การรายงานผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง โครงการการจัดการเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง ระยะ ที่ 2

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 11, 2011 09:48 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง โครงการการจัดการเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง ระยะ ที่ 2 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ดำเนินการโครงการการจัดการเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง ระยะ ที่ 2 เสร็จเรียบร้อยแล้วเมื่อเดือนธันวาคม 2553 โดยสรุปผลการดำเนินงานได้ดังนี้

1. มีการควบคุมการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังไม่ให้ทำความเสียหายกับผลผลิตและท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง โดยการแช่ท่อนพันธุ์ในพื้นที่ 16 จังหวัดเนื้อที่ 87,900 ไร่ พร้อมทั้งจัดกิจกรรมการถ่ายทอดความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร จำนวน 315 คน เกษตรกร จำนวน 8,780 ราย ทำให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรมีความรู้ ความสามารถด้านการจัดการเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังและมีความพร้อมในการถ่ายทอดความรู้สู่เกษตรกร อีกทั้งทำให้เกษตรกรมีความรู้ด้านการจัดการเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังมากเพิ่มขึ้น

2. ในส่วนของความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่เห็นควรให้เร่งจัดทำแผนการดำเนินงานและเตรียมความพร้อมให้ชัดเจนและตรวจสอบได้ ตั้งแต่การประชาสัมพันธ์ การเตรียมบุคลากร การให้ความรู้แก่เกษตรกร และการผลิตขยายพ่อแม่พันธุ์หลักแตนเบียน รวมทั้งมีการติดตามการดำเนินการเฝ้าระวังการระบาดอย่างต่อเนื่องนั้น กรมส่งเสริมการเกษตรได้กำหนดมาตรการสำหรับควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังไว้ 5 มาตรการ คือ 1) มาตรการเฝ้าระวัง 2) มาตรการแจ้งเตือนภัย 3) มาตรการควบคุม 4) มาตรการช่วยเหลือเยียวยาและ 5) มาตรการติดตามประเมินผล โดยให้ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนเป็นกลไกสำคัญในการถ่ายทอดความรู้

3. ในส่วนของข้อสังเกตของประธานกรรมการประสานงานและขับเคลื่อนการดำเนินการงานตามมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับกิจกรรมการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ (การจัดทำเอกสาร) ที่เห็นว่าควรมีการทบทวนกิจกรรมดังกล่าวว่า ยังมีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการต่อหรือไม่นั้น กรมส่งเสริมการเกษตรพิจารณาแล้วเห็นว่า ควรที่จะดำเนินการต่อไปเนื่องจากเป็นการเสริมสร้างความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่และเกษตรกรในการควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง และขณะนี้ได้ดำเนินการจัดจ้างเสร็จเรียบร้อยแล้วโดยอยู่ระหว่างการเบิกจ่ายงบประมาณ

4. ในการดำเนินโครงการข้างต้น ใช้งบประมาณจากงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน จำนวน 13,579,000 บาท จากงบประมาณที่ได้รับจริง 13,579,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 100

5. ผลกระทบจากการดำเนินโครงการส่งผลให้เกษตรกรในพื้นที่ดำเนินการมีการตื่นตัว และมีความรู้เกี่ยวกับการจัดการเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังเพิ่มขึ้น โดยนำความรู้ที่ได้รับไปปฏิบัติในไร่มันสำปะหลังของตนเองไม่ให้ได้รับความเสียหายจากการทำลายของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง

ปัญหาและอุปสรรค

1. การระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังเกิดจากหลายปัจจัยแต่ละปัจจัยมีวิธีควบคุมที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น การควบคุมปริมาณเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังให้ได้ผลจึงต้องมีความร่วมมือทุกภาคส่วน

2. เพลี้ยแป้งมันสำปะหลังชนิดสีชมพูเป็นศัตรูพืชชนิดใหม่ที่ทำความเสียหายให้กับเกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลังในปี 2552 ดังนั้น เทคโนโลยี และวิธีการควบคุมยังต้องมีการศึกษา วิจัย ทดสอบ เพื่อหาวิธีที่เหมาะสมและได้ผล ที่จะกำจัดเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาการระบาด

แนวทางแก้ไข

1. ให้ความรู้ และกระตุ้นเตือนให้เกษตรกรมีการตื่นตัว และตรวจสอบแปลงของตนเองอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

2. กำหนดมาตรการในการควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง ประกอบด้วย

1) มาตรการเฝ้าระวัง โดยการสำรวจแปลงติดตามสถานการณ์เพลี้ยแป้งมันสำปะหลังทุกสัปดาห์

2) มาตรการแจ้งเตือนภัย โดยการวิเคราะห์ข้อมูลจากแปลงติดตามสถานการณ์ร่วมกับปัจจัยสภาพแวดล้อม หากมีแนวโน้มการระบาดให้รีบประกาศแจ้งเตือนภัยทันที

3) มาตรการควบคุม โดยใช้หลักการควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังด้วยวิธีผสมผสานครอบคลุมพื้นที่

4) มาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยา โดยการช่วยเหลือเมื่อผลผลิตเสียหายสิ้นเชิง

5) มาตรการติดตามประเมินผล เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาการดำเนินงานในส่วนของประเด็นที่ต้องการติดตามประเมินผล

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 พฤษภาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