปกติ ดังนี้
4.1) ให้มีอสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาประเมินจำนองเป็นประกันหนี้เงินกู้ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนเงินกู้และต้องมีบุคคลไม่น้อยกว่า 2 คน เป็นผู้ค้ำประกันร่วม
4.2) กรณีกู้เงินโดยใช้กลุ่มลูกค้ารับรองรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ให้ขยายวงเงินในการค้ำประกันจากรายละไม่เกิน 150,000 บาท เป็นไม่เกิน 200,000 บาท
1.1.2 มาตรการให้ความช่วยเหลือด้านสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเสริมสร้างคุณภาพชีวิต โดย ธ.ก.ส. ผ่อนผันเงื่อนไข ดังนี้
(1) อัตราดอกเบี้ย
(1.1) ปีที่ 1-3 คิดดอกเบี้ยอัตรา MRR-2 โดยใน 3 เดือนแรกของปีแรก คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 0
(1.2) ปีที่ 4- 5 คิดดอกเบี้ยอัตรา MRR-1
(1.3) ตั้งแต่ปีที่ 6 ขึ้นไป คิดดอกเบี้ยอัตรา MRR (ปัจจุบัน MRR มีอัตราร้อยละ 6.75 ต่อปี)
(2) ลดหย่อนหลักเกณฑ์การกู้เงินโดยใช้ที่ดินจำนอง หรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจำนองเป็นหลักประกัน ให้ลูกค้ากู้เงินได้ไม่เกินร้อยละ 80 ของราคาประเมินที่ดิน หรือราคาประเมินที่ดินและราคาประเมินสิ่งปลูกสร้างรวมกัน
1.1.3 มาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูจากปัญหาอุทกภัย เพื่อเป็นการช่วยเหลือทางการเงินแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สามารถปรับปรุงพัฒนาและซ่อมแซมแก้ไขความเสียหายที่เกิดขึ้นจากปัญหาอุทกภัย ธ.ก.ส. จึงได้ผ่อนปรนเงื่อนไขการให้สินเชื่อเป็นกรณีพิเศษ โดยคิดดอกเบี้ยที่อัตรา MLR-2.25 (ปัจจุบัน MLR มีอัตราร้อยละ 4.75 ต่อปี)
1.1.4 วงเงินที่จะขอชดเชยดอกเบี้ยจากรัฐบาล เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการแล้ว ธ.ก.ส. จะสำรวจความเสียหายของลูกค้าเป็นรายคนภายหลังจากภัยสงบ และจะได้นำเสนอกระทรวงการคลังเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป
1.2 ธนาคารออมสิน ธนาคารออมสินได้จัดทำมาตรการ เพื่อช่วยเหลือประชาชนและลูกค้าของธนาคารออมสินที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุอุทกภัยและวาตภัย ดังนี้
1.2.1 ลูกค้าสินเชื่อเคหะที่ได้รับผลกระทบที่ส่งผลให้ทรัพย์สิน หรือที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหาย ผ่อนผันการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าสินเชื่อเคหะของธนาคารออมสิน ไม่เกิน 6 เดือน หรือพักชำระหนี้เฉพาะเงินต้นไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับลดเงินงวด รวมถึงขยายระยะเวลาการผ่อนชำระตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด
นอกจากนี้ ลูกค้าเดิมสามารถยื่นกู้เพิ่มเติมกรณีฉุกเฉินในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 10 ของวงเงินกู้เดิม แต่ต้องไม่เกิน 300,000 บาท และไม่เกินร้อยละ 100 ของราคาประเมิน โดยคิดอัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-2 ร้อยละ 3.25 ต่อปี และปีที่ 3-5 คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำประเภทมีระยะเวลา หรือ MLR—1 ต่อปี (ปัจจุบัน MLR อยู่ที่ร้อยละ 6.25 ต่อปี) และชำระเงินกู้ในส่วนที่กู้เพิ่มเติมนี้ไม่เกิน 5 ปี
1.2.2 ผู้ได้รับผลกระทบที่ไม่ใช่ลูกค้าสินเชื่อเคหะ สามารถกู้เพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยได้ในวงเงินไม่เกิน 300,000 บาท ระยะเวลาผ่อนชำระ ไม่เกิน 5 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-2 ร้อยละ 3.25 ต่อปี และปีที่ 3-5 เท่ากับ MLR—1 ต่อปี (ปัจจุบัน MLR อยู่ที่ร้อยละ 6.25 ต่อปี)
1.2.3 ลูกค้าสินเชื่อโครงการธนาคารประชาชน สินเชื่อโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชน (หนี้นอกระบบ) สินเชื่อธุรกิจห้องแถว และสินเชื่อองค์กรชุมชน
(1) ให้พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 6 เดือน พร้อมทั้งปรับลดเงินงวด และ/หรือขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ได้ไม่เกิน 1 ปี
(2) สามารถยื่นกู้เพิ่มเติมในวงเงินไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี หรือ MRR+1 ต่อปี (ปัจจุบัน MRR อยู่ที่ร้อยละ 6.75 ต่อปี) ระยะเวลาชำระเงินกู้ไม่เกิน 5 ปี
