แผนแม่บทการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 27, 2011 10:41 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนแม่บทการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง พร้อมขยายเขตพื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยงเพิ่มเติม ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์) เสนอ ในส่วนกรอบวงเงินลงทุนตามแผนแม่บทฯ จำนวน 132 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 15,007.36 ล้านบาท นั้น คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการ และให้องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการและรายละเอียดวงเงินค่าใช้จ่ายของแต่ละโครงการในแต่ละด้าน นอกจากนี้ ในส่วนของงบประมาณที่จะดำเนินการและกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของเมืองพัทยาและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เห็นควรให้เมืองพัทยาและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้เสนอขอตั้งงบประมาณ และให้นับรวมอยู่ในสัดส่วนเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรเป็นรายได้ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ทั้งนี้ ให้องค์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

อพท. รายงานว่า

1. อพท. ได้จัดทำแผนแม่บทฯ ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนของสังคม โดยกำหนดกรอบแนวคิด และจัดให้มีการประชุมชี้แจง แนะนำ รับฟังความคิดเห็น จัดประชุมกลุ่มย่อย ร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อนำข้อมูลมาจัดทำร่างแผนแม่บทฯ หลังจากนั้น ได้จัดให้มีประชุมร่วมกับเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยงเพื่อปรับปรุงแก้ไข ประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลข่าวสารการจัดทำแผนแม่บทฯ ตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการฯ และหารือกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี เขต 2 จนเป็นที่เข้าใจร่วมกัน จึงได้ให้ความเห็นชอบแผนแม่บทฯ

2. สาระสำคัญของแผนแม่บทฯ การจัดทำแผนแม่บทการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยงได้ศึกษาสภาพแหล่งท่องเที่ยว เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และข้อกฎหมายต่างๆ ของเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยงผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมตามข้อ 1 แล้วจึงจัดทำเป็นข้อเสนอและแผนพัฒนาในด้านต่างๆ 4 แผนงาน โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

2.1 พัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพการจราจร ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างทางลอดทางแยกถนนสุขุมวิท ถนนเชื่อมมอเตอร์เวย์ รถโดยสารประจำทางขนาดเล็ก (Shuttle Bus) และท่าเทียบเรือเมืองพัทยา — เกาะล้าน จำนวน 12 โครงการ

2.2 ฟื้นฟูและสร้างระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับการท่องเที่ยว ได้แก่ การขยายระบบน้ำประปา ระบบการระบายน้ำป้องกันน้ำท่วม ระบบรวมและบำบัดน้ำเสีย การก่อสร้างโรงคัดแยกและศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย รวมถึงการศึกษาเพื่อการพัฒนาเมืองท่องเที่ยวที่มีนวัตกรรมสีเขียว อาทิ โครงการศึกษาการนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วกลับมาใช้ใหม่ หรือการผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเลด้วยระบบ Reverse Osmosis และโครงการศึกษาการใช้พลังงานทดแทน จำนวน 14 โครงการ

2.3 พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่เมืองพัทยาและถนนเชื่อมโยง ประกอบด้วย โครงการพัฒนาปรับปรุงฟื้นฟูชายหาดเมืองพัทยา โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมตลาดเก่านาเกลือ โครงการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงในพื้นที่ต่างๆ จำนวน 4 เส้นทาง คือ 1) เส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชุมชน เริ่มต้นที่วัดหนองเกตุใหญ่มุ่งสู่ทิศใต้ไปสิ้นสุดที่บ้านอำเภอ 2) เส้นทางวิถีชุมชนและศาสนา เริ่มจากวัดท่ากระดาน ไปทางทิศตะวันออกไปสิ้นสุดที่อ่างเก็บน้ำห้วยลึก 3) เส้นทางวิถีชุมชนและวัฒนธรรม เริ่มจากหมู่บ้านชาวประมงนาเกลือลงไปทางทิศใต้ไปสิ้นสุดที่ชุมชนชากแง้วและบ้านอำเภอ และ 4) เส้นทางเพื่อการศึกษาธรรมชาติ ดำน้ำดูประการัง เกาะล้าน เกาะไผ่ ซึ่งแต่ละเส้นทางจะผ่านทั้งพื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง เป็นการกระจายนักท่องเที่ยวไปในพื้นที่เชื่อมโยง ได้ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม ศาสนา ศึกษากิจกรรมพื้นบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนการใช้จ่ายซื้อผลิตภัณฑ์ของคนในท้องถิ่น นอกจากนี้ยังมีโครงการศึกษาการปรับปรุงกฎหมายเขตสถานบริการ

2.4 การพัฒนาในพื้นที่เชื่อมโยงทั้ง 9 แห่ง เพื่อเตรียมความพร้อมในการกระจายนักท่องเที่ยวไปสู่พื้นที่เชื่อมโยง โดยจัดทำโครงการสนับสนุนการท่องเที่ยวในพื้นที่เชื่อมโยงทั้ง 9 แห่ง รวมถึงเกาะล้านและเกาะไผ่ ประกอบด้วย โครงการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม การปรับปรุงสภาพถนน เส้นทางจักรยาน ไฟส่งสว่าง ป้ายบอกทางการจราจร ป้ายแสดงแหล่งท่องเที่ยว การพัฒนาจุดชมวิว แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ การส่งเสริมการเพาะปลูกพืชผักปลอดสารพิษ สำหรับพื้นที่บางละมุงมีพื้นที่ราชพัสดุขนาดใหญ่เหมาะสมที่จะพัฒนาเป็นสถานที่จัดประชุมระดับนานาชาติหรืออาคารแสดงสิ้นค้าการพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวเชื่อมโยง มีโครงการต่างๆ จำนวน 90 โครงการ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 เมษายน 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