คณะรัฐมนตรีรับทราบการปรับราคาจำหน่ายสินค้านมสดพร้อมดื่มและน้ำมันพืชถั่วเหลือง ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอดังนี้
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า ได้กำกับดูแลราคาสินค้าและติดตามสถานการณ์ปัจจัยการผลิตที่สำคัญอย่างใกล้ชิด เช่น วัตถุดิบ ค่าพลังงาน ค่าแรงงาน ค่าเงินบาท เป็นต้น และได้ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการตรึงราคาจำหน่ายสินค้าอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ ๆ ตั้งแต่ปลายปี 2552 ซึ่งได้สิ้นสุดระยะเวลา ขอความร่วมมือแล้วเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2554 และในขณะนี้ราคาวัตถุดิบทั้งที่ต้องนำเข้าและวัตถุดิบในประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น ผู้ประกอบการจึงขอปรับราคาสินค้า เนื่องจากได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่ปรับสูงขึ้น โดยคณะอนุกรรมการพิจารณาราคาสินค้า ได้มีการพิจารณาให้ปรับราคาสินค้าตามภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นบางส่วน และให้ผู้ประกอบการรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปบางส่วน เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชน ทั้งนี้ได้พิจารณาให้ปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นไปแล้ว จำนวน 2 สินค้า คือ
1. นมสดพร้อมดื่ม
1.1 ข้อเท็จจริง
1.1.1 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2553 เห็นชอบให้ปรับราคาน้ำนมดิบสูงขึ้น กก.ละ 0.50 บาท จาก กก.ละ 16.50 บาท เป็นกก.ละ 17.00 บาท ซึ่งผู้ประกอบการผลิตสินค้านมสดพร้อมดื่ม (นมสดยู.เอช.ที พาสเจอร์ไรส์ และสเตอริไลส์) ได้แจ้งขอปรับราคาจำหน่ายสูงขึ้นตามต้นทุนน้ำนมดิบที่ปรับสูงขึ้น แต่กระทรวงพาณิชย์ได้ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการตรึงราคาจำหน่ายจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2554 เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนจากภาระค่าครองชีพของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น
1.1.2 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2554 เห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอให้ปรับราคาน้ำนมดิบสูงขึ้นอีกครั้งจาก กก.ละ 17.00 บาท เป็น 18.00 บาท สูงขึ้น กก.ละ 1.00 บาท ทั้งนี้ ให้มีผลนับแต่วันที่กระทรวงพาณิชย์อนุญาตให้ผู้ประกอบการนมพาณิชย์ปรับราคาขายผลิตภัณฑ์นมในตลาดนมพาณิชย์
1.2 การพิจารณาปรับราคานมสดพร้อมดื่ม
1.2.1 การขอปรับราคา ผู้ประกอบการนมสดพร้อมดื่ม (นมพาณิชย์) จำนวน 12 ราย ขอปรับราคาจำหน่ายนมพร้อมดื่ม ตั้งแต่ขนาด 110-5,000 ซีซี สูงขึ้น 0.25-24.25 บาท หรือร้อยละ 2.00-55.56 โดยเป็นการขอปรับจากผลกระทบน้ำนมดิบและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่สูงขึ้น
1.2.2 ผลการพิจารณาปรับราคา คณะอนุกรรมการพิจารณาราคาสินค้าผลิตภัณฑ์นม ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2554 มีมติให้ปรับราคานมสดพร้อมดื่มตามภาระต้นทุนน้ำนมดิบที่สูงขึ้น สำหรับต้นทุนอื่น ๆ ให้ผู้ประกอบการรับภาระไปก่อน เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระ ค่าครองชีพของผู้บริโภค โดยอนุมัติให้ปรับราคาจำหน่ายนมสดพร้อมดื่มสูงขึ้น ในขนาดบรรจุต่าง ๆ กล่อง/ขวด/แกลลอน ละ 0.25 — 8.50 บาท ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2554 เป็นต้นไป
2. น้ำมันพืชถั่วเหลือง
2.1 ข้อเท็จจริง ราคาวัตถุดิบในการผลิตน้ำมันพืชถั่วเหลือง ได้แก่ เมล็ดถั่วเหลือง ซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ราคาได้ปรับสูงขึ้น ตั้งแต่เดือนกันยายน 2553 ที่ราคา 388.45 USD/ตัน (ราคาชิคาโก) และปรับสูงขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 552.07 USD/ตัน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 หรือคิดเป็น 17.31 บาท/กก. ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับราคาเมล็ดถั่วเหลือง ที่ใช้คำนวณ ณ ราคาน้ำมันพืชถั่วเหลือง ขวดลิตรละ 46.00 บาท ราคาอยู่ที่ 413.88 USD/ตัน หรือ 14.86 บาท/กก.
2.2 การพิจารณาการปรับราคาน้ำมันพืชถั่วเหลือง
2.2.1 การขอปรับราคา ผู้ประกอบการ จำนวน 4 ราย ขอปรับราคาสูงขึ้นจากขวดละ 47.00 บาท เป็นขวดละ 63.00 - 102.00 บาท หรือร้อยละ 36.96 - 121.74 ตามราคาเมล็ดถั่วเหลือง และต้นทุนอื่น ๆ ที่สูงขึ้น
2.2.2 ผลการพิจารณาปรับราคา คณะอนุกรรมการพิจารณาน้ำมันพืชบริโภค มีมติให้ปรับราคาจำหน่ายปลีกน้ำมันพืชถั่วเหลืองจากขวดลิตรละ 46.00 บาท เป็น 55.00 บาท โดยให้ผู้ประกอบการรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นบางส่วน (ราคาที่ควรจะเป็นได้วิเคราะห์ตามต้นทุนวัตถุดิบ คือ เมล็ดถั่วเหลืองที่สูงขึ้นจริง มีผลทำให้ราคาที่แท้จริงควรจะอยู่ที่ขวดลิตรละ 59.00 บาท) โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2554 เป็นต้นไป จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2554 เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งเท่ากับระยะเวลาที่กำหนดราคาจำหน่ายน้ำมันพืชปาล์ม ตามมติคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ทั้งนี้ กรมการค้าภายใน จะติดตามสถานการณ์ของราคาวัตถุดิบทั้งเมล็ดถั่วเหลือง และ น้ำมันปาล์มดิบ อย่างใกล้ชิด และจะพิจารณาทบทวนราคาจำหน่ายต่อไป พร้อมนี้ได้กำชับให้ผู้ประกอบการเร่งผลิตและกระจายสินค้าออกสู่ตลาดโดยเร็ว ในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค ภายในระยะเวลา 1 สัปดาห์ เพื่อให้มีปริมาณน้ำมันพืชถั่วเหลืองเข้าสู่ตลาดอย่างเต็มที่และทั่วถึง
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 เมษายน 2554--จบ--