(3) สำหรับลูกค้าสินเชื่อธุรกิจห้องแถว สามารถกู้เพิ่มเติมได้ไม่เกินรายละ 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MLR—1.50 ต่อปี ระยะเวลาชำระเงินกู้ไม่เกิน 5 ปี
(4) สำหรับผู้ได้รับผลกระทบที่ไม่ใช่ลูกค้า สามารถยื่นกู้ได้ในวงเงินและเงื่อนไขเดียวกันกับลูกค้าของธนาคารออมสิน
1.2.4 ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจและ SMEs
(1) ให้พักชำระหนี้เงินต้นและผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ยในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน พร้อมทั้งขยายเวลาผ่อนชำระหนี้จากสัญญากู้เดิมได้ไม่เกิน 1 ปี
(2) สามารถยื่นกู้เพิ่มเติมได้ในวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท ระยะเวลาชำระเงินกู้ไม่เกิน 5 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR—1.50 ต่อปี โดยลูกค้ากลุ่มนี้จะต้องไม่เคยเป็นหนี้ค้างชำระกับธนาคารออมสิน
1.3 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)
ธอส. ได้จัดทำโครงการเงินกู้เพื่อลดภาระหนี้ ปลูกสร้าง และซ่อมแซมที่อยู่อาศัยแก่ผู้ประสบภัยปี 2554 ดังนี้
1.3.1 คุณสมบัติผู้กู้ :
- เป็นลูกหนี้เดิมของ ธอส. หรือลูกค้าใหม่ ซึ่งที่อยู่อาศัยอันเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหายจากการ ประสบภัยอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม
- เป็นลูกหนี้เดิมของ ธอส. ที่ประกอบอาชีพในพื้นที่ประสบภัย และได้รับผลกระทบต่อรายได้
- เป็นลูกหนี้เดิมของ ธอส. ซึ่งมีที่อยู่อาศัยหรือประกอบอาชีพในพื้นที่ประสบภัยเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง
1.3.2 วัตถุประสงค์การกู้ :
- เพื่อลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และภาระหนี้ที่ผ่อนชำระกับ ธอส. ตามสัญญาที่ทำไว้ก่อนวันที่กำหนดเริ่มโครงการ
- เพื่อปลูกสร้างอาคารทดแทนอาคารเดิม เป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง
- เพื่อซ่อมแซมอาคารที่เสียหาย ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองหรือคู่สมรส
1.3.3 วงเงินให้กู้ : - กรณีกู้ปลูกสร้างหรือซ่อมแซมอาคาร ให้กู้ไม่เกินร้อยละ 100 ของราคาประเมินค่าก่อสร้างอาคาร/ค่าซ่อมแซมอาคาร
1.3.4 ระยะเวลาการกู้ : - ไม่เกิน 30 ปี และอายุผู้กู้รวมกับจำนวนปีที่ขอกู้ต้องไม่เกิน 75 ปี
1.3.5 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ :
(1) ลูกหนี้เดิมของธนาคาร
(1.1) กรณีหลักประกันได้รับความเสียหาย ให้ลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนที่ 1-4 = 0% ต่อปี โดยมีอัตราดอกเบี้ยให้เลือก 2 แบบ ดังนี้
แบบที่ 1 : ปีที่ 1 เดือนที่ 1-4 = 0% ต่อปี เดือนที่ 5-12 = MRR-2.00% ต่อปี ปีที่ 2 = MRR-2.00% ต่อปี ปีที่ 3 = MRR-1.00% ต่อปี หลังจากนั้นคิดดอกเบี้ยลอยตัวตามประกาศธนาคาร
ทั้งนี้ การผ่อนชำระแบ่งเป็น เดือนที่ 1—4 ปลอดการผ่อนชำระเงินงวด และเดือนที่ 5 เป็นต้นไปผ่อนชำระตามปกติ
แบบที่ 2 : เดือนที่ 1-4 = 0% ต่อปี เดือนที่ 5-16 = 1% ต่อปี หลังจากนั้นคิดดอกเบี้ยลอยตัวตามประกาศธนาคาร
ทั้งนี้ การผ่อนชำระแบ่งเป็น เดือนที่ 1-4 ปลอดการผ่อนชำระเงินงวด เดือนที่ 5-16 ผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ย และหลังจากนั้นผ่อนชำระเงินงวดตามปกติ
(1.2) กรณีได้รับผลกระทบเรื่องรายได้ ลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือ 1% ต่อปี เป็นระยะเวลา 1 ปี หลังจากนั้นคิดดอกเบี้ยลอยตัวตามประกาศธนาคาร
(1.3) กรณีเสียชีวิต/ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือ 0.01% ต่อปี ตลอดระยะเวลาที่เหลืออยู่
(2) กู้เพิ่มหรือกู้ใหม่ปลูกสร้างอาคารทดแทนอาคารเดิม/ซ่อมแซมอาคารที่ได้รับความเสียหาย คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ 5 ปี โดย ปีที่ 1-5 = 2% ต่อปีหลังจากนั้น คิดดอกเบี้ยลอยตัวตามประกาศธนาคาร
1.3.6 หลักประกัน : ที่ดินพร้อมอาคารที่มีเอกสารสิทธิเป็นโฉนด หรือ น.ส.3 ก. และตั้งอยู่ในพื้นที่ประสบภัย
1.3.7 กำหนดระยะเวลายื่นคำขอกู้ : ติดต่อยื่นคำขอกู้เงินได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2554 จนถึง วันที่ 31 พฤษภาคม 2554 และจะต้องทำนิติกรรมให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2554
