ความคืบหน้าการดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยและดินถล่มในภาคใต้

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 21, 2011 16:14 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ความคืบหน้าการดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยและดินถล่มในภาคใต้ของคณะกรรมการอำนวยการ

กำกับ ติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการอำนวยการ กำกับ ติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยเสนอ ดังนี้

1. แนวทางการแก้ไขปัญหากรณีที่ดินเดิมของผู้ประสบภัยเป็นพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ หรืออยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ หรือพื้นที่สาธารณะอื่นๆ โดยการขอผ่อนผันจากหน่วยงานเจ้าของที่ดินให้ผู้ประสบภัยได้อาศัยอยู่ในที่ดินเดิม หรือจัดหาที่ดินแปลงใหม่ในพื้นที่ดังกล่าวให้กับผู้ประสบภัยที่บ้านเรือนเสียหายทั้งหลังได้อาศัยอยู่ต่อไป รวมทั้งกรณีของผู้ประสบภัยคลื่นกัดเซาะชายฝั่งที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ด้วย

2. ผลความคืบหน้าการดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยและ ดินถล่มในภาคใต้ของคณะกรรมการอำนวยการ กำกับ ติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

สาระสำคัญของเรื่อง

คณะกรรมการอำนวยการ กำกับ ติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (คชอ.) ได้มีการประชุมครั้งที่ 7/2554 เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2554 โดยที่ประชุมได้มีการพิจารณาการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยพิบัติจากสถานการณ์อุทกภัยและดินถล่มในภาคใต้ ในประเด็นสำคัญ โดยสรุปได้ดังนี้

1. ความคืบหน้าการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยและดินถล่มในภาคใต้ ครัวเรือนละ 5,000 บาท

ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติการจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้ประสบอุทกภัยและดินถล่มในภาคใต้ ครัวเรือนละ 5,000 บาท คชอ. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบพื้นที่ประสบอุทกภัยในภาคใต้ขึ้น จำนวน 6 คณะ โดยมีผู้ตรวจสำนักนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธานอนุกรรมการ มีผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นอนุกรรมการ เพื่อทำหน้าที่ในการติดตาม ตรวจสอบความเสียหายจากสถานการณ์อุทกภัย และดำเนินการเร่งรัดการจ่ายเงินช่วยเหลือครัวเรือนละ 5,000 บาท ให้เป็นไปอย่างทั่วถึง รวดเร็ว และเป็นธรรม

โดย คชอ. ได้จัดให้มีการประชุมเพื่อชี้แจงหลักเกณฑ์และแนวทางดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับทุกจังหวัดที่ประสบภัยผ่านระบบประชุมทางไกลเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2554 และคณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 6 คณะ ได้ลงพื้นที่ชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 5,000 บาท ให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ให้ได้รับทราบอย่างครบถ้วน ชัดเจน ตลอดจนวิธีการกรอกข้อมูลผู้ประสบภัยที่ถูกต้อง โดยมีกรอบแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญ คือ ให้อำเภอจัดให้มีคณะทำงาน ซึ่งประกอบด้วย ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ออกสำรวจข้อมูลรายละเอียดของผู้ประสบภัยที่มีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือโดยเร็ว โดยไม่ต้องรอให้ผู้ประสบภัยมายื่นขอรับความช่วยเหลือ เว้นแต่ในพื้นที่ใดที่ยังไม่สามารถดำเนินการ เช่น พื้นที่ยังคงมีน้ำท่วมขัง เป็นต้น และหากตำบลใดจัดทำข้อมูลได้ครบถ้วนแล้ว ให้อำเภอ/จังหวัด ตรวจสอบและรับรองข้อมูลส่งให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยก่อน ส่วนการตรวจสอบข้อมูลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะใช้การสอบทานกับภาพถ่ายทางอากาศของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ กรณีไม่มีภาพถ่ายทางอากาศขณะเกิดภัยใช้การสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้จัดทำคู่มือการจ่ายเงินช่วยเหลือแจกจ่ายให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบโดยละเอียดแล้ว

จากข้อมูล ณ วันที่ 19 เมษายน 2554 มีข้อมูลจำนวนครัวเรือนที่จังหวัดต่างๆ ได้ส่งให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และผ่านการตรวจสอบความถูกต้องแล้ว จำนวนประมาณ 50,000 ครัวเรือน คาดว่าจะเริ่มจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยได้ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 22 เมษายน 2554 เป็นต้นไป

2. ความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่ที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลังจาก เหตุอุทกภัย ดินโคลนถล่ม วาตภัย และคลื่นเซาะชายฝั่งในพื้นที่ภาคใต้

คชอ. พิจารณาเห็นว่า เนื่องจากสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในภาคใต้ครั้งนี้ เป็นสถานการณ์อุทกภัยที่รุนแรงฉับพลัน เกิดภาวะดินโคลนถล่ม วาตภัย รวมทั้งคลื่นเซาะชายฝั่ง ส่งผลให้ที่อยู่อาศัยของประชาชนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกรณีที่อยู่อาศัยเสียหายทั้งหลัง ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนไร้ที่อยู่อาศัย ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่ที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลังเป็นไปอย่างเป็นระบบ รวดเร็ว และทันต่อสถานการณ์ คชอ. จึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อมูลและเร่งรัดการสร้างที่อยู่อาศัย สำหรับประชาชนที่ที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลังจากเหตุอุทกภัย ดินโคลนถล่ม วาตภัย และคลื่นเซาะชายฝั่งในพื้นที่ภาคใต้ ขึ้น

โดยคณะอนุกรรมการฯ ได้ลงพื้นที่พบปะพูดคุยกับผู้ประสบภัยและผู้นำชุมชนในลักษณะการสอบถามกึงการทำประชาคม เพื่อรวบรวมข้อมูลที่อยู่อาศัยที่ได้รับเสียหายทั้งหลัง ตลอดจนความต้องการของบุคคลและชุมชนในการจัดสร้างที่อยู่อาศัยชั่วคราวและถาวรแล้ว สรุปข้อมูลได้ดังนี้

2.1 ข้อมูล ณ วันที่ 19 เมษายน 2554 มีที่อยู่อาศัยเสียหายทั้งหลัง ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดนครศรีธรรมราช 257 หลัง กระบี่ 143 หลัง สุราษฎร์ธานี 362 หลัง ตรัง 22 หลัง และสงขลา 5 หลัง

2.2 ความต้องการของผู้ประสบภัย จำแนกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

กลุ่มที่ 1 ผู้ประสบภัยต้องการสร้างบ้านในจุดเดิม โดยยืนยันว่ามีความพร้อมเรื่องที่ดิน ยอมรับและพอใจแบบบ้านที่ คชอ. เสนอ (แต่อย่างไรก็ตาม ต้องตรวจสอบให้ชัดเจนก่อนว่าเป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์หรือไม่ อย่างไร)

กลุ่มที่ 2 ผู้ประสบภัยต้องการสร้างบ้านในจุดเดิม แต่คณะอนุกรรมการพิจารณาเห็นว่าสภาพแวดล้อมบริเวณนั้นเป็นทางน้ำไหล หรือมีความเสี่ยงเรื่องดินถล่ม

กลุ่มที่ 3 ผู้ประสบภัยไม่ต้องการสร้างบ้านในจุดเดิม

กลุ่มที่ 4 อื่นๆ เช่น ต้องการออกแบบบ้านเอง ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง เป็นต้น

2.3 ขณะนี้ผู้ประสบภัยส่วนใหญ่จะพักอาศัยอยู่บ้านญาติ บางส่วนหน่วยงานต่างๆ ได้จัดหาบ้านสำเร็จรูป หรือเต็นท์ยกพื้น ให้ผู้ประสบภัยได้พักอาศัยชั่วคราวแล้ว ยกเว้นผู้ประสบภัยบริเวณบ้านหน้าเขา อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ ซึ่งมีความต้องการในเรื่องของการสร้างที่อยู่อาศัยชั่วคราว โดยผู้ประสบภัยจะใช้เงินที่ได้จากการบริจาคในการสร้างบ้านชั่วคราว จำนวน 17 หลัง แต่ยังขาดเงินอีกประมาณ 150,000 บาท คชอ. จึงมีมติให้จังหวัดกระบี่มีหนังสือแจ้งขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายไปยังกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ดี เนื่องจากตามอัตราค่าใช้จ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 กำหนดการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นค่าเช่าบ้านแก่ผู้ประสบภัยกรณีเช่าบ้านของผู้อื่น และบ้านเช่าเสียหายทั้งหลังหรือบางส่วนจนอยู่อาศัยไม่ได้ ในอัตราครอบครัวละไม่เกิน 1,500 บาท/เดือน ไม่เกิน 2 เดือน ดังนั้น หากรัฐสามารถสร้างบ้านถาวรให้กับผู้ประสบภัยได้โดยเร็ว การจ่ายค่าเช่าบ้านให้แก่ผู้ประสบภัยจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าการสร้างบ้านชั่วคราว ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณหลังละ 65,000 บาท ได้เป็นจำนวนมาก จึงมอบหมายให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยหารือรายละเอียดการดำเนินการกับกรมบัญชีกลางต่อไป

