แผนหลักการพัฒนาระบบขนส่งและจราจร พ.ศ. 2554—2563

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 18, 2011 11:55 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบเกี่ยวกับแผนหลักการพัฒนาระบบขนส่งและจราจร พ.ศ. 2554—2563 และให้แจ้งเวียนให้กระทรวงและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้ใช้เป็นแนวทางและเครื่องมือสำหรับประสานการดำเนินงานร่วมกันอย่างมีบูรณาการสอดคล้องตามบทบาทภารกิจหน้าที่ในขั้นตอนต่อไป ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงคมนาคม (คค.) รายงานว่า คค. ได้จัดทำแผนหลักการพัฒนาระบบขนส่งและจราจร พ.ศ. 2554-2563 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการชี้นำการพัฒนาและเป็นกรอบการดำเนินงานให้กับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ตลอดจนภาคีภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างมีบูรณาการ และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยแผนดังกล่าวมีสาระสำคัญ ดังนี้

1. วิสัยทัศน์ “มุ่งสู่การขนส่งที่ยั่งยืน (Towards Sustainable Transport)”

พันธกิจ “พัฒนาระบบ กลไก และบุคลากร รวมทั้งวางแนวนโยบาย ขับเคลื่อนการพัฒนา กำกับดูแลและบูรณาการการขนส่งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ให้มีบริการที่เพียงพอ มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ทั่วถึง คุ้มค่า และเป็นธรรม”

2. เป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ (Goals) และแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญ

2.1 เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อการเดินทาง และการขนส่ง (Hub for Connectivity) โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของประตูการขนส่ง (Hub) ที่มีศักยภาพ และการปรับปรุงโครงข่ายเชื่อมโยง (Spoke) รวมถึงกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการเดินทางและการขนส่ง ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ คาดว่าปริมาณการเดินทางของคนและการขนส่งสินค้าผ่านประเทศไทยจะเพิ่มมากขึ้น ส่งผลทำให้การค้าระหว่างประเทศของไทยขยายตัว มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้น และในท้ายที่สุดประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคตระหนักรู้ถึงบทบาททางเศรษฐกิจและการเป็นศูนย์กลางการขนส่งและโลจิสติกส์ของไทย

2.2 เพื่อให้มีระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพและระดับการให้บริการที่ดีเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจและชุมชน (Accessibility) โดยการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพระบบการขนส่งเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การกำหนดรูปแบบและแนวเส้นทางขนส่งหลักระหว่างพื้นที่เศรษฐกิจภายในประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพเชิงพื้นที่และชุมชน ซึ่งผลลัพธ์การขนส่งบนเส้นทางหลักเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจจะได้รับความสะดวก รวดเร็ว มีความน่าเชื่อถือ และต้นทุนการขนส่งลดลง ส่งผลทำให้มีโอกาสทางธุรกิจเพิ่มขึ้นและเศรษฐกิจในระดับพื้นที่สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืน

2.3 เพื่อพัฒนาปรับปรุงการเดินทางและการขนส่งให้มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ โดยการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน มาตรฐานยานพาหนะ และสภาพแวดล้อมให้มีคุณภาพและความปลอดภัยในการเดินทางและการขนส่งโดยเฉพาะที่สำคัญ คือ ต้องให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ จิตสำนึก และทักษะเรื่องความปลอดภัยด้านการขนส่ง ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คาดว่า จำนวนอุบัติเหตุจากการขนส่งจะลดลง จำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บและผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุการขนส่งจะลดลงเช่นเดียวกัน ส่งผลทำให้ความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมลดลง ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องโดยรวมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เนื่องจากการเดินทางและการขนส่งมีความปลอดภัย