1.3.8 การให้ความช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ : กรณีอาคารที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลังจนไม่สามารถอยู่อาศัยได้ตามการตรวจสอบของธนาคาร ธนาคารจะพิจารณาปลดภาระเฉพาะภาระหนี้ ตามยอดหนี้คงเหลือในส่วนของอาคาร โดยผู้กู้ผ่อนชำระหนี้ในส่วนของที่ดินที่คงเหลือ (ถ้ามี) ในอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาเดิม
1.3.9 การพิจารณาให้กู้เงินและเงื่อนไขอื่น ๆ :
(1) ยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ทุกวงเงินกู้และค่าธรรมเนียม ค่าเบี้ยปรับ ในรายการที่เกี่ยวข้องทุกกรณี
(2) การพิจารณาให้กู้เงินและเงื่อนไขอื่น ๆ รวมถึงกรณีผิดนัดชำระหนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีปฏิบัติ และระเบียบปฏิบัติงานสินเชื่อของธนาคาร
1.4 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)
ธพว. ได้จัดทำโครงการ สินเชื่อ SME POWER เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัย และวาตภัยในปี 2554 ดังนี้
1.4.1 กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย : ผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากอุทกภัยและวาตภัยในปี 2554
1.4.2 วงเงิน : จำนวน 2,000 ล้านบาท หรือตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
1.4.3 ระยะเวลาโครงการ : สิ้นสุดวันรับคำขอสินเชื่อภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2554
1.4.4 คุณสมบัติผู้กู้ :
(1) ผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เป็นบุคคลธรรมดา (ไม่จำกัดอายุ) หรือนิติบุคคล ที่มีบุคคลสัญชาติไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และ
(2) มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย วาตภัย และโคลนถล่มในปี 2554 ตามประกาศของทางราชการ และได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยฯ
(3) ไม่เป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์ ขายทอดตลาดทรัพย์ ล้มละลาย ยกเว้นคดีลหุโทษ
1.4.5 วัตถุประสงค์การกู้ : เพื่อใช้ปรับปรุง ซ่อมแซม ฟื้นฟูกิจการ และเป็นเงินทุนหมุนเวียน
1.4.6 วงเงินสินเชื่อต่อราย : ตามความจำเป็นของกิจการ แต่ไม่เกิน 1,000,000 บาทต่อราย การพิจารณาเป็นไปตามเกณฑ์ธนาคารกำหนด
1.4.7 ประเภทสินเชื่อและระยะเวลากู้ยืม : เงินกู้ยืมแบบมีระยะเวลา (Term Loan) ระยะเวลาการกู้ยืมไม่เกิน 6 ปี ระยะเวลาชำระเฉพาะดอกเบี้ยโดยไม่ต้องชำระเงินต้น(Grace Period)ไม่เกิน 2 ปี
1.4.8 อัตราดอกเบี้ย : ธนาคารคิดดอกเบี้ยในอัตราคงที่ร้อยละ 6.50 ต่อปี ตลอดอายุสัญญากู้ โดยแยกเป็น
(1) เรียกเก็บดอกเบี้ยจากผู้กู้ในอัตราร้อยละ 4.50 ต่อปี ตลอดอายุสัญญากู้
(2) รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยอีกร้อยละ 2 ต่อปีตลอดอายุสัญญากู้ โดยเรียกเก็บจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กระทรวงอุตสาหกรรม หรือหน่วยงานภาครัฐตามที่มติคณะรัฐมนตรีกำหนด
1.4.9 ค่าธรรมเนียม :
(1) ยกเว้นค่าธรรมเนียมวิเคราะห์โครงการ (ร้อยละ 1 ของวงเงินกู้)
(2) ยกเว้นค่าธรรมเนียมจัดทำสัญญาเงินกู้ (ร้อยละ 0.05 ของวงเงินสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติ)
(3) ยกเว้นค่าธรรมเนียมชำระคืนเงินกู้ก่อนครบกำหนด (Prepayment Fee) (ร้อยละ 2 ของยอดเงินที่ชำระคืนเสร็จสิ้นก่อนกำหนด)
1.4.10 หลักประกัน : ไม่มีหลักประกัน (Clean Loan)
1.4.11 เงื่อนไขอื่น :
(1) กรณีเป็นกิจการที่เกี่ยวข้องกัน หรือ กิจการที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกัน ถ้าเป็นกิจการที่เข้าหลักเกณฑ์ของโครงการ แยกการดำเนินธุรกิจ และ/หรือ สถานประกอบการได้อย่างชัดเจน อนุโลมให้สามารถเข้าโครงการได้ โดยสามารถกู้สูงสุดกิจการละไม่เกินวงเงินสูงสุดตามหลักเกณฑ์ของโครงการได้
(2) ยกเว้นการตรวจสอบประวัติทางการเงิน (Credit Bureau) และการประเมินความเสี่ยงลูกค้าสินเชื่อ (Credit Risk Rate : CRR)
(3) แยกบันทึกบัญชีการดำเนินงานตามโครงการนี้ออกจากการดำเนินงานปกติ (Public Service Account : PSA) ให้ชัดเจน โดยขอรับการชดเชยความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตจากรัฐบาล
1.5 ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.)
