การให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้างในเขตจังหวัดที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 27, 2011 14:42 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้างในเขตจังหวัดที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง

ซึ่งออกตามความในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้

1. รับทราบผลการพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้างตามมติคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.) เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2554 ในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้างในเขตจังหวัดที่มีประกาศ สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ซึ่งออกตามความในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในช่วงเดือนเมษายน — พฤษภาคม 2553

2. ให้รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐนำหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณาการให้ความช่วยเหลือ ผู้ประกอบการก่อสร้างในเขตจังหวัดที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ซึ่งออกตามความในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ไปถือปฏิบัติในแนวทางเดียวกันกับส่วนราชการ ตามที่ กวพ. มีมติเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการก่อสร้างของหน่วยงานภาครัฐ เนื่องจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมใช้บังคับกับส่วนราชการ ซึ่งไม่ครอบคลุมถึงรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการคลัง (กค.) รายงานว่า

1. สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 18 มกราคม 2554 กวพ. ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2554 พิจารณาการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้างในเขตจังหวัดที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงซึ่งออก ตามความในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในช่วงระหว่างเดือนเมษายน — เดือนพฤษภาคม 2553 และมีมติ ดังนี้

1.1 การพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้างในเขตจังหวัดที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงซึ่งออกตามความในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้างมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการประกอบการพิจารณา ดังนี้

1.1.1 การพิจารณาให้ความช่วยเหลือนี้ใช้กับสัญญาจ้างก่อสร้างของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ

1.1.2 เป็นการให้ความช่วยเหลือเฉพาะในเขตจังหวัดที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงซึ่งออกตามความในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยช่วงระยะเวลาที่ให้ความช่วยเหลือ คือในช่วงระหว่างวันที่ 7 เมษายน 2553 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2553

1.1.3 ให้ขยายระยะเวลาออกไปอีกจำนวน 45 วัน โดยมิต้องใช้ดุลยพินิจ

1.1.4 ผู้ประกอบการก่อสร้างที่มีสิทธิได้รับการพิจารณาขยายระยะเวลาก่อสร้าง ต้องเป็นผู้รับจ้างที่ได้ลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้างกับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ โดยมีผลบังคับใช้กับสัญญา ดังนี้

1) สัญญาจ้างก่อสร้างที่ได้ลงนามไว้กับทางราชการก่อนวันที่ 7 เมษายน 2553 และ ณ วันที่ 7 เมษายน 2553 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2553 สัญญาดังกล่าวยังมีนิติสัมพันธ์อยู่และยังมิได้มีการส่งมอบงานงวดสุดท้าย หรือสัญญาดังกล่าวยังมีนิติสัมพันธ์อยู่ แต่ได้มีการส่งมอบงานงวดสุดท้ายแล้วในช่วงวันที่ 7 เมษายน 2553 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2553 ให้ขยายระยะเวลาสัญญาออกไปอีก 45 วัน ในกรณีอายุสัญญาก่อสร้างน้อยกว่า 45 วัน ก็ให้ขยายเวลาได้เท่ากับอายุสัญญาเดิม

2) สัญญาจ้างก่อสร้างที่ได้ลงนามไว้กับทางราชการตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2553 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2553 ให้ขยายระยะเวลาสัญญาออกไปอีก 45 วัน ในกรณีอายุสัญญาก่อสร้างน้อยกว่า 45 วัน ก็ให้ขยายเวลาได้เท่ากับอายุสัญญาเดิม

1.1.5 ผู้ประกอบการก่อสร้างในเขตจังหวัดที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ซึ่งออกตามความในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในช่วงระหว่างวันที่ 7 เมษายน 2553 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2553 จะต้องยื่นคำร้องขอรับการช่วยเหลือต่อหน่วยงานคู่สัญญาภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ คณะรัฐมนตรีมีมติในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือในเรื่องดังกล่าว

1.1.6 กรณีที่มีค่าควบคุมงานและหรือค่าจ้างที่ปรึกษาให้ผู้รับจ้างเป็นผู้รับภาระค่าควบคุมงานและหรือค่าจ้างที่ปรึกษาสำหรับระยะเวลาที่ได้ขยายออกไป

1.1.7 กรณีที่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการช่วยเหลือดังกล่าว หากการขยายระยะเวลาออกไป มีผลทำให้ผู้รับจ้างไม่ถูกปรับ ก็ให้งด ลดค่าปรับ หรือคืนเงินค่าปรับ ตามความเป็นจริงแล้วแต่กรณี

1.1.8 ในกรณีที่หน่วยงานในเขตจังหวัดที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ซึ่งออกตามความในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หากหน่วยงานได้พิจารณาขยายระยะเวลา งดหรือลดค่าปรับด้วยเหตุดังกล่าว โดยได้ใช้ดุลยพินิจพิจารณาให้ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือระเบียบอื่น หรือข้อบังคับอื่นของหน่วยงานนั้น ๆ ไปแล้ว ให้หน่วยงานพิจารณา ดังนี้

กรณีที่ 1 กรณีสัญญาจ้างก่อสร้างที่มีระยะเวลาตามสัญญามากกว่าหรือเท่ากับ 45 วัน หากหน่วยงานได้ใช้ดุลยพินิจตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือระเบียบอื่น หรือข้อบังคับอื่นของหน่วยงานนั้น ๆ ไปแล้ว โดยหน่วยงานได้พิจารณาขยายเวลา งดหรือลดค่าปรับให้ไม่ถึง จำนวน 45 วัน ก็ให้เพิ่มระยะเวลา โดยขยายระยะเวลา งดหรือลดค่าปรับออกไปให้ครบ จำนวน 45 วัน แต่หากหน่วยงานได้พิจารณาขยายระยะเวลา งดหรือลดค่าปรับให้มากกว่า 45 วัน ก็ให้เป็นไปตามที่หน่วยงานได้ใช้ดุลยพินิจพิจารณาให้ตามเหตุอุปสรรคที่เกิดขึ้นจริง ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมหรือระเบียบอื่น หรือข้อบังคับอื่นของหน่วยงานนั้นๆ ต่อไปได้

กรณีที่ 2 กรณีสัญญาที่มีระยะเวลาตามสัญญาน้อยกว่า 45 วัน หากหน่วยงานได้ใช้ดุลยพินิจตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือระเบียบอื่น หรือข้อบังคับอื่นของหน่วยงานนั้น ๆ ไปแล้ว โดยหน่วยงานได้พิจารณาขยายเวลา งด หรือลดค่าปรับให้น้อยกว่าระยะเวลาตามสัญญาเดิม ก็ให้เพิ่มระยะเวลา โดยขยายระยะเวลา งดหรือลดค่าปรับออกไปให้ครบเท่ากับอายุสัญญาเดิมแต่หากหน่วยงานได้พิจารณาขยายระยะเวลา งดหรือลดค่าปรับให้มากกว่าระยะเวลาของอายุสัญญาเดิมก็ให้เป็นไปตามที่หน่วยงานได้ใช้ดุลยพินิจพิจารณาให้ตามเหตุอุปสรรคที่เกิดขึ้นจริงตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมหรือระเบียบอื่น หรือข้อบังคับอื่นของหน่วยงานนั้น ๆ ต่อไปได้

1.1.9 ให้ กวพ. ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีอำนาจหน้าที่ในการตีความและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือดังกล่าว

2. เพื่อความเป็นธรรมในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการก่อสร้างของหน่วยงานภาครัฐในภาพรวม เห็นควรแจ้งเวียนให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐถือปฏิบัติ เพื่อให้เป็นไปแนวทางเดียวกัน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 เมษายน 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