2.4 เพื่อส่งเสริมการขนส่งที่ประหยัดพลังงาน (Energy Saving) และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Friendly) โดยการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปรับเปลี่ยนมาใช้รูปแบบการขนส่งทางรางและทางน้ำ ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อให้มีการใช้พลังงานและยานพาหนะที่สะอาด ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คาดว่าจะช่วยให้ปริมาณการใช้พลังงานในภาคการขนส่งและมลภาวะที่เกิดจากภาคการขนส่งลดลง โดยเฉพาะคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ส่งผลทำให้ลดผลกระทบที่มีต่อภาวะโลกร้อน ลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากการประหยัดต้นทุนด้านพลังงานและค่าชดเชยจากการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

2.5 เพื่อยกระดับการเข้าถึงและเพิ่มการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ (Public Transport) อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน โดยการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะที่เชื่อถือได้ เข้าถึงสะดวก และมีค่าโดยสารที่เหมาะสม การปรับปรุงระบบการขนส่งเชื่อมโยงกับการขนส่งสาธารณะ และการส่งเสริมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อทดแทนการใช้ยานพาหนะส่วนบุคคลในการเดินทาง ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คาดว่าจำนวนผู้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น สัดส่วนค่าใช้จ่ายในการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะต่อรายได้จะลดลง ส่งผลทำให้การเดินทางสะดวกและง่ายขึ้น ชุมชนก็มีความน่าอยู่มากขึ้น

2.6 เพื่อเพิ่มความคล่องตัว (Mobility) ในการเดินทางและการขนส่ง โดยการปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อลดปัญหาคอขวด เชื่อมต่อโครงข่ายการเดินทาง และการบริหารจัดการจราจร รวมทั้งสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงและลดเวลาในการเดินทาง ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ คาดว่าเวลาที่ใช้ในการเดินทางและการขนส่งจะลดลง ความแน่นอนและความตรงต่อเวลาในการเดินทางและขนส่งสินค้าจะเพิ่มขึ้น ส่งผลทำให้สภาพการจราจรคล่องตัวมากยิ่งขึ้น และลดความสูญเสียจากการจราจรติดขัด

3. ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการพัฒนาตามแผนหลักฯ ในช่วง 10 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2563)

1) สัดส่วนการขนส่งสินค้าทางราง ปัจจุบันร้อยละ 2.2 จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5.0 และสัดส่วนการขนส่ง สินค้าทางน้ำ ปัจจุบันสัดส่วนร้อยละ 14.0 จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 18.0 (ทางลำน้ำจากร้อยละ 8.2 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 10.5 และทางชายฝั่งจากร้อยละ 5.8 เพิ่มขึ้นเป็น 7.5)

2) ความเร็วเฉลี่ย ขบวนรถไฟโดยสารปัจจุบัน 47 กม./ชม. จะเพิ่มขึ้นเป็น 90 กม./ชม. และความเร็วเฉลี่ยขบวนรถไฟสินค้า ปัจจุบัน 35 กม./ชม. จะเพิ่มเป็น 65 กม./ชม.

3) สนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถลดอัตราการเสียชีวิตของประชากรจากอุบัติเหตุทางถนน ปัจจุบัน มีสัดส่วน 18.23 คนต่อประชากรแสนคน ลดลงเหลือ 8.3 คนต่อประชากรแสนคน

4) เพิ่มสัดส่วนการใช้บริการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน จากปัจจุบัน 0.6 ล้านคน-เที่ยวต่อวัน เป็น 4.5 ล้านคน-เที่ยวต่อวัน

5) เพิ่มสัดส่วนการใช้บริการขนส่งสาธารณะระหว่างเมือง จากปัจจุบันร้อยละ 41 และการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล ร้อยละ 59 เป็นการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะระหว่างเมืองร้อยละ 46 และเป็นการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล ร้อยละ 54

6) เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณการขนส่งตู้สินค้า จากปัจจุบัน 10.8 ล้านTEUs เป็นไม่น้อยกว่า 20 ล้านTEUs

7) เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานนานาชาติหลักของประเทศ ได้ไม่น้อยกว่า 60 ล้านคนต่อปี

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 เมษายน 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