ธอท. มีการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประสบภัยภาคใต้ “โครงการสินเชื่อยิ้มสู้ฟื้นฟูอาชีพช่วยเหลือผู้ประสบภัย” เพื่อฟื้นฟูสถานะทางการเงินและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติน้ำท่วม ดังนี้
1.5.1 สำหรับลูกค้าเก่าที่ไม่ขอวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติม
(1) ผ่อนปรนการชำระหนี้ทั้งส่วนเงินต้นและกำไร เป็นระยะเวลา 3 เดือน และ เดือนที่ 4—24 ให้ชำระทั้งส่วนเงินต้นและกำไรโดยคิดอัตรากำไรต่ำกว่าสัญญาเดิม 1% หลังจากนั้นคิดอัตรากำไรตามสัญญาเดิม หรือ
(2) ชำระเฉพาะส่วนกำไร เป็นระยะเวลา 12 เดือน เดืนอที่ 13—24 ให้ชำระทั้งส่วนเงินต้นและกำไร โดยคิดอัตรากำไรต่ำกว่าสัญญาเดิม 1% หลังจากนั้น คิดอัตรากำไรตามสัญญาเดิม
1.5.2 สำหรับลูกค้าเก่าขอเพิ่มวงเงินสินเชื่อหรือลูกค้าใหม่ขอวงเงินสินเชื่อ
(1) ให้วงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมสำหรับก่อมสร้าง ซ่อมแซม/ต่อเติม ที่อยู่อาศัย และ/หรือสถานประกอบธุรกิจ ที่ได้รับความเสียหายตามความจำเป็น ให้สินเชื่อไม่เกิน 100% ของราคาประเมินหลักประกันเดิม/หลักประกันอื่นเพิ่มเติม
(2) ให้วงเงินสินเชื่อเพิ่มเติม สำหรับใช้หมุนเวียนในธุรกิจที่ขาดสภาพคล่องจากการได้รับผลกระทบทางอ้อม ให้สินเชื่อไม่เกิน 100 % ของราคาประเมินหลักประกันเดิม
(3) มาตรการทั้ง 2 ข้อข้างต้น ธนาคารจะพิจารณาจากมูลค่าความเสียหายจริงเป็นหลักโดยไม่ได้กำหนดวงเงิน
1.5.3 เงื่อนไขตามแต่ละประเภทสินเชื่อ สำหรับลูกค้าเก่าขอเพิ่มวงเงินสินเชื่อ หรือลูกค้าใหม่ของวงเงินสินเชื่อ ที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม
(1) วงเงินสินเชื่อ : ธอท. พิจารณาจากมูลค่าความเสียหายจริงเป็นหลัก หรือตามความจำเป็น
(2) ระยะเวลาการผ่อนชำระ :
- ระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 7 ปี สำหรับสินเชื่อธุรกิจ และสินเชื่อเอนกประสงค์
- ระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 30 ปี สำหรับสินเชื่อเพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัย และสถานประกอบการ
(3) หลักประกัน : หลักทรัพย์ หรือบุคคลค้ำประกัน โดยให้วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100% ของราคาประเมินหลักประกัน
(4) อัตรากำไร :
(4.1) สินเชื่อเพื่อก่อสร้าง ซ่อมแซม/ต่อเติม ที่อยู่อาศัย และ/หรือ สถานประกอบธุรกิจ
เดือนที่ 1-3 เริ่มต้นที่ 1.0% สูงสุดไม่เกิน 1.75
เดือนที่ 4-24 เริ่มต้นที่ SPRL—2.50% สูงสุดไม่เกิน SPRL-1.50 %
ปีที่ 3 เป็นต้นไป เริ่มต้นที่ SPRL—1.50% สูงสุดไม่เกิน SPRL-0.50 %
(4.2) สินเชื่อวงเงินทุนระยะยาว
ปีที่ 1 เริ่มต้นที่ SPRL—1.75% สูงสุดไม่เกิน SPRL—0.25%
ปีที่ 2 เริ่มต้นที่ SPRL—1.25% สูงสุดไม่เกิน SPRL
ปีที่ 3 เป็นต้นไป SPRL
(4.3) สินเชื่อวงเงินทุนหมุนเวียน และวงเงินเบิกถอนเงินสด
ปีที่ 1 เริ่มต้นที่ SPRR—1.75% สูงสุดไม่เกิน SPRR—0.25%
ปีถัดไป ให้พิจารณาตามความเหมาะสม
(4.4) สินเชื่อวงเงินเอนกประสงค์
เดือนที่ 1-3 เริ่มต้นที่ 0.75 % สูงสุดไม่เกิน 2.00%
