คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอ รายงานการดำเนินงานและ กิจกรรมความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและสำนักงานเลขาธิการองค์การความร่วมมือด้านอวกาศแห่งเอเชียแปซิฟิก รวมทั้ง ผลการประชุมคณะมนตรีขององค์การ APSCO ครั้งที่ 4 ซึ่งทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์ ดังนี้
1. ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้ริเริ่มในการก่อตั้งองค์การความร่วมมือด้านอวกาศแห่งเอเชียแปซิฟิกร่วมกับ 8 ประเทศได้แก่ จีน บังคลาเทศ อิหร่าน อินโดนีเซีย มองโกเลีย ปากีสถาน เปรู และ ตุรกี ซึ่งทำให้ประเทศไทยได้รับความร่วมมือทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีอวกาศ ด้านการวิจัยและพัฒนา การฝึกอบรม ตลอดจนการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างใกล้ชิด
2. การจัดตั้งองค์การ APSCO ก่อให้เกิดประโยชน์ที่สำคัญคือ เป็นการกระตุ้นและขยายกิจกรรมด้านอวกาศที่มีประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจทั้งในระดับชาติและระดับพหุภาคี กล่าวคือ การประสานงานเพื่อเพิ่มความสามารถของประเทศ รวมทั้งการเสริมสร้างศักยภาพและยกระดับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอวกาศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่างยั่งยืน
3. การเข้าร่วมเป็นภาคี APSCO ถือเป็นการสร้างสัมพันธภาพกับประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะกับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และอีกหลายประเทศในภูมิภาค ซึ่งจะทำให้มีการขยายความร่วมมือเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีกับอีกหลายประเทศในภูมิภาคได้ในอนาคต
4. ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมครั้งนี้ในหลายด้าน อาทิ การพัฒนาด้านการสื่อสาร ด้านการสำรวจและป้องกันภัยพิบัติ ด้านอุตุนิยมวิทยา รวมทั้ง ด้านการเมือง เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี จากการศึกษา วิจัย ค้นคว้าร่วมกันภายใต้ความร่วมมือในสาขาแห่งกิจกรรมที่จะกำหนดไว้ในอนุสัญญาฯ
5. ประเทศไทยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศที่มีความก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยีอวกาศ หากสามารถเข้าร่วมโครงการพัฒนาและการผลิตร่วมกับประเทศสมาชิก อีกทั้งทำให้เกิดการเตรียมความพร้อมในด้านทรัพยากรบุคคล และการพัฒนาสถาบันทางวิชาการด้านอวกาศ เพื่อรองรับการพัฒนาอาชีพของคนไทยในอนาคต
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 4 เมษายน 2554--จบ--