คณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) จัดตั้งสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอขึ้นในทุกอำเภอครอบคลุมทุกจังหวัด พร้อมอัตรากำลังของข้าราชการอำเภอละ 3 อัตรา จำนวน 877 อำเภอ รวมทั้งสิ้น 2,631 อัตรา ตามที่ มท. เสนอ โดยให้ มท. ไปดำเนินการขอจัดตั้งหน่วยงานและขออนุมัติอัตรากำลังตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
มท. รายงานว่า
1. ปัจจุบันสถานการณ์ภัยพิบัติมีแนวโน้มของความถี่ในการเกิดและทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากสภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ได้ถูกดัดแปลงแก้ไขและถูกทำลาย ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ต่างๆ เช่น สภาวะเรือนกระจก (Green House Effect) เป็นสาเหตุให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น เกิดการแปรปรวนของสภาพอากาศ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ สร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมาก เช่น เหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ในประเทศในช่วงปลายปี 2553 สร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยมีพื้นที่ประสบอุทกภัยจำนวน 39 จังหวัด 425 อำเภอ หรือการเกิดสภาพอากาศแปรปรวน โดยมีอากาศหนาวเย็นในช่วงเดือนมีนาคม 2554 ซึ่งเป็นฤดูร้อน รวมถึงการเกิดอุทกภัยดินโคลนถล่มในพื้นที่ภาคใต้ 10 จังหวัด สร้างความเสียหายรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี นอกจากนี้ยังเกิดแผ่นดินไหวครั้งร้ายแรงในประเทศนิวซีแลนด์และญี่ปุ่น รวมถึงประเทศพม่า ส่งผลกระทบถึงประเทศไทย โดยมีพื้นที่ได้รับความเสียหาย รวม 15 อำเภอในจังหวัดเชียงราย ซึ่งภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีความรุนแรงนับวันยิ่งเป็นภัยใกล้ตัวมากขึ้น ดังนั้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงต้องเตรียมความพร้อมของหน่วยงานและบุคลากรให้สามารถปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อสถานการณ์ภัยพิบัติที่มีความรุนแรงและความถี่เพิ่มมากขึ้น
2. พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 กำหนดให้นายอำเภอเป็นผู้อำนวยการอำเภอ รับผิดชอบและปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในเขตพื้นที่อำเภอ และมีหน้าที่ช่วยเหลือผู้อำนวยการจังหวัดตามที่ได้รับมอบหมาย โดยมีอำนาจสั่งการหน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอให้ดำเนินการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดทำให้อำเภอมีภาระงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในเขตพื้นที่รับผิดชอบทั้งหมด ซึ่งภาระความรับผิดชอบดังกล่าว มีความหลากหลายในภารกิจที่จะต้องปฏิบัติทั้งในช่วงก่อนเกิดภัย ขณะเกิดภัย และการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูภายหลังเกิดภัย อีกทั้งภารกิจงานจากส่วนกลางในด้านอื่นๆ ที่สั่งลงมาที่อำเภอให้เป็นหน่วยปฏิบัติทำให้อำเภอมีภาระงานมาก การบริหารจัดการสาธารณภัยจึงไม่สามารถปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร การจัดตั้งสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอจะช่วยยกระดับการปฏิบัติงานด้านป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในระดับพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถตอบสนองต่อภารกิจของกรมและนโยบายของรัฐบาลในการบริหารจัดการสาธารณภัยของประเทศให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติของประเทศที่มีแนวโน้มที่จะทวีระดับความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น
3. พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2550 และแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2553-2557 กำหนดให้อำเภอและท้องถิ่นเป็นหน่วยบริหารจัดการสาธารณภัยระดับ 1 แต่หากเกินขีดความสามารถหรือเป็นภัยระดับ 2 ให้จังหวัดทำหน้าที่บริหารจัดการภัย ดังนั้น อำเภอจำเป็นต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติโดยตรง รับผิดชอบการจัดทำแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของอำเภอ การฝึกซ้อมแผน การสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัย เฝ้าระวังสถานการณ์ภัย และประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ รวมทั้งประสานงานกับจังหวัดและสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด อำเภอจึงเป็นหน่วยเชื่อมการบริหารจัดการภัยที่ชัดเจนและขาดไม่ได้ระหว่างจังหวัดในฐานะหน่วยอำนวยการและสนับสนุนการจัดการภัยกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในฐานะหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการภัยและการเผชิญเหตุที่เกิดขึ้นในระดับพื้นที่และอยู่ใกล้ชิดกับประชาชนผู้ประสบภัยมากที่สุด จึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานระดับอำเภอในการบริหารจัดการสาธารณภัย และเชื่อมประสานรวมทั้งสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านสาธารณภัยของอำเภอและท้องถิ่นให้มีศักยภาพในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยมากยิ่งขึ้น
4. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มท. จำเป็นต้องมีหน่วยงานในระดับพื้นที่ เพื่อรองรับภารกิจด้านสาธารณภัยที่มีความหลากหลายและเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากภารกิจดังกล่าวมีผลกระทบต่อความมั่นคงในชีวิต และความเป็นอยู่ของประชาชนในวงกว้าง ประกอบกับแนวโน้มของความถี่ในการเกิดสาธารณภัยของประเทศไทยมีมากขึ้น
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 พฤษภาคม 2554--จบ--