เดือนที่ 4-24 SPRR+6.25%
ปีที่ 3 เป็นต้นไป SPRR+7.25%
ทั้งนี้ อัตรากำไรข้างต้นเป็นไปตามประกาศของธนาคารในโครงการสินเชื่อยิ้มสู้ฟื้นฟูอาชีพช่วยเหลือผู้ประสบภัย (ปัจจุบัน SPRL = 6.75% SPR = 7.0% และ SPRR = 7.25% ตามประกาศ ณ วันที่ 17 มีนาคม 2552)
1.6 ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.)
ธสน. ได้จัดทำมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยและวาตภัย ดังนี้
1.6.1 สินเชื่อหมุนเวียนเพื่อการส่งออก
- กรณี Pre Shipment Financing เป็นการเบิกกู้เพื่อเตรียมการส่งออก คือ การส่งออกยังไม่เกิดขึ้น ผู้ส่งออกอาจไม่สามารถจัดเตรียมเอกสารหลักฐานจากผู้ซื้อมายืนยันระยะเวลาที่จำเป็นต้องขยายหรือความชัดเจนในการส่งออกได้ พิจารณาความช่วยเหลือ ดังนี้
(1) ขยายระยะเวลาการรับชำระหนี้ หรือการต่อตั๋วเกินเทอม โดยพิจารณาขยายระยะเวลาตามผลกระทบที่ได้รับครั้งละไม่เกิน 60 วัน เมื่อนับรวมอายุตั๋วเดิมแล้วไม่เกิน 240 วัน ทั้งนี้ กรณีที่ไม่มีเอกสารทางการค้ามาแสดงประกอบการขอขยายระยะเวลา ลูกค้าจำเป็นต้องมีจดหมายแจ้งความประสงค์และเหตุผลในการขอขยายระยะเวลาประกอบคำขอด้วย
(2) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.5% ต่อปีจากอัตราดอกเบี้ยเดิมที่ได้รับ สำหรับภาระหนี้คงค้างในส่วนของระยะเวลาที่จำเป็นต้องต่อตั๋ว ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลงแล้วต้องไม่ต่ำกว่า Prime — 2.75% ต่อปี
- กรณี Post Shipment Financing เป็นการรับซื้อเอกสารส่งออก โดยผลกระทบที่อาจได้รับเกิดขึ้นได้ทั้งในกรณีที่ส่งสินค้าออกไป โดยผู้ซื้อได้รับสินค้าแล้วแต่ยังไม่สามารถชำระเงินได้ หรือผู้ซื้อยังไม่ได้รับสินค้า ซึ่งจะมีผลให้ระยะเวลาของการรับชำระอาจยาวนานกว่ากรณีที่รับสินค้าแล้ว ให้กำหนดความช่วยเหลือ เป็นกรณีการรับชำระช้า (delayed payment) ระหว่างวันที่ 8 — 60 ให้คิดอัตราดอกเบี้ยเท่ากับอัตราที่รับซื้อลดตั๋ว คือ Prime Rate ต่อปี โดยให้ชำระดอกเบี้ยในส่วนที่เกิดขึ้นนี้ในวันที่ได้รับชำระเงินค่าสินค้า ถ้าการรับชำระล่าช้านานเกิน 60 วันให้พิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อไป
1.6.2 สินเชื่อหมุนเวียนเพื่อการนำเข้า
(1) ขยายระยะเวลาการกู้ Trust Receipt โดยพิจารณาขยายระยะเวลาตามผลกระทบที่ได้รับครั้งละไม่เกิน 60 วัน เมื่อนับรวมอายุ Trust Receipt ทั้งหมดแล้วไม่เกิน 240 วัน
(2) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.5% ต่อปีจากอัตราดอกเบี้ยเดิมที่ได้รับ สำหรับภาระหนี้คงค้างในส่วนของระยะเวลาที่ได้รับการขยาย ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลงแล้วต้องไม่ต่ำกว่า Prime—2.75% ต่อปี
1.6.3 สินเชื่อระยะยาว (กรณีวงเงินที่มีในปัจจุบัน)
(1) พักการชำระหนี้ต้นเงินกู้และดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 2 เดือน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความเสียหายที่ได้รับ
(2) เลื่อนกำหนดการผ่อนชำระหนี้ และ/หรือ ปรับเงื่อนไขในการผ่อนชำระหนี้ในส่วนของ ระยะเวลา และ/หรือ จำนวนเงิน โดยพิจารณาจากความเสียหายที่ได้รับ