2.4 การสร้างบ้านให้แก่ผู้ประสบภัยในชุดแรก มีจำนวนทั้งสิ้น 235 หลัง ประกอบด้วย จังหวัดนครศรีธรรมราช 19 หลัง สุราษฎร์ธานี 70 หลัง กระบี่ 119 หลัง ตรัง 22 หลัง และสงขลา 5 หลัง โดยเป็นการสร้างในที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ทุกราย เริ่มก่อสร้างในวันจันทร์ที่ 25 เมษายน 2554 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 21 วัน โดยใช้แบบบ้านของมูลนิธิซิเมนต์ไทย แรงงานจากกำลังพลของหน่วยทหารร่วมกับองค์กรภาคประชาชน และจังหวัดสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์ รวมค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างประมาณ 53 ล้านบาท โดยใช้เงินกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี ในการดำเนินการ แยกเป็น

(1) แบบบ้านขนาด 27 ตารางเมตร สำหรับ 1 — 3 คน จำนวน 121 หลัง หลังละ 190,000 บาท เป็นเงิน 22,990,000 บาท

(2) แบบบ้านขนาด 40 ตารางเมตร สำหรับ 4 คนขึ้นไป จำนวน 124 หลัง หลังละ 240,000 บาท เป็นเงิน 29,760,000 บาท

(3) ค่าเครื่องมือประกอบการก่อสร้างและอื่นๆ

ทั้งนี้ จำนวนสมาชิกครัวเรือนที่จะเข้าอยู่อาศัยในแบบบ้านทั้ง 2 ขนาด เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ได้จากการสัมภาษณ์ ซึ่งต้องตรวจสอบโดยการประชาคมในชุมชนให้แน่นอนก่อน

2.5 แนวทางดำเนินการในการสร้างบ้านถาวรให้แก่ผู้ประสบภัย คชอ. ได้ขอให้จังหวัดระดมสรรพกำลังในชุมชน ท้องถิ่น ให้เข้ามามีส่วนร่วม โดยมีผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ผู้นำชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้ประสานงาน ในการแบ่งพื้นที่ดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน

2.6 สำหรับผู้ประสบภัยส่วนที่เหลือ จำนวน 599 ราย มีปัญหาอุปสรรคในเรื่องที่ดินเดิมของผู้ประสบภัยเป็นพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ หรืออยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ หรือพื้นที่สาธารณะอื่นๆ ซึ่งหากยังไม่มีข้อยุติในเรื่องของที่ดิน การสร้างบ้านก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ ดังนั้น จึงเห็นควรขอผ่อนผันจากหน่วยงานเจ้าของที่ดินผู้ประสบภัยได้อาศัยอยู่ในที่ดินเดิม หรือจัดหาที่ดินแปลงใหม่ให้กับผู้ประสบภัยที่บ้านเรือนเสียหายทั้งหลังได้อาศัยอยู่ต่อไป

2.7 จากการที่นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมประชาชนผู้ประสบภัยคลื่นเซาะชายฝั่งที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช พบว่า ที่อยู่อาศัยของประชาชนผู้ประสบภัยส่วนหนึ่งถูกคลื่นกัดเซาะที่ดินที่อยู่อาศัยเสียหายสิ้นเชิง ทำให้ไม่มีที่อยู่อาศัย ผู้ประสบภัยจึงได้ร้องขอต่อนายกรัฐมนตรีขอเข้าไปอยู่อาศัยในที่ดินของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่ใกล้เคียงกัน

3. การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายจากดินถล่มและการพัฒนาที่ดินสำหรับการเกษตรในระยะต่อไป

3.1 ในเบื้องต้น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รายงานว่า จังหวัดกระบี่ บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาพนมเบญจา พบ Landslide 39 จุด เนื้อที่ประมาณ 2,160 ไร่ สภาพเป็นร่องลึกบนพื้นที่ลาดชัน ถึงหินชั้นล่าง ฟื้นคืนสภาพได้ยาก โดยมีผู้ที่ทำการเกษตรอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ จำนวน 152 ราย 195 แปลง เนื้อที่ 2,514-1-78 ไร่ สำหรับจังหวัดอื่นๆ อยู่ระหว่างการสำรวจของหน่วยงานในพื้นที่

คชอ. จึงมอบหมายให้ทุกจังหวัดที่ประสบภัย และกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการสำรวจพื้นที่ที่ประสบภัยว่ามีจำนวนเท่าใด และจำแนกพื้นที่ให้ชัดเจนว่าเป็นพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์เท่าใด และเป็นพื้นที่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานเท่าใด และส่งข้อมูลให้ คชอ. ภายในวันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน 2554 เพื่อเป็นข้อมูลในการกำหนดแนวทางการให้ความช่วยเหลือด้านการสร้างบ้านต่อไป

3.2 กรมพัฒนาที่ดิน ได้ดำเนินการสำรวจพื้นที่ประสบภัยแล้ว พบว่า พืชหลักในพื้นที่การเกษตร คือ ปาล์ม ยางพารา และไม้ผล โดยจำแนกพื้นที่ประสบภัยออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1. พื้นที่ดินถล่ม 2. พื้นที่ที่มีเศษวัสดุทับถม และ 3. พื้นที่ที่มีตะกอนทับถม ซึ่งถ้าไม่เร่งดำเนินการฟื้นฟูพืชจะยืนต้นตาย โดยประมาณการค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูและพัฒนาที่ดิน ประมาณ 25 ล้านบาทเศษ คชอ. จึงได้มอบหมายให้กรมพัฒนาที่ดินประสานงานกับสำนักงบประมาณเพื่อช่วยพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการในบางส่วนก่อน เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาภาวะพืชยืนต้นตายซ้ำซ้อนอีก

3.3 สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ได้ดำเนินการสำรวจพื้นที่สวนยางพาราที่ประสบภัยร่วมกับกรมวิชาการเกษตร พบว่า ส่วนใหญ่ต้นยางพาราถูกทำลายโดยเชื้อโรคอย่างรุนแรง และโรคตายนึ่ง เนื้อที่ประมาณ 60,000 ไร่ โดยต้นยางพารายังไม่ตายแต่ต้องได้รับการฟื้นฟูโดยการใส่ปุ๋ย ซึ่งเป็นกรณีอยู่นอกเหนือหลักเกณฑ์การช่วยเหลือของ สกย. ประมาณการค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสวนยางพารา จำนวน 60,000 ไร่ ใช้ปุ๋ยไร่ละ 60 กิโลกรัมๆ ละ 20 บาท รวมทั้งสิ้นประมาณ 72 ล้านบาท

3.4 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่รายงานว่า จากการตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่า สภาพพื้นที่การทำเหมืองยังมั่นคงแข็งแรง ไม่มีการพังทลายหรือปัญหาดินถล่มจากการทำเหมือง ซึ่งสอดคล้องกับการรายงานของกรมทรัพยากรธรณี กล่าวคือ ภาวะดินถล่มไม่เกี่ยวข้องหรือมีผลกระทบจากกิจการเหมืองแร่ นอกจากนี้ ได้จัดเตรียมแผนให้นักวิชาการเหมืองแร่ร่วมกับนักวิชาการสิ่งแวดล้อมเข้าทำการสำรวจตรวจสอบพื้นที่เหมืองโดยละเอียดอีกครั้ง

