แนวทางการควบคุมการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ปี 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 9, 2011 11:25 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบ เห็นชอบ และอนุมัติ ทั้ง 3 ข้อ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ดังนี้

1. รับทราบสาเหตุการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

2. เห็นชอบแนวทางการควบคุมการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ปี 2554

3. อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณประจำปี 2554 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นจำนวน 385 ล้านบาท

สาเหตุสำคัญการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลมี ดังนี้

1. การปลูกข้าวอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีการพักดิน ทำให้เป็นแหล่งอาศัยและแหล่งอาหารของแมลงที่จะสะสมและขยายแพร่พันธุ์ต่อไปอย่างรวดเร็วเมื่อเชื่อมต่อกับฤดูปลูกข้าวใหม่

2. เกษตรกรปลูกข้าวพันธุ์ที่อ่อนแอต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและปลูกข้าวพันธุ์เดิมเป็นระยะเวลานานโดยไม่ปรับเปลี่ยนพันธุ์ข้าว โดยเฉพาะข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 พบว่าเสียหายค่อนข้างมากและ บางพื้นที่เสียหายโดยสิ้นเชิง เนื่องจากทางการค้าโรงสีข้าวหรือพ่อค้าในท้องถิ่นจะให้ราคาข้าวเปลือกพันธุ์นี้ดีกว่า ข้าวเจ้าชนิดอื่น และบางแห่งเลือกรับซื้อเฉพาะข้าวปทุมธานี 1 สำหรับพันธุ์ข้าวที่ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลยังคงเก็บเกี่ยวผลผลิตได้

3. การใช้สารเคมีไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งเป็นการทำลายศัตรูธรรมชาติ ของระบบนิเวศน์ในนาข้าวที่ช่วยควบคุมประชากรของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล นอกจากนั้นร้านค้าและพ่อค้าเร่โฆษณา ชวนเชื่อเพื่อโน้มน้าวเกษตรกรให้ซื้อสารเคมีที่ผิด ซึ่งกรมการข้าวได้ประสานกับผู้ประกอบการเพื่อขอความร่วมมือในการใช้สารเคมีให้ถูกต้อง

4. สภาพธรรมชาติ โดยลมตะวันออกเฉียงใต้ได้พัดผ่านในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ — พฤษภาคม เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้อพยบมาตามแรงลมไปในพื้นที่ภาคกลางบริเวณจังหวัดอ่างทอง ชัยนาท สุพรรณบุรี ซึ่งทำนาตลอดทั้งปี จนเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

จากความสำคัญดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เห็นควรเร่งดำเนินการ เพื่อควบคุมการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โดยขอเสนอแนวทางควบคุมการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ปี 2554 วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 385 ล้านบาท ดังนี้

1. ให้จังหวัดที่มีการระบาดดำเนินการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด และหน่วยงานในจังหวัดที่เกี่ยวข้อง รณรงค์ประชาสัมพันธ์พื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรงเพื่อลดปริมาณตัวแก่ของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลโดยวิธีกล โดยรัฐสนับสนุนอุปกรณ์กับดักแสงไฟใน 20 จังหวัด ๆ ละ 100 ชุด รวมเป็น 2,000 ชุด ๆ ละ 5,000 บาท โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 10 ล้านบาท

2. เห็นชอบให้จังหวัดในพื้นที่ที่มีการระบาดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินการรับซื้อตัวเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในราคาที่เหมาะสมได้ (เนื่องจากวงจรชีวิตของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ประมาณ 30 วัน) การควบคุมกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลโดยการระดมกำจัดตัวเต็มวัยตามนิสัยชอบบินเล่นไฟในยามค่ำคืน จะเป็นการกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้อีกทางหนึ่ง อีกทั้งยังสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรทุกครัวเรือนมีส่วนร่วมในการกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โดยให้ดำเนินการอย่างทั่วถึงและพร้อมเพรียงในทุกชุมชน

3. สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล จำนวน 15,000 ตัน ในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายร้อยละ 50 ไม่เกินรายละ 10 ไร่ ๆ ละ 10 กิโลกรัม (รายละไม่เกิน 100 กิโลกรัม) โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 315 ล้านบาท

4. จัดตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็วในการทำงานเชิงรุก เพื่อเผยแพร่ความรู้ในการป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล จำนวน 5 หน่วยๆ ละ 4 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 20 ล้านบาท

5. รณรงค์ เผยแพร่ และประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อถ่ายทอดความรู้ คำแนะนำ ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ทุกรูปแบบ กระจายสู่พื้นที่ที่มีการระบาด โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 25 ล้านบาท

6. จัดตั้งศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน จำนวน 300 ศูนย์ เพื่อเป็นศูนย์กลางการแก้ไขของชุมชน ในการควบคุมการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลอย่างทั่วถึง โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 15 ล้านบาท

7. หน่วยงานที่รับผิดชอบ ประกอบด้วย กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และจังหวัดที่มีการระบาด

จากสถานการณ์การระบาดที่มีอย่างต่อเนื่อง หากไม่เร่งดำเนินการยุติการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ซึ่งมีแนวโน้มจะขยายวงกว้างไปยังพื้นที่อื่นทั่วประเทศ อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่การปลูกข้าวของประเทศในฤดูนาปรัง 2553/54 และรวมไปถึงฤดูนาปี 2554

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 พฤษภาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