(3) ยกเว้นการคิดดอกเบี้ยในอัตราผิดนัดชำระ โดยให้คิดดอกเบี้ยในอัตราปกติที่ได้รับ สำหรับการปรับเปลี่ยนรายละเอียดการผ่อนชำระหนี้ตามแนวทางการช่วยเหลือข้างต้น
1.6.4 สินเชื่อระยะยาว (กรณีของเงินกู้เพิ่มเติมเพื่อซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้น)
(1) อัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำ ปีที่ 1 และ 2 = Prime— 1.75% ต่อปี
ปีที่ 3 เป็นต้นไป = Prime Rate ต่อปี (ปัจจุบันอัตรา Prime Rate = 6.25% ต่อปี)
(2) ระยะเวลาการชำระคืน เงื่อนไขการผ่อนชำระ และเงื่อนไขอื่น ๆ พิจารณาผ่อนปรนตามผลกระทบที่ผู้ประกอบการได้รับจากสถานการณ์
1.7 บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
บสย. ได้กำหนดมาตรการช่วยเหลือลูกค้าและ SMEs ที่ได้รับความเสียหายจากสถานการณ์อุทกภัยภาคใต้ ดังนี้
1.7.1 มาตรการพักการชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกัน เป็นระยะเวลา 6 เดือน สำหรับลูกค้า บสย. ที่ได้รับความเสียหายจากสถานการณ์อุทกภัยภาคใต้ ปี 2554 และถึงกำหนดชำระค่าธรรมเนียมต่ออายุการค้ำประกันตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2554 ถึง 31 มีนาคม 2555
- ลักษณะของลูกค้าที่อยู่ในข่ายให้การช่วยเหลือ มีดังนี้
(1) เป็นลูกค้า บสย. ที่มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดที่ประสบอุทกภัยฯ โดยเป็นจังหวัดที่มีชื่ออยู่ในประกาศสถานการณ์อุทกภัยภาคใต้ ปี 2554 ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย
(2) กิจการของลูกค้าได้รับผลกระทบโดยตรงจากอุทกภัย ทำให้กิจการได้รับความเสียหายจนไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ หรือดำเนินงานได้เพียงบางส่วน โดยพิจารณาความเสียหายที่แท้จริง
- ขั้นตอนและวิธีปฏิบัติในการขอรับความช่วยเหลือ
(1) สถาบันการเงิน จะต้องดำเนินการตรวจสอบความเสียหายของลูกค้าที่ บสย. ให้การค้ำประกัน และรับรองความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยจัดทำรายงานการตรวจสอบความเสียหายตามแบบฟอร์มที่ บสย. กำหนด
(2) ถ่ายภาพกิจการที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย และจัดส่งให้แก่ บสย.
1.7.2 มาตรการให้ความร่วมมือกับสถาบันการเงินที่ลูกค้าได้รับการค้ำประกันสินเชื่อจาก บสย. ในการผ่อนปรนเรื่องการพักชำระหนี้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยรวมทั้งการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้กิจการสามารถดำเนินต่อไปตามปกติ
วิธีปฏิบัติ คือ ให้สถาบันการเงินมีหนังสือแจ้งการพักชำระหนี้หรือการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อขอความเห็นชอบจาก บสย. ตามวิธีปฏิบัติปกติสำหรับโครงการค้ำประกันสินเชื่อที่มิใช่การค้ำประกันในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme โดยสถาบันการเงินต้องจัดส่งเอกสารสำเนารายงานการพิจารณาของสถาบันการเงินให้แก่ บสย. ด้วย
1.8 บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.)