4. การแก้ไขปัญหาขยะ และสิ่งแวดล้อม ภายหลังอุทกภัยและดินถล่ม

4.1 ปัญหาขยะเป็นปัญหาที่ต้องเร่งรัดจัดการโดยเร็วที่สุดในขณะนี้ เนื่องจากมีปริมาณขยะเป็นจำนวนมาก ขยะอินทรีย์เริ่มเน่าเสีย ซึ่งจะเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคและจะทำเกิดให้โรคระบาดตามมา รวมทั้งขยะขนาดใหญ่ เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า กล่อมโฟม ไม่มีจุดทิ้ง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีกำลังในการขนย้ายขยะอย่างเพียงพอ คชอ. จึงได้มอบหมายให้นายพงษ์ศักติฐ์ เสมสันต์ ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ หารือร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดสุราษฏร์ธานี เพื่อบริหารจัดการปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อมโดยด่วน

4.2 กรมควบคุมมลพิษรายงานว่า คุณภาพน้ำในแหล่งน้ำส่วนใหญ่อยู่ในระดับพอใช้ ยกเว้นแม่น้ำตาปีที่อยู่ในระดับเสื่อมโทรม ส่วนปัญหาระบบบำบัดน้ำเสีย และระบบกำจัดขยะต้องรอระดับน้ำลดลงสู่ภาวะปกติ จึงจะสามารถเข้าตรวจสอบความเสียหายและประมาณการค่าเสียหายได้ โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้งบประมาณของตนเองในการซ่อมแซมไปก่อน แต่หากงบประมาณไม่เพียงพอให้ขอรับการสนับสนุนจากกระทรวงมหาดไทย

5. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขออนุมัติวงเงินเหลือจ่ายจากการดำเนินงานโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 เพื่อดำเนินการตามแผนงานซ่อมแซมและฟื้นฟูความเสียหายจากอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้

กรมชลประทานรายงานความเสียหายจากอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ รวม 12 จังหวัด ได้แก่ ความเสียหายของฝาย อาคารบังคับน้ำ พนังกั้นน้ำ สถานีสูบน้ำ คลองส่งน้ำ คันคลองชำรุด ต้องใช้งบประมาณในการซ่อมแซมและฟื้นฟูความเสียหาย จำนวน 711,822,700 บาท ประกอบด้วย จังหวัดระนอง จำนวน 5,777,000 บาท จังหวัดชุมพร จำนวน 1,000,000 บาท จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 242,559,000 บาท จังหวัดกระบี่ จำนวน 70,350,000 บาท จังหวัดพังงา จำนวน 22,963,000 บาท จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 99,000,000 บาท จังหวัดสงขลา จำนวน 21,304,000 บาท จังหวัดสตูล จำนวน 16,115,300 บาท จังหวัดตรัง จำนวน 54,890,000 บาท จังหวัดพัทลุง จำนวน 112,518,400 บาท จังหวัดปัตตานี จำนวน 13,536,000 บาท จังหวัดนราธิวาส จำนวน 51,810,000 บาท

โดยจะขอใช้เงินเหลือจ่ายจากโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ของกรมชลประทาน ซึ่งเหลือจ่ายอยู่ประมาณ 800 ล้านบาทเศษ คชอ. จึงมีมติให้กรมชลประทานประสานในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณในเรื่องของเงินเหลือจ่ายก่อน นอกจากนั้น ขอให้กรมชลประทานและฝ่ายเลขานุการ คชอ. ประสานกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเกี่ยวกับโครงการด้านชลประทานที่ได้รับความเสียหายซึ่งได้ถ่ายโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และต้องใช้งบประมาณและเทคนิคในการซ่อมแซมฟื้นฟูจำนวนมากเกินกำลังความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้กรมชลประทานเข้าดำเนินการแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาให้ประชาชนเป็นไปอย่างรวดเร็ว

6. ความคืบหน้าการฟื้นฟูเส้นทางคมนาคมระยะเร่งด่วน

6.1 กรมทางหลวงได้รายงานว่า ยังมีเส้นทางคมนาคมที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูคืนสภาพฉุกเฉินเร่งด่วน จำนวน 39 โครงการ งบประมาณ 499,855,000 บาท

6.2 กรมทางหลวงชนบทได้รายงานว่า ยังมีเส้นทางคมนาคมที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูคืนสภาพฉุกเฉินเร่งด่วน จำนวน 46 โครงการ งบประมาณ 300,000,000 บาท

คชอ. ได้มีมติให้ทั้งสองหน่วยงานจัดทำรายละเอียดเสนอให้พิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป

