ความคืบหน้าในการดำเนินการตามนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 4, 2011 09:59 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานความก้าวหน้าการดำเนินการตามนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ และเห็นชอบการดำเนินการตามนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติในระยะต่อไปของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ทก.) ตามที่ ทก.เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

ทก รายงานว่า ทก. ได้ดำเนินการตามแนวทางที่กำหนดในนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ โดยมีความก้าวหน้าของการดำเนินการ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2553 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2554 สรุปได้ดังนี้

1. การดำเนินการตามแนวทางของนโยบายฯ

1.1 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการบรอดแบนด์ โดยได้ดำเนินการจัดการประชุมคณะทำงานร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและกำหนดแนวทางการดำเนินการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมและโครงข่ายโทรคมนาคมที่จะนำมาใช้ร่วมกัน มีการรวบรวมข้อมูลโครงสวร้างพื้นฐานและโครงข่ายโทรคมนาคมที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งได้รับข้อมูลบางส่วนจากผู้ประกอบการภาคเอกชนและภาครัฐที่มีการสร้างโครงข่ายในระดับกระทรวง เพื่อวิเคราะห์และวางแผนใช้โครงข่ายร่วมกันและการเชื่อมต่อโครงข่ายต่อไป โดยใช้โครงข่ายรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (Government Information Network : GIN) เป็นโครงข่ายต้นแบบของส่วนราชการ

1.2 การพัฒนาการใช้ประโยชน์บรอดแบนด์ ในช่วงระยะแรกได้เน้นการดำเนินการในภาครัฐเป็นลำดับแรก โดยสำรวจความต้องการการใช้ประโยชน์บริการบรอดแบนด์ของหน่วยงานภาครัฐ โดยได้หารือกับหน่วยราชการต่างๆ เพื่อรวบรวมปริมาณ ประเภท และกำหนดเวลาของความต้องการใช้โครงข่ายบรอดแบนด์ รวมทั้งรวบรวมวงเงินงบประมาณสำหรับบริการบรอดแบนด์ของหน่วยงานภาครัฐในปีงบประมาณ 2555 และในปีต่อๆ ไป เพื่อเตรียมหารือร่วมกันในการบูรณาการการขอรับการจัดสรรงบประมาณประจำปีต่อไป

1.3 การประกันความมั่นคงปลอดภัยของโครงข่ายบรอดแบนด์และความปลอดภัยของสังคมโดยรวม ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยโครงข่าย เพื่อหารือมาตรการรักษาความต่อเนื่องของการให้บริการและรักษาความปลอดภัยทั้งทางกายภาพและข้อมูลสารสนเทศบนโครงการ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้บริการและให้ความสำคัญต่อการสร้างความเข้าใจให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นกับสังคมในเชิงลบ ป้องปรามด้วยการสร้างองค์ความรู้ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้เห็นถึงประโยชน์ของการใช้บริการอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เพิ่มมากขึ้น

1.4 การบริหารจัดการขับเคลื่อนนโยบายและประสานการกำกับดูแล โดยสนับสนุนให้มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจร่วมกันเพื่อความร่วมมือในการสนับสนุนนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติระหว่างผู้ให้บริการโครงข่าย รวมทั้งมีการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมสนับสนุนนโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐานและโครงข่ายโทรคมนาคมระหว่างภาครัฐและเอกชน

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นประธาน เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2554 ได้เห็นชอบดังนี้

  • ให้จัดตั้งหน่วยงานภายในสำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อดำเนินการและประสานงานนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ
  • เพื่อให้การพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับบรอดแบนด์มีเอกภาพและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ในกรณีที่ส่วนราชการมีแผนงาน / โครงการที่จะดำเนินการภายใต้นโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติจะต้องได้รับความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการบรอดแบนด์แห่งชาติก่อนจึงจะดำเนินการได้

1.5 การเผยแพร่ประชา สัมพันธ์ ทก. ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ นโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติผ่านสื่อต่างๆ โดยได้รับการสนับสนุนจากนายกรัฐมนตรีเพื่อสร้างความเข้าใจต่อประโยชน์ของนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ โดยร่วมมือกับภาคเอกชนจัดทำภาพยนตร์สั้น 4 เรื่อง (3 ตอน) รวมทั้งการประชาสัมพันธ์นโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ เป็นระยะๆ

2. การดำเนินการในระยะต่อไป

ในช่วงระยะต่อไป คาดว่าจะมีการดำเนินการดังต่อไปนี้

2.1 จัดตั้งหน่วยงานภายในสำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อดำเนินการและประสานงานนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ

2.2 จัดทำแผนการดำเนินการในระยะ 5 ปี และแผนปฏิบัติราชการประจำปี เพื่อกำหนดแผนงาน/มาตรการ/โครงการ/งาน/กิจกรรม ที่จะต้องดำเนินการโดยใช้กระบวนการต่อเนื่อง ให้บรรลุเป้าหมายนโยบาย บรอดแบนด์ แห่งชาติ

2.3 หารือกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ที่ให้บริการโครงข่าย (Fiber Optic) เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิต แห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม เป็นต้น เพื่อให้ได้ข้อมูลโครงข่ายครบถ้วนและครอบคลุมทั้งประเทศ

2.4 ขยายโครงข่ายบรอดแบนด์ ไปยังพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ในระดับอำเภอทั้ง 33 อำเภอ โดยมีความเร็วไม่น้อยกว่า 2 ล้านบิตต่อวินาที เพื่อให้เป็นเส้นทางในการรับส่งข้อมูลจากหน่วยราชการส่วนกลาง ถึงหน่วยงานระดับจังหวัด และระดับอำเภอ รวมทั้งรองรับระบบการประชุมทางไกลผ่านทางจอภาพ (Web Conference) ที่จะช่วยลดความเสี่ยงจากภัยการก่อการร้าย ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และทำให้หน่วยงานราชการใน 3 จังหวัดดังกล่าว ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถให้บริการและช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันต่อ เหตุการณ์

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 พฤษภาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