บตท. ได้กำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือ ดังนี้
พิจารณาพักชำระหนี้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับลดเงินงวด หรือขยายระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ออกไปรวมไม่เกิน 30 ปี และในกรณีที่ลูกค้ามีความประสงค์จะขอกู้เพิ่มเพื่อนำไปซ่อมแซมบ้านที่ได้รับความเสียหาย บตท. จะเป็นผู้ประสานงานกับสถาบันการเงินเพื่อให้กู้เพิ่มต่อไป โดยมาตรการดังกล่าวเป็นการให้ความช่วยเหลือลูกค้าของ บตท. ที่ได้รับความเสียหายจริงจากสถานการณ์อุทกภัยและได้มีการติดต่อเพื่อขอความช่วยเหลือ ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ประสบภัยรวม 8 จังหวัด หรือพื้นที่อื่นเพิ่มเติม (โดยอ้างอิงข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธาณภัย กระทรวงมหาดไทย และข้อมูลจากลูกค้าที่แจ้งมา)
1.9 ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ. กรุงไทย)
บมจ. กรุงไทย มีมาตรการให้ความช่วยเหลือ ดังนี้
1.9.1 เงินกู้กรุงไทยสู้อุทกภัย ให้วงเงินกู้ประจำ (T/L)
- วงเงินสูงสุด : ตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง
- อัตราดอกเบี้ย : ปีที่ 1 ร้อยละ MLR-1 (MLR ปัจจุบันเท่ากับร้อยละ 6.625 ต่อปี) ปีที่ 2 เป็นต้นไป ร้อยละ MLR ต่อปี ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 5 ปี หลักประกันใช้หลักประกันเดิม
1.9.2 เงินทุนหมุนเวียนกรุงไทยสู้อุทกภัย สำหรับเสริมสภาพคล่องให้ลูกค้าที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติม ธนาคารจะพิจารณาให้ตามความเหมาะสม
1.9.3 โครงการกรุงไทยสู้อุทกภัย สำหรับลูกค้าที่ได้รับความเสียหายแต่ไม่ประสงค์กู้เพิ่ม โดยให้ปลอดชำระเงินต้น (Grace Period) ไม่เกิน 6 เดือน ชำระดอกเบี้ยตามเงื่อนไข
1.9.4 สินเชื่อที่อยู่อาศัยกรุงไทยสู้อุทกภัยภาคใต้
(1) ผ่อนปรนเงือนไขการชำระหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัย สำหรับลูกค้าที่ได้รับความเสียหาย โดยให้ปลอดชำระเงินต้น (Grace Period) ไม่เกิน 6 เดือน ชำระดอกเบี้ยตามเงื่อนไข
(2) สำหรับลูกค้าที่มีการผ่อนชำระสินเชื่อที่อยู่อาศัยกับธนาคารอยู่แล้ว และได้รับความเสียหายจากสถานการณ์อุทกภัย ธนาคารจะมอบวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมเต็มตามจำนวนเงินที่ได้ผ่อนชำระกับธนาคาร เพื่อใช้ในการปรับปรุง ซ่อมแซมที่อยู่อาศัย จัดหาเครื่องใช้ อุปกรณ์จำเป็นในการดำรงชีวิต หรือ เป็นค่าใช้จ่ายอเนกประสงค์
- อัตราดอกเบี้ย : ปีที่ 1 ร้อยละ MRR-1.75 (MRR ปัจจุบันเท่ากับร้อยละ 7.350 ต่อปี) ปีที่ 2 เป็นต้นไป ร้อยละ MRR-0.5 ต่อปี
- ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด : 60 งวด
1.9.5 ธนาคารยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม
ธนาคารได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยอุทกภัยทุกบัญชีแล้ว โดยมีผลตั้งแต่เดือนมีนาคม 2554 ไปจนกว่าสถานการณ์อุทกภัยจะคลี่คลาย หรือ ธนาคารจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงต่อไป ดังนี้
- บัญชีที่มีวัตถุประสงค์เพื่อรับบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมทุกบัญชี
- บัญชีลูกค้าที่ประสงค์จะโอนเงินเพื่อช่วยเหลือญาติพี่น้องที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ ตามประกาศของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย
1.9.6 กรุงไทยจับคู่ธุรกิจสู้อุทกภัย โดยจัด Business Matching ระหว่างผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหาย กับ ผู้ประกอบการที่จำหน่ายวัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรอุปกรณ์ และผู้รับเหมา เพื่อให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายสามารถปรับปรุงซ่อมแซมกิจการ หรือทดแทนและซ่อมบำรุงเครื่องจักร อุปกรณ์ ในสถานประกอบการที่ได้รับความเสียหายในราคาพิเศษ
1.9.7 โครงการสินเชื่อเพื่อการพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด : 60 งวด
- อัตราดอกเบี้ย : 6 เดือนแรกอัตราคงที่ร้อยละ 3 หลังจากนั้น เรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราเงินฝากประจำ 6 เดือนบุคคลธรรมดา + ร้อยละ 1.25 ต่อปี ปลอดเงินต้น 6 เดือน
ทั้งนี้ ผู้ประสงค์ขอรับความช่วยเหลือ แจ้งความประสงค์กันธนาคารได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2554 ยกเว้นมาตรการที่ 1.9.7 ให้ยื่นกู้ได้จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2554
ความช่วยเหลือของกรมบัญชีกลาง
ตามที่ได้เกิดฝนตกหนักอันเนื่องมาจากความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนได้แผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ส่งผลให้เกิดอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ก่อความเสียหายอย่างรุนแรงและเป็นวงกว้างแก่ราษฎร ซึ่งจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ดังนั้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยและเพื่อให้จังหวัดสามารถปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ กรมบัญชีกลางจึงได้ขยายวงเงินทดรองราชการในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี ชุมพร ตรัง กระบี่ สงขลา และพังงา จังหวัดละ 50 ล้านบาท เป็นจังหวัดละ 100 ล้านบาท
มาตรการด้านภาษี
เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ (อุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย หรือภัยธรรมชาติอื่น) ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2554 เป็นต้นไป และเพื่อให้ผู้บริจาคได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีกรณีบริจาคเงินและสิ่งของโดยมีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นเป็นตัวแทนรับบริจาคเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติดังกล่าวกระทรวงการคลังจึงขอเสนอให้มีการดำเนินการ ดังนี้
1. ให้มีการยกเว้นภาษีประเภทต่างๆ โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
1.1 ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากรัฐบาลเพื่อชดเชยความเสียหาย หรือที่ได้รับจากการบริจาคหรือช่วยเหลือเพื่อชดเชยความเสียหายในกรณีอื่นที่ไม่เกินกว่ามูลค่าความเสียหายที่ได้รับ
1.2 ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับจากบริษัทที่ประกอบธุรกิจประกันภัย เพื่อชดเชยความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ เฉพาะส่วนที่เกินมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินที่เหลือจากการหักค่าสึกหรือและค่าเสื่อมราคา ตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร
1.3 ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเท่าจำนวนเงินที่ได้บริจาคให้แก่ผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยมีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น เป็นตัวแทนรับเงินบริจาคเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยดังกล่าวแต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคอื่นแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
1.4 ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้เป็นจำนวนเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคให้แก่ผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยมีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นเป็นตัวแทนรับเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยดังกล่าว แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ
1.5 ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการที่นำสินค้าไปบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยมีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น เป็นตัวแทนรับสินค้าที่บริจาคเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยนั้น
1.6 ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (5) (6) (7) หรือ (8) แห่งประมวลรัษฎากร ของผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งได้มีการลงทะเบียนไว้กับศูนย์หรือหน่วยงานให้ความช่วยเหลือของทางราชการ เท่าจำนวนความเสียหาย โดยให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
2. ให้มีการขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีหรือนำส่งภาษี ดังต่อไปนี้
2.1 ให้มีการขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2553 ที่จะต้องยื่นรายการภายในวันที่ 31 มีนาคม 2554 ออกไปเป็นวันที่ 31 พฤษภาคม 2554 ทั้งนี้ เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมินจากการทำงานหรือการประกอบกิจการในท้องที่ที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในขณะนี้
2.2 ให้มีการขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีหรือนำส่งภาษีให้แก่ผู้ประกอบการที่อยู่ในท้องที่ที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในขณะนี้ สำหรับการยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ (แต่ไม่รวมถึงกรณีการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร) และอากรแสตมป์ ที่จะต้องยื่นรายการและชำระภาษีในเดือนมีนาคมและเดือนเมษายน 2554 ออกไปเป็นภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2554
3. เนื่องจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นที่เป็นตัวแทนรับบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2553 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2553 แจ้งว่ายังมียอดเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในครั้งดังกล่าวคงเหลือในบัญชีเดิมที่เปิดรับบริจาคในครั้งนั้น ซึ่งตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 513) พ.ศ. 2553 กำหนดให้นำเงินบริจาคไปช่วยเหลือเฉพาะผู้ที่ประสบอุทกภัยในครั้งดังกล่าว และให้ส่งมอบเงินที่เหลือให้แก่ส่วนราชการ หรือองค์การหรือสถานสาธารณกุศลตามมาตรา 47 (7) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2554 ดังนั้น เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ กระทรวงการคลังจึงเห็นควรเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายฉบับเดิม (พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 513) พ.ศ. 2553) โดยให้ขยายเวลาและขอบเขตของการบริจาคเงินให้ครอบคลุมถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ในปี 2554 ด้วย
ทั้งนี้ การดำเนินการตาม 1. และ 3. สามารถดำเนินการได้โดยการตราพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... จำนวน 2 ฉบับ และออกกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร จำนวน 1 ฉบับ สำหรับการดำเนินการตาม 2. สามารถดำเนินการโดยการอนุมัติของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และกรมสรรพากรจะมีการประกาศกำหนดเขตพื้นที่ที่ได้รับสิทธิการขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีหรือนำส่งภาษี ตลอดจนหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในกรณีนี้ต่อไป
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 4 เมษายน 2554--จบ--