7. การให้ความช่วยเหลือด้วยการให้วงเงินสินเชื่อผู้ประกอบการ การประกันสังคมและการประกันภัย

คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ หอการค้าไทย ได้มีข้อเสนอในการบรรเทาปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์อุทกภัยในภาคใต้ จำนวน 6 ข้อ โดย คชอ. ได้มีมติ

โดยสรุปดังนี้

(1) กรณีขอให้รัฐบาลสนับสนุนเงินกู้เฉพาะกิจเพื่อฟื้นฟูสำหรับภาคธุรกิจผ่านธนาคารของรัฐ โดยให้งดเว้นการใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ให้สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยประสานในรายละเอียดกับกระทรวงการคลังเกี่ยวกับกลุ่มเป้าหมาย และเงื่อนไขการกู้เงิน

(2) กรณีเร่งรัดการให้บริษัทประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทน ให้กับผู้ประสบภัย ภายใน 1 เดือน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) รายงานว่า มีผู้เสียหายประมาณ 1,200 ราย มูลค่าความเสียหายประมาณ 117 ล้านบาท คชอ. จึงให้ คปภ. เป็นเจ้าภาพในการปรึกษาหารือร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และบริษัทประกันภัย เพื่อเร่งรัดให้บริษัทประกันภัยดำเนินการประเมินสรุปค่าเสียหายและจ่ายค่าสินไหมโดยเร็ว

(3) กรณีการปล่อยเงินกู้กับผู้ประกอบการและผู้ใช้แรงงาน จากกองทุนประกันสังคม โดยสำนักงานประกันสังคมรายงานว่า มีโครงการให้สินเชื่อเพื่อซ่อมแซมปรับปรุงที่อยู่อาศัยของผู้ประกันตนที่ประสบภัยและครอบครัวผู้ประกันตน ในวงเงินไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2.5 ต่อปี คงที่ 2 ปี ผ่อนชำระภายใน 2 ปี ตั้งเป้าไว้ที่ 200,000 ราย วงเงิน 10,000 ล้านบาท สามารถยื่นคำขอได้ภายในวันที่ 30 เมษายน 2554 ปัจจุบันมีผู้ยื่นคำขอ 116 ราย ได้รับการอนุมัติ 66 ราย และมาตรการขยายระยะเวลาการส่งเงินสมทบของผู้ประกอบการจากเดือนมีนาคม — พฤษภาคม 2554 เป็นภายในวันที่ 29 มิถุนายน 2554 คชอ. มีมติให้สำนักงานประกันสังคมนำเสนอคณะกรรมการประกันสังคมพิจารณาการขยายระยะเวลาการยื่นขอสินเชื่อของผู้ประกันตนออกไปอีก 1 — 2 เดือน และให้ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกันตนในพื้นที่ประสบภัยได้รับทราบด้วย

(4) กรณีให้จัดสรรเงินช่วยเหลือแก่เกษตรกรรายย่อย ในกลุ่มเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ ให้สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยร่วมกับกรมประมงสำรวจจำนวนเกษตรกรกลุ่มดังกล่าว เพื่อเป็นข้อมูลประกอบพิจารณาการให้ความช่วยเหลือเป็นรายกรณีตามข้อเท็จจริง

(5) กรณีให้กระทรวงมหาดไทยสั่งการท้องถิ่นให้งดเว้นการจัดเก็บภาษีท้องถิ่น เช่น ภาษีโรงเรียน ภาษีที่ดิน ภาษีป้าย เป็นต้น ซึ่งสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทยมีข้อสังเกตว่า จะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับผลกระทบเนื่องจากต้องสูญเสียรายได้ในส่วนนี้ คชอ. จึงให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นประเมินตัวเลขรายได้ของท้องถิ่นในส่วนนี้จากฐานปีล่าสุด และเสนอให้ คชอ. พิจารณาต่อไป

(6) กรณีการเก็บกู้ซากหอยแครง 20,000 ตัน หอยนางรม 2 ล้านตัว บริเวณอ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้กรมประมงเป็นเจ้าภาพร่วมกับกรมควบคุมมลพิษเพื่อบริหารจัดการในเรื่องการเก็บกู้และการกำจัดซากขยะอินทรีย์โดยด่วน มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาน้ำเน่าเสียตามมา

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 เมษายน 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